5 เทคนิคเขียนเรซูเม่ให้ HR เรียกสัมภาษณ์งาน

April 26, 2022 Resume Writing & Interview​
5 เทคนิคเขียนเรซูเม่ให้ HR เรียกสัมภาษณ์งาน

ช่วงนี้หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่างานหายาก สมัครงานไปเท่าไรก็ยังไม่มีใครเรียกสัมภาษณ์สักที วันนี้ Adecco มีเทคนิคดีๆ ในการเขียนเรซูเม่มาแนะนำเพื่อให้ผู้สมัครสามารถเขียนเรซูเม่ออกมาให้สามารถพรีเซนต์คุณสมบัติของตนเองได้ตรงกับสิ่งที่ HR กำลังมองหามากที่สุดค่ะ เพราะในแต่ในแต่ละวัน HR ต้องอ่านเรซูเม่จำนวนมาก การเขียนเรซูเม่ที่จะโดดเด่นออกมาจึงควรเป็นเรซูเม่ที่สามารถทำให้ HR ที่แม้จะอ่านเรซูเม่เพียงครั้งเดียวก็สามารถมองเห็นจุดเด่นและความเหมาะสมของเรากับตำแหน่งที่สมัครได้โดยง่ายค่ะ มาดูเทคนิคที่ Adecco รวบรวมมาให้ไว้ในบทความนี้กันค่ะ

  • จัดวาง layout ให้อ่านง่ายสบายตา

อาชีพ HR เป็นอาชีพที่ต้องอ่านเรซูเม่จำนวนมาก การออกแบบเรซูเม่ที่อ่านง่ายสบายตาจึงได้เปรียบเพราะ HR สามารถอ่านได้ง่ายและทำความเข้าใจได้ในระยะเวลาสั้นๆ ผู้สมัครจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดวาง layout ในเรซูเม่ให้เป็นระเบียบ มีการทำตัวหนาหรือใช้ฟอนท์ใหญ่ในส่วนหัวข้อเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ง่าย เลือกใช้ฟอนท์ที่สุภาพ เน้นส่วนที่เราคิดว่าเป็นไฮไลท์ไว้ในช่วงต้นของเรซูเม่ พยายามเขียนให้กระชับ เน้นเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญต่อตำแหน่งงานเท่านั้น

  • เน้น keyword ที่ HR มองหา

การอ่านเรซูเม่ในรอบแรกของ HR จะเป็นการอ่านแบบ skim เพื่อมองหาว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการหรือไม่ ดังนั้นผู้สมัครจึงควรย้อนไปอ่านประกาศรับสมัครงานอีกครั้งและวิเคราะห์ว่าคุณสมบัติที่จำเป็นในตำแหน่งนี้มีอะไรบ้าง เพื่อนำมาใช้เป็น keyword ในการเขียนเรซูเม่ของเรา ซึ่งเราสามารถหา keyword ได้จากสองส่วนคือส่วนที่เป็น job description และส่วนที่เป็น qualification

การหา keyword จาก qualification หรือ คุณสมบัติที่ต้องการนั้นค่อนข้างง่ายเพราะ HR จะระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน เช่น หากมีการระบุว่าต้องการผู้สมัครที่มีทักษะภาษาอังกฤษในขั้นดี สิ่งที่ควรมีในเรซูเม่ก็คือ คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษและประสบการณ์การทำงานในการใช้ภาษาอังกฤษ สำหรับคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษผู้สมัครก็สามารถระบุได้เลยว่าได้คะแนนสอบเท่าไร เช่น TOEIC 750 คะแนน อย่างไรก็ตามผู้สมัครไม่ควรประเมินทักษะตัวเองโดยใส่เป็นดาวหรือทำ ranking เอง ควรอ้างอิงจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับ นอกจากนี้หากมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไม่ลืมที่จะเขียนอธิบายลักษณะงานลงไปในพาร์ทของ work experience เช่น การต้อนรับลูกค้าต่างชาติ การประสานงานกับทีมงานต่างชาติ หรือประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ ก็สามารถระบุลงไปในส่วนนี้ได้

ส่วนการค้นหา keyword จาก job description จะต้องใช้การวิเคราะห์มากขึ้น ผู้สมัครจะต้องพิจารณาว่าอะไรเป็นทักษะและคุณสมบัติที่มีความสำคัญต่อตำแหน่งงานนั้นๆ และเลือก keyword นำมาเขียน ยกตัวอย่างเช่น หาก job description ระบุว่า “ดูแลและพัฒนา Website ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีด้าน SEO เพื่อให้น่าสนใจและเกิดลูกค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้น” สิ่งที่ฝั่งผู้ว่าจ้างมองหาก็จะเป็น คนที่เคยมีประสบการณ์พัฒนาเว็บไซต์ และทักษะด้าน SEO และสามารถอ่านผลและวิเคราะห์ report เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานได้ ดังนั้น keyword ที่เราควรมีในเรซูเม่ก็คือคำว่า website, SEO, CMS, Google Analytics, report เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ HR เห็นภาพได้เร็วขึ้นว่าเรามีทักษะและประสบการณ์ตรงกับที่กำลังมองหา โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอ่านและวิเคราะห์เรซูเม่นาน

  • ระบุความสำเร็จของงานที่เคยทำ

ไม่ว่าใครที่ประกาศรับสมัครงานก็ต้องการคนที่มีความสามารถทำงานได้จริง ดังนั้นเพื่อให้ฝ่ายผู้ว่าจ้างมั่นใจมากยิ่งขึ้น ผู้สมัครจึงควรระบุความสำเร็จของงานที่เคยทำลงไปด้วย โดยเลือกประเด็นที่สอดคล้องกับงานที่ทำ เช่น หากสมัครเป็นเซลล์ ก็อาจระบุความสำเร็จ เช่น สามารถเพิ่มยอดขายได้กี่เปอร์เซ็นต์ หากเป็นนักการตลาดก็อาจระบุว่า สามารถเพิ่มยอดทราฟฟิคในเว็บไซต์ได้กี่เปอร์เซ็นต์ หรือยกตัวอย่างงานโฆษณาที่เคยทำและเป็นที่รู้จัก หรือหากเป็นงานด้านการประสานงาน ก็อาจเขียนถึงโปรเจกต์สำคัญที่ได้รับมอบหมาย เช่น รับหน้าที่ดูแลประสานงานในอีเวนท์ระดับนานาชาติที่มีแขกเข้าร่วมกว่า 500 คนโดยได้รับการประเมินระดับความพึงพอใจที่ 80% เป็นต้น การระบุความสำเร็จของงานที่เคยทำจะช่วยให้เรซูเม่ของคุณน่าสนใจ และทำให้ HR อยากเรียกสัมภาษณ์เพื่อฟังคุณเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานนั้นๆ มากยิ่งขึ้น

 

  • อย่าส่งแต่เรซูเม่ ควรเขียนแนะนำตัวเองในอีเมลด้วย

การเขียนแนะนำตัวเองในอีเมลถือเป็นโอกาสดีของผู้สมัครในการพรีเซนต์ตัวเองให้น่าสนใจซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่เรซูเม่จะถูกเปิดอ่าน และยังช่วยให้ผู้สมัครสามารถอธิบายสิ่งที่อยู่ในเรซูเม่ให้ HR เข้าใจได้ดีขึ้นว่าเรานั้นเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างไร เพราะบางทีการเขียนแบบ bullet point ก็ยังต้องอาศัยการตีความและไม่สามารถให้ความรู้สึกเหมือนการพูดคุย การเขียนอีเมลสมัครงานจึงช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ ผู้สมัครสามารถเขียนอีเมลสมัครงานโดยเริ่มต้นจากการแนะนำตัวเอง กล่าวถึงตำแหน่งงานที่สนใจ และอธิบายว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้อย่างไร สอดคล้องกับเป้าหมายอาชีพของเราอย่างไร โดยเขียนเพียงหนึ่งย่อหน้าสั้นๆ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียกสัมภาษณ์ได้มากขึ้นค่ะ

 

  • ตรวจสอบความถูกต้อง 3 รอบ

THIRD TIME IS THE CHARM! ก่อนส่งเรซูเม่ทุกครั้งต้องตรวจสอบความถูกต้องสัก 3 รอบเพื่อความแน่ใจ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรผิดพลาดเลยอย่าง email address ที่เราจะส่งไป, ชื่อตำแหน่งงานที่สมัคร, ชื่อบริษัทที่จะสมัคร, ช่องทางการติดต่อของเราว่าถูกต้องไหม เปิดไฟล์เรซูเม่อ่านอีกทีทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าเราส่งถูกไฟล์  รวมถึงการเช็ค grammar และการสะกดคำก็ควรเช็คหลายๆ รอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาด

นอกจากบทความนี้ คุณยังสามารถอ่านเทคนิคในการเขียนเรซูเม่และสัมภาษณ์งานเพิ่มเติมได้จากบทความในหมวด resume writing & interview tips  Adecco ขอให้ทุกคนโชคดีในการสมัครงานกันนะคะ