8 ข้อที่องค์กรอาจมองข้าม ในการทำ Talent Attraction

August 18, 2022 HR Insight
8 ข้อที่องค์กรอาจมองข้าม ในการทำ Talent Attraction
ในปัจจุบัน องค์กรอาจจะนำเรื่องผลประโยชน์และค่าตอบแทนมาเป็นเครื่องมือหลักในการดึงดูดผู้สมัครโดยเน้นการแข่งขันด้วยเงินเดือนและโบนัส อย่างไรก็ตามในการพิจารณาเลือกงาน ผู้สมัครยังมองถึงโอกาสในการเติบโตกับองค์กรและปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย 


โดย 8 ข้อต่อไปนี้คือ key takeaways ที่เราสรุปมาจาก Session ของ The Adecco Group ในงาน World Economic Forum ที่เมืองดาวอสเมื่อวันที่ 22-26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้องค์กรหันกลับบมาให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงดูดทาเลนท์ และในขณะเดียวกันก็ปรับกลยุทธ์ในการรักษาคนเก่งไว้กับองค์กรควบคู่กันไปด้วย


1. ทำที่งานให้น่าอยู่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่มี
empathy

ใครๆ ก็อยากทำงานในองค์กรที่น่าอยู่ มีทีมงานมีความเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนกันและกัน ซึ่งการจะสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของพนักงานและให้ความสำคัญกับ empathy ได้นั้นต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารที่เป็น C-Suite ก่อนในการทำตัวเป็นตัวอย่างและเลิกธรรมเนียมเก่าๆ บางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง

2. ปรับปรุงแพ็คเกจค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โควิด และสงครามสงผลให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ดังนั้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันองค์ควรพิจารณาปรับแพ็คเกจค่าตอบแทนให้เหมาะสม ทั้งเงินเดือนและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำเป็นในการทำงานและการใช้ชีวิตให้กับพนักงาน

 
3. เพิ่มความยืดหยุ่นและ work-life balance ให้กับพนักงาน

เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว ผลวิจัย Resetting Normal พบว่า work-life balance เป็นสิ่งที่คนทำงานคาดหวัง และเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญพอๆ กับค่าตอบแทนในการตัดสินใจเลือกงานของผู้สมัคร เพราะต่างต้องการที่จะสามารถและสามารถบริหารจัดการเวลาของตัวเองสำหรับความจำเป็นในชีวิตในด้านอื่นๆ เช่น ภาระในการดูแลคนในครอบครัว การเหลือเวลาสำหรับดูแลสุขภาพและพักผ่อนเป็นต้น ดังนั้นองค์กรจึงควรปรับการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการสรรหาให้กับองค์กร โดยปรับให้ครอบคลุมความหลากหลายของพนักงานแต่ละกลุ่มที่มีความจำเป็นในชีวิตต่างกัน



4. การปรับโมเดลการทำงานในออฟฟิศสู่รูปแบบ
hybrid

แต่ก่อนการทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์เป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรเสียเปรียบในการดึงดูดผู้สมัครและรักษาทาเลนท์ไว้กับองค์กร โดยจากข้อมูลการจ้างงานทั่วโลกของ The Adecco Group เราพบว่าก่อนโควิดมีองค์กรแค่ 10% ที่อนุญาตให้พนักงาน Work From Home แต่หลังโควิดมีองค์กรถึง 70% ที่อนุญาตให้พนักงาน Work From Home การปรับรูปแบบการทำงานแบบ hybrid

โดยผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้านและที่ออฟฟิศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งหากองค์กรยังต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้

5. มี career path ที่รองรับความก้าวหน้าทางอาชีพ

คนทำงานทุกคนต่างมุ่งหวังการเติบโตในอาชีพ หากองค์กรสามารถนำเสนอได้ว่า ลักษณะงาน และ career path ที่องค์กรมีสามารถช่วยให้ผู้สมัครเติบโตในอาชีพได้อย่างไร รวมถึงความเอาใจใส่ของหัวหน้าในการพัฒนาพนักงานก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดให้ผู้สมัครอยากร่วมงานกับองค์กรได้


6. มีแผนการ
upskill และ reskill ให้พนักงานอยู่เสมอ
ปัจจุบันทักษะที่จำเป็นในการทำงานต้องมีการพัฒนาและเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแผนการพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น upskill reskill จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้สมัครมองหาเมื่อต้องร่วมงานกับองค์กร หากองค์กรมีโครงการที่เป็นรูปธรรมในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะของพนักงานก็จะช่วยดึงดูดผู้สมัครได้มากขึ้น

7. สนับสนุนประเด็นทางสังคม เช่น ความเท่าเทียม

คนรุ่นใหม่อย่าง Gen-Z และ millennial ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมมาก และชื่นชอบในองค์กรที่มีวิสัยทัศน์และนโยบายในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นมากกว่าการหากำไรเพียงอย่างเดียว ดังนั้นอย่ากลัวที่จะสนับสนุนประเด็นทางสังคม เช่น สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และทำอย่างโปร่งใสเพื่อที่ทุกคนจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจขององค์กรในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ

8. ขยายวงในการสรรหาโดยเปิดโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มที่เราอาจมองข้ามแต่มีความสามารถตรงตามความต้องการ

บางครั้งการพยายามสรรหาใน talent pool เดิมๆ ก็อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังเพราะอาจมี active candidate น้อย หรือต้องแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาด การขยายวงสรรหาในกลุ่มที่องค์กรอาจมองข้าม เช่น กลุ่มคนที่ออกจากงานมาเลี้ยงลูกหรือดูแลคนในครอบครัว กลุ่มคนสูงวัย กลุ่มคนที่เคยลาออกเพราะเจ็บป่วย กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนที่วุฒิการศึกษาอาจไม่ถึงแต่มีประสบการณ์สูง เป็นต้น พวกเขาหลายคนยังมีความสามารถเต็มเปี่ยมแต่การออกจากงานมาเป็นปีหรือเงื่อนไขคุณสมบัติที่ไม่ตรงอาจทำให้องค์กรมองข้ามไป หากองค์กรลองขยายวงในการพิจารณาผู้สมัครให้กว้างขึ้นก็อาจทำให้องค์กรค้นพบทาเลนท์ที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้




ทั้งนี้องค์กรยังอาจนำเทรนด์การทำ employee engagement ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจพนักงานและสร้างสุขในการทำงานมาเป็นแกนหลักในการคิดกลยุทธ์รักษาพร้อมดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากเรื่องการรักษาคนเก่งแล้ว องค์กรยังจะได้ทั้ง ประสิทธิภาพในการทำงาน ผลงาน และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นของพนักงานอีกด้วย

ดาวน์โหลดเนื้อหา และอ่านบทวิเคราะห์เทรนด์ผู้สมัคร รวมทั้งอัปเดตข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของไทย ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022 นี้ได้ จาก Whitepaper เล่มล่าสุดจาก Adecco Thailand ได้ที่ Candidate Trend and Labor Market Update: Q3/2022