ถาม-ตอบ 10 ปัญหากฎหมายแรงงานยอดฮิต

April 30, 2018 HR Insight
ถาม-ตอบ 10 ปัญหากฎหมายแรงงานยอดฮิต

ในแต่ละสถานที่ทำงานย่อมมีกฏระเบียบ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่ากฎใดถูกกฎหมายหรือขัดกับกฏหมายบ้าง กฎหมายแรงงานจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่คนทำงานควรเรียนรู้ เพื่อปกป้องสิทธิของตน ขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้เพื่อป้องกันตนไม่ให้ทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย 

อเด็คโก้ได้รวบรวม 10 ปัญหากฎหมายแรงงานยอดฮิต มาไขข้อข้องใจให้คนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขาด ลา มา สาย และข้อสงสัยต่างๆ ไว้ให้แล้วดังนี้

หมวดเวลาการทำงาน

  1. มาสายบริษัทมีสิทธิ์หักเงินเดือนหรือไม่?

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยระบุว่า การที่นายจ้างหักเงินค่าจ้างเพราะมาสายนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมายแรงงาน เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ 

(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม 

อย่างไรก็ตามแม้ว่านายจ้างไม่มีสิทธิ์หักค่าจ้าง แต่นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างตามระยะเวลาเท่าที่ทำงานจริงได้ เช่น หากลูกจ้างทำงานวันละ 8 ชม. แต่มาสาย 30 นาที นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างในวันดังกล่าวเพียง 7.30 ชม.ได้ โดยคำนวณค่าจ้างเป็นรายนาที แต่การตั้งกฎ เช่น มาสาย 3 ครั้ง เท่ากับขาด 1 วัน ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

  1. นายจ้างให้ทำงานเกินวันละ 8 ชม. โดยไม่จ่ายค่าล่วงเวลา สามารถทำได้หรือไม่?
กฎหมายกำหนดว่า นายจ้างต้องกำหนดเวลาทำงานให้แก่ลูกจ้างต้องไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมกันทั้งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง ถ้าหากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาที่กำหนดไว้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาให้ลูกจ้าง 

แต่มีข้อยกเว้นที่นายจ้างสามารถกำหนดให้ลูกจ้างทำงานต่อวันเกินกว่า 8 ชั่วโมงได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา แต่เมื่อรวมต่อสัปดาห์แล้วต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง เช่น งานที่ใช้วิชาชีพ วิชาการ งานด้านบริหารและงานจัดการ งานเสมียนพนักงาน งานอาชีพเกี่ยวกับการค้า งานอาชีพด้านบริการ งานที่เกี่ยวกับการผลิต หรืองานที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว  ดังนั้นการให้ทำงานเกินวันละ 8 ชม. จึงสามารถทำได้หากระยะเวลารวมต่อสัปดาห์แล้วไม่เกิน 48 ชั่วโมง 

 

หมวดการลา

  1. ลาป่วยไม่มีใบรับรองแพทย์ได้ไหม?

ได้ ถ้าลาป่วยติดต่อกันไม่ถึง 3 วัน แต่ในกรณีการลาป่วยนั้นเป็นที่น่าสงสัยว่าอาจลาป่วยไม่จริง นายจ้างมีสิทธิขอดูใบรับรองแพทย์ได้ และถ้าลูกจ้างไม่แสดงใบรับรองแพทย์ อาจผิดวินัยเรื่องฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างได้

  1. บริษัทสามารถไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ลาป่วยได้หรือไม่?

ไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง 30 วันต่อปี ยกเว้น การลาป่วยตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง

  1. แบบไหนเรียกว่าลากิจ? และลากิจได้สูงสุดกี่วัน?

ตามกฏหมายการลากิจนายจ้างมีสิทธิกำหนดระเบียบการลากิจได้เองและจะจ่ายค่าจ้างในวันลากิจด้วยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นคำถามที่ว่าแบบไหนเรียกว่าลากิจจึงขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท โดยต้องกำหนดให้มีวันลากิจไม่น้อยกว่า 1 วัน

  1. เจ้านายไม่ให้ลาพักร้อน บอกว่าต้องทำงานก่อน 1 ปี จึงจะสามารถหยุดพักร้อนได้ บริษัทมีสิทธิ์ทำได้หรือไม่?

ได้ เพราะกฎหมายกำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน (หมายความว่าเมื่อครบ 1 ปี ได้ 6 วัน และ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ได้อีก 6 วันรวมเป็น 12 วัน) โดยในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้
 

หมวดลาออก

  1. ลาออกโดยไม่บอกล่วงหน้าได้ไหม? การลาออกต้องให้บริษัทอนุมัติหรือไม่?

กฎหมายกำหนดว่าการลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง เช่นหากลูกจ้างได้รับเงินเดือนทุก 30 วัน จะต้องบอกล่วงหน้า 30 วัน และเมื่อลูกจ้างแจ้งลาออกแล้ว จะมีผลได้ทันที แม้นายจ้างไม่ได้อนุมัติ

หมวดทดลองงาน

  1. นายจ้างสามารถ ต่ออายุการทดลองงานได้หรือไม่?

ทำได้ เพราะกฎหมายไม่มีกำหนดเรื่องระยะเวลาทดลองงาน ดังนั้น นายจ้างจะจัดให้มีระยะเวลาทดลองงานมากน้อยเพียงใดก็ได้

  1. ถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านการทดลองงาน เรียกร้องค่าชดเชยได้ไหม?

ถ้าอายุงานยังไม่ครบ 120 วัน ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยทุกกรณี

 

หมวดอื่นๆ

  1. การส่งไลน์สั่งงานในเวลากลางคืนนอกเหนือจากเวลางาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่?

ไม่เป็นการละเมิด แต่ลูกจ้างมีสิทธิจะตอบหรือไม่ก็ได้ ไม่ถือเป็นการขัดคำสั่งนายจ้าง

 
อ้างอิงจาก: 

http://www.mol.go.th/employee/rihgt_labor%20low

http://www.thailandroad.com/legal/thaiprotection.htm