DIVERSITY: ให้การยอมรับความหลากหลายเป็น new normal ในที่ทำงาน

July 02, 2020 HR Insight
DIVERSITY: ให้การยอมรับความหลากหลายเป็น new normal ในที่ทำงาน

โลกของเราทุกวันนี้ตระหนักเรื่องความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้น อย่างกรณี การเรียกร้องสิทธิเพื่อคนผิวสี ซึ่งปกติแล้วก็อาจจะจำกัดวงในหมู่คนผิวสีหรือในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ทุกวันนี้นี้ผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะผิวสีอะไรหรือเชื้อชาติอะไรต่างก็ร่วมสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว เราจะเห็นว่าการต่อสู้เพื่อความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมค่อยๆ กลายเป็นวาระสำคัญของโลกในปัจจุบัน

ในสังคมไทยเองเราก็เริ่มเห็นผู้คนยกประเด็นเรื่อง การเหยียดเพศ เหยียดรูปร่าง เหยียดเชื้อชาติ เหยียดความรวยจน เหยียดสถานภาพ เหยียดคนเห็นต่างทางการเมือง มาพูดถึงหลายต่อหลายครั้งในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเองก็กำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้ไม่ต่างกัน

“คำถามก็คือแล้วเราจะผลักดันประเด็นเรื่องความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมให้เป็นความปกติใหม่ของสังคมการทำงานได้ด้วยหรือไม่?”


ความหลากหลายเริ่มต้นที่กระบวนการสรรหา

การสร้างความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้น จุดเริ่มต้นสำคัญอยู่ที่กระบวนการสรรหา เพราะเป็นเหมือนด่านแรกที่จะเปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งมุมมอง ความคิด และประสบการณ์ เข้ามามีส่วนร่วมในองค์กร

เรามักพบว่าหลายองค์กรมีการกำหนดนโยบายด้าน Diversity & Inclusion ที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมักเกิดในระดับบุคคล เพราะต้องไม่ลืมว่าในกระบวนการสรรหาเรายังใช้มนุษย์เป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ผู้สมัครจะถูกตัดสินจากความคิดเห็นส่วนบุคคล โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง รูปร่างหน้าตา เพศ อายุ สถาบันการศึกษา ที่มักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกคนเข้าองค์กร มากกว่าที่จะโฟกัสในด้านทักษะและความสามารถของผู้สมัคร

กรณีที่อาจพบได้ทั่วไป เช่น

  • การชื่นชอบผู้สมัครที่หน้าตาดี บุคลิกดี
  • ตัดสินความสามารถจากสถาบันที่จบมา
  • ให้โอกาสผู้ที่จบสถาบันเดียวกับตนมากกว่า
  • ใช้อายุเป็นปัจจัยในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
  • ไม่ให้โอกาสเพศทางเลือกเข้ารับสมัครงาน
  • ไม่ให้โอกาสเพศหญิงหรือเพศทางเลือกเข้ารับตำแหน่งหัวหน้างาน
  • ไม่ให้โอกาสผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างจากตน

สิ่งเหล่านี้มักเกิดจาก “อคติส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (unconscious bias)”  ซึ่งก็คือ การตัดสินคนโดยเหมารวมเอาจากประสบการณ์ในอดีตของผู้สรรหาหรือหัวหน้างานที่มีส่วนตัดสินใจคัดเลือกพนักงาน ทำให้มีการล็อคสเป็คผู้สมัครอยูเสมอ โดยใช้เกณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากทักษะและความสามารถมาตัดสิน ดังนั้นเพื่อให้นโยบายถูกนำมาปฏิบัติจริง องค์กรจึงต้องมีแผนดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในองค์กร สร้างเกณฑ์การคัดเลือกที่เป็นรูปธรรม และสร้างวัฒนธรรมแห่งการยอมรับความหลากหลายให้เกิดขึ้นในองค์กร


เราจะสร้างสรรค์สังคมการทำงานที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร

การสร้างความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในองค์กร เราอาจต้องกลับมามองใน 3 ประเด็นหลักคือ Diversity (ความหลากหลาย) Equity (ความเท่าเทียม) และ Inclusion (การมีส่วนร่วม)

Diversity คือ ความหลากหลายของผู้คนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ เพศกำเนิด ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว การศึกษา วัฒนธรรม สังคม ความพิการ ความเจ็บป่วย รสนิยมทางเพศ สถานภาพการสมรส สถานภาพทางสังคม หรือความเห็นทางการเมือง
Equity คือ การที่คนในองค์กรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการในการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน อัตราค่าตอบแทน การพัฒนาศักยภาพพนักงาน การเลื่อนขั้น สภาพการทำงาน โดยปราศจากอคติที่มีต่อความหลากหลายและแตกต่าง แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทักษะและความสามารถเป็นหลัก
Inclusion คือ การยอมรับและผสานความแตกต่างของบุคคลในองค์กรเข้าด้วยกัน เช่น การส่งเสริมและให้คุณค่ากับความแตกต่างของบุคคลในองค์กร การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กร

โดยองค์กรต้องกำหนดสามข้อนี้เป็นเป้าหมายในการบริหารจัดการความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายและระเบียบปฏิบัติ ด้านการสรรหาบุคลากร ด้านการฝึกอบรม รวมไปถึงการรักษาบุคคลากร ซึ่งหากองค์กรสามารถทำตรงนี้ได้ นอกจากจะเป็นการทำให้พนักงานได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคและสร้างสรรค์สังคมการทำงานที่ดีแล้ว องค์กรยังได้ประโยชน์เชิงธุรกิจมากมาย ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น การเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร การเพิ่มความสามารถการดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร รวมถึงประโยชน์ด้านภาพลักษณ์และการตลาด

สำหรับท่านใดที่สนใจเจาะลึกถึงรายละเอียดว่า Diversity คืออะไร สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร รวมถึงกลยุทธ์และวิธีบริหารจัดการเพื่อการยอมรับความหลากหลายและอยู่ร่วมกันเท่าเทียม Adecco ได้จัดทำ white paper รวมเนื้อหาเกี่ยวกับ Diversity ที่ HR ควรรู้ โดยสามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ ที่นี่