ฟังเพลงระหว่างทำงาน ช่วยให้ productivity ดีขึ้นจริงไหม?

September 03, 2020 Career Advice
ฟังเพลงระหว่างทำงาน ช่วยให้ productivity ดีขึ้นจริงไหม?
ออฟฟิศของคุณเปิดเพลงระหว่างทำงานหรือเปล่า แล้วหูฟังกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ระหว่างทำงานหรือเปล่าคะ? วันนี้เราจะชวนคุณมาค้นหาคำตอบว่าการฟังเพลงช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นจริงไหม

การค้นคว้าเรื่องเพลงกับการทำงานของสมองเริ่มต้นจากทฤษฎี Mozart Effect ของนักจิตวิทยาฝรั่งเศส Dr. Alfred A. Tomatis ในปี 1993 ที่นำเสนอว่าเพลงคลาสสิคที่มีความสุนทรีย์จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ ถ้าย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อนเราจะเห็นเทรนด์ที่คุณแม่ตั้งครรภ์นิยมเปิดฟังเพลงคลาสสิคก่อนนอนเพราะอยากให้ลูกเป็นเด็กฉลาด หลังจากทฤษฎี Mozart Effect ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย ก็มีการวิจัยและทดลองอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาถึงผลกระทบของการฟังเพลง บางวิจัยก็บอกว่าการฟังเพลงรบกวนการทำงานของสมอง ทำให้เสียสมาธิ ไม่โฟกัสกับงานที่ทำ แต่โดยส่วนใหญ่งานวิจัยหลายชิ้นจะพบว่าการฟังเพลงส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน 

การฟังเพลงระหว่างทำงานช่วยให้ productivity ดีขึ้นได้อย่างไร?

Teresa Lesiuk ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชา Music Education and Music Therapy ของมหาวิทยาลัยไมอามี่ ได้ศึกษาวิจัยถึงผลของการฟังเพลงระหว่างทำงานก็พบว่า 90% ของคนที่ได้ฟังเพลงที่ชอบจะทำให้มีอารมณ์ดี ซึ่งการที่เราอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ดีก็จะไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด จะช่วยให้เราเปิดรับไอเดียต่างๆ ได้มากขึ้น มีระดับความคิดสร้างสรรค์ที่สูงขึ้น และแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น

ผศ. Teresa Lesiuk ได้ทดลองถึงผลกระทบของเพลงและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน Developer โดยพบว่าเมื่อทำงานออกแบบซอฟต์แวร์โดยไม่เปิดเพลง พนักงานจะมี productivity ในการทำงานที่ต่ำกว่า และใช้เวลาในการทำงานนานขึ้น และเมื่อแบ่งพนักงานออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มที่เก่ง กลุ่มกลางๆ และกลุ่มไม่เก่ง พบว่า เพลงมีส่วนช่วยพนักงานกลุ่มกลางๆ มากกว่า เพราะคนที่เก่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะฟังเพลงหรือไม่ฟังเพลงก็จะทำได้ดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่เก่งเลย การฟังเพลงก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนักเพราะปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือทักษะของพนักงานที่มีต่องานที่ทำ

นอกจากนี้อีกหนึ่ง งานวิจัยในปี 2016 ได้ทดลองโดยใช้ดนตรีสังเคราะห์ (streamline music) กับผู้ที่ชื่นชอบดนตรีแนวนี้ ยังพบว่าการฟังเพลงระหว่างทำงานยังช่วยเพิ่มสมาธิ ความจดจ่อในงาน ความสามารถในการคาดการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตามเพลงก็ไม่ได้ผลส่งกระทบต่อ การจดจ่อภาพ (visual attention) การจดจำสิ่งที่ได้ยินหรืออ่าน การนึกคำศัพท์ (verbal memory) การคิดเชิงตรรกะ (logical thinking) การรับรู้ความสามารถตนเอง (self-efficacy) การรับรู้ความเครียด (perceived stress) และ การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง (self-transcendence)

ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า productivity จะดีขึ้นหรือไม่ก็อยู่กับประเภทของเพลงและอาชีพของแต่ละคนด้วย เพราะเพลงที่จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานก็ต้องเป็นเพลงที่ชอบ และเพลงส่งผลดีกับทักษะเพียงบางประเภทเท่านั้น


เพลงแบบไหนฟังแล้วมี productivity ที่ดีขึ้น?

งานวิจัยชิ้นเก่าๆ จะเทไปทางเพลงคลาสสิคและเพลงบรรเลงที่มีทำนองนุ่มน่วล แต่งานวิจัยของ ผศ. Teresa Lesiuk พบว่าขอแค่เป็นแนวเพลงที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นแนวฮาร์ดคอร์ หรือ จังหวะตื๊ดๆ แบบ EDM ก็สามารถให้ผลในเชิงบวกได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ ก็พบว่าเพลงก็อาจทำให้เราเสียสมาธิและส่งผลเสียต่อการจดจำได้เช่นกัน เพราะสมองต้องโฟกัสกับเนื้อร้อง โดยเฉพาะเวลาทำงานที่ต้องใช้ทักษะทางภาษา เช่น การเขียน หรือ การอ่านหนังสือ จึงควรเปลี่ยนมาฟังเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง หรือหากมีเนื้อร้องก็ควรเป็นภาษาที่เราไม่เข้าใจแทน เราจึงมักพบว่าในร้านหนังสือจึงนิยมเปิดเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง เป็นเพลง instrumental ดนตรีเพราะๆ ฟังสบายๆ หรือเลือกที่จะไม่เปิดเพลงเลยเพื่อให้บรรยากาศเงียบสงบเหมาะสำหรับคนชอบอ่านหนังสือ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานในด้านนี้มากกว่า

เปิดเพลงในออฟฟิศดีหรือไม่?

จากวิจัยที่ผ่านมาเราจะพบว่าเพลงจะช่วยให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เมื่อเป็นเพลงที่ชอบ ดังนั้นการเปิดเพลงในออฟฟิศให้ทุกคนฟังอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะพนักงานต่างก็มีรสนิยมการฟังเพลงที่หลากหลาย และบางคนก็อาจจะมีสมาธิดีกว่าในความเงียบ ดังนั้นทางเลือกที่ดีกว่าอาจจะเป็นการที่องค์กรอนุญาติให้พนักงานใส่หูฟังเพื่อฟังเพลงที่ตนชอบได้ โดยไม่รบกวนผู้อื่น

สรุป

  • การฟังเพลงโปรดจะช่วยให้พนักงานอารมณ์ดีขึ้น และเมื่ออารมณ์ดีก็จะทำงานได้ดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น
  • การฟังเพลงยังช่วยเพิ่มสมาธิ ความจดจ่อในงาน ความสามารถในการคาดการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น
  • แต่เพลงก็อาจทำให้เราเสียสมาธิและส่งผลเสียต่อการจดจำได้เช่นกัน โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อร้อง เพราะสมองต้องโฟกัสกับเนื้อร้องของเพลง โดยเฉพาะเวลาทำงานที่ต้องใช้ทักษะทางภาษา เช่น การเขียน หรือ การอ่านหนังสือ จึงควรลองเปลี่ยนมาฟังเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง หรือเพลงที่มีภาษาที่เราไม่เข้าใจแทน
  • แทนที่จะเปิดเพลงในออฟฟิศให้ทุกคนฟัง อาจจะเปลี่ยนเป็นการอนุญาติให้พนักงานใส่หูฟังเพื่อฟังเพลงที่ตัวเองชอบขณะทำงานได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด

Source: Business Insider, PennState และ BBC