ถาม-ตอบ ปัญหากฎหมาย ค่าชดเชยและสิทธิลูกจ้างควรรู้ ช่วง COVID-19

เมษายน 07, 2563 คำแนะนำด้านอาชีพ
ถาม-ตอบ ปัญหากฎหมาย  ค่าชดเชยและสิทธิลูกจ้างควรรู้ ช่วง COVID-19

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน หลายธุรกิจ องค์กร ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง ต่างก็ได้ผลกระทบในวงกว้าง Adecco จึงได้รวบรวมคำถามกฎหมายที่พบบ่อยในช่วงโควิด-19 พร้อมคำตอบ เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานประกอบการณ์ในการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 มาฝากกันค่ะ



Q: ถ้าถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ COVID-19 จะได้รับค่าจ้างตามปกติไหม?

A: ต้องแยกพิจารณาดังนี้
  • กรณีที่1 ถ้าลูกจ้างมีอาการป่วย สามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
  • เมื่อลูกจ้างแจ้งการใช้สิทธิลาป่วยโดยชอบต่อนายจ้างแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย เว้นแต่ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิลาเพราะอาจจะไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากลาป่วยเกิน 30 วันแล้วในรอบปี ทางออกคือลูกจ้างอาจใช้สิทธิหยุดพักร้อนได้ แต่ถ้าหากใช้สิทธิหยุดพักร้อนครบตามสิทธิแล้ว ลูกจ้างอาจตกลงกับนายจ้างเพื่อขอหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้

  • กรณีที่2 ถ้าลูกจ้างถูกทางการกักตัว หรือ กักตัวเอง หรือ นายจ้างออกคำสั่งห้ามลูกจ้างเข้าที่ทำงานและให้ไปกักตัวเพื่อสังเกตุอาการ COVID-19
  • เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย มีประวัติเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค เคยอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยง(เช่น สนามมวย) เคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงมีอาการที่อาจจะเเสดงว่าอาจเป็นโรค(เช่น มีไข้สูง ไอจาม) (เป็นไป ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม ม.34 (1) และ ม.52) ลูกจ้างไม่ต้องไปทำงานโดยไม่ถือว่าเป็นการขาดงานหรือทิ้งงาน แต่ลูกจ้างก็จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ตามหลักสัญญาต่างตอบแทน no work no pay

ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง สามารถลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมได้




Q: หากบริษัทได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จะสามารถขอลดเงินเดือนโดยจ่ายเพียง 75% หรือ 50% ได้หรือไม่?

A: หากบริษัทต้องการปรับลดเงินเดือนลูกจ้าง จะต้องขึ้นอยู่ความสมัครใจเห็นชอบร่วมกันทั้งฝ่ายบริษัทและลูกจ้าง (mutual agreement)



Q: หากบริษัทหรือสถานที่ทำงานของลูกจ้างถูกสั่งปิดชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างหรือเงินชดเชยหรือไม่?

A: ถ้าบริษัทมีนโยบายให้ทำงานที่บ้าน (work from home) ลูกจ้างก็จะยังได้ค่าจ้างตามปกติ แต่สำหรับลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเป็นกรณีที่นายจ้างต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย แต่ลูกจ้างสามารถยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมได้



Q: หากบริษัทจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวเพราะภาวะเศรษฐกิจซบเซา ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างหรือเงินชดเชยหรือไม่?

A: ตามมาตรา 75 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้าง”

จากกฎหมายข้างต้น หมายความว่า หากภาวะเศรษฐกิจซบเซาจนกระทั่งเป็นเหตุจำเป็นให้บริษัทต้องหยุดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่หยุด และไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เนื่องจากค่าชดเชยจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการเลิกจ้าง



Q:
หากบริษัทได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และจำเป็นต้องปลดลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยจากบริษัทหรือไม่

A: ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 ดังนี้

  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
  • ลูกจ้างที่มีอายุงานตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน

ทั้งนี้ ในการเลิกจ้างบริษัทจะต้องบอกเลิกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างในวันกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปด้วย แต่ถ้านายจ้างให้ออกจากงานทันที นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงวันเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าว


นอกจากนี้ ถ้าลูกจ้างยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี และถูกเลิกจ้างเสียก่อนโดยไม่มีความผิด ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของการทำงานในปีที่ถูกเลิกจ้างด้วย



Q: ประกันสังคมจะจ่ายค่าชดเชยเท่าไร กรณีตกงานเพราะผลกระทบจาก COVID-19

  • กรณีที่1 ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนที่ว่างงาน
    • หากถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 200 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)
    • หากสมัครใจลาออกจะได้รับเงินร้อยละ 45 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)

  • กรณีที่2 ผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน, ลูกจ้างรายวัน, อาชีพอิสระ
    • ได้สิทธิ์รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการคลัง 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563)

หมายเหตุ: ข้อมูลด้านบนเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติและอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประกาศจากทางภาครัฐที่อาจเกิดขึ้นหลังวันที่ 4 เมษายน 63 หรือเหตุปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวกับการจ้างงานในแต่ละกรณี