วิจัยชี้คนไทยเก่งขึ้น! ดันดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้าน HR ไทยขยับอันดับ 66 ในเวทีโลก

กุมภาพันธ์ 01, 2562 ข่าวประชาสัมพันธ์

 กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ร่วมกับ Tata Communications และสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก INSEAD เผยผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก (Global Talent Competitiveness Index) ที่วัดจากทุกมิติทั้งด้านการผลิต ดึงดูด พัฒนา และรักษาทรัพยากรบุคคล จากการสำรวจใน 119 ประเทศทั่วโลกพบว่าในปีนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครองแชมป์ ตามด้วยประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับปีก่อน ด้านไทยติดอันดับที่ 66 จากเดิมอันดับที่ 70 ครองอันดับ 4 ในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการศักยภาพการแข่งขัน ได้แก่ ปัจจัยส่งเสริมภายใน (Enable) การดึงดูดคน (Attract) พัฒนาคน (Grow) การรักษาคน (Retain) ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational & Technical Skills) และความรู้ความสามารถในระดับสากล (Global Knowledge Skills) พบว่า ปัจจัยด้าน “ความรู้ความสามารถในระดับสากล” “ทักษะวิชาชีพ” และ “ปัจจัยส่งเสริมภายใน” มีค่าดัชนีสูงขึ้นทำให้ไทยสามารถทำอันดับได้ดีขึ้นในปีนี้





โดยพบว่าอันดับด้านความรู้ความสามารถของคนไทยในระดับสากลพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 68 มาเป็นอันดับที่ 58 จาก “ความสามารถในการคิดค้นสินค้าและบริการใหม่” ของคนไทย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวระเบียงเศรษฐกิจเขตภาคตะวันออก (EEC) ที่เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันกันพัฒนาธุรกิจสินค้าและบริการใหม่ ๆ อ้างอิงจากข้อมูลที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นธุรกิจ SMEs ถึง 98.10%

ขณะเดียวกันทักษะทางวิชาชีพของคนไทยก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มี “แรงงานฝีมือ” ที่ดีขึ้น โดยพบว่าคะแนนผลผลิตรายหัวเพิ่มสูงขึ้น แรงงานทั้งในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษา/ปวช. ก็มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้ศักยภาพของการแข่งขันในด้านนี้ของไทยขยับจากอันดับ 89 มาอันดับที่ 83

นอกจากนี้ยังพบว่า “โอกาสในการทำธุรกิจ” ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมภายในในการจ้างงานนั้นก็มีคะแนนสูงขึ้นมากเช่นกัน จึงช่วยประคองให้อันดับของเกณฑ์นี้ให้อยู่ที่อันดับที่ 47 จากเดิมอยู่ที่อันดับ 48



 

ผู้บริหารอเด็คโก้แนะพัฒนาทักษะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลในยุคดิจิทัล

คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า “ดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยปีนี้ในภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านศักยภาพของคนทำงานทั้งในสายวิชาชีพและงานสำนักงานทั่วไปที่มีค่าดัชนีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาที่ดีว่าประเทศไทยมาถูกทาง เนื่องจากการพัฒนาคนคือกุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลในยุคดิจิทัล”

“เทรนด์โลกในปีนี้ยังพบว่าทักษะความเป็นผู้ประกอบการเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัล ทักษะความเป็นผู้ประกอบการนี้ไม่ได้หมายถึงการลาออกมาแล้วสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเอง แต่หมายถึงทักษะที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม ในการคิดค้นสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ หรือยกระดับประสบการณ์การบริการให้กับลูกค้า เราจะเห็นได้ว่าประเทศที่ครองอันดับต้น ๆ จะเปิดรับคนที่มีทักษะนี้จำนวนมาก เพราะคนเหล่านี้คือกำลังสำคัญที่จะพลิกโฉมองค์กรสู่ยุคดิจิทัล”

“คนยุคเราใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้หลายองค์กรเองก็ประสบกับปัญหาการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านดิจิทัล การสรรหาบุคลากรในด้านนี้แต่ละครั้งก็มักมีค่าใช้จ่ายที่สูง และใช้เวลานานกว่าจะหาบุคลากรที่เหมาะสมได้ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวองค์กรควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ และทักษะทางดิจิทัลให้กับพนักงานในองค์กร เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาการขาดบุคลากรได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาได้อีกด้วย และเมื่อพนักงานมีศักยภาพมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร เรียกได้ว่าเป็น Win-Win situation ทั้งสำหรับองค์กรและพนักงาน”