ไทยติด Top 10 ประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้าน HR ในเอเชียแปซิฟิค

เมษายน 23, 2562 ข่าวในประเทศ

ไทยติด Top 10 ประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้าน HR ในเอเชียแปซิฟิค ด้านสิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งในภูมิภาค 6 ปีซ้อน

 

สิงคโปร์ครองแชมป์ศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก 6 ปีซ้อนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และรั้งตำแหน่งอันดับ 2 ของโลก ด้านไทยอยู่ที่ลำดับที่ 66 ของโลก และติด Top 10 ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค จากการประกาศผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก (Global Talent Competitiveness  Index, GTCI) ที่วัดศักยภาพการผลิต ดึงดูด พัฒนา และรักษาทรัพยากรบุคคล ใน 125 ประเทศทั่วโลก จากความร่วมมือของสถาบันอินเสียด บริษัท ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ และ กลุ่มบริษัทอเด็คโก้กรุ๊ป

ธีมของผลสำรวจในปีนี้คือ “Entrepreneurial Talent and Global Competitiveness” ที่เน้นเรื่องความสำคัญของทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่จะช่วยพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับองค์กร เมือง และประเทศ เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิทัล

ในปีนี้มี 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่ติดอันดับ Top 30 ของโลกได้แก่ สิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 2 ของโลก และมีคะแนนนำโด่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคทั้งทางด้านปัจจัยภายใน การดึงดูดคนเก่ง และความรู้และความสามารถในระดับสากล รองลงมาได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่อยู่อันดับที่ 11 ประเทศนี้สามารถทำอันดับได้สูงจากความโดดเด่นด้านการดึงดูดบุคลากรทั้งต่างชาติและในประเทศ ขณะที่ประเทศออสเตรเลียที่อยู่ในระดับไล่เลี่ยกันก็สามารถรั้งอันดับที่ 12 ไว้ได้จากรากฐานความแข็งแกร่งด้านคุณภาพการศึกษา ส่วนญี่ปุ่นได้อันดับที่ 22 ของโลก โดยมีคะแนนด้านปัจจัยส่งเสริมภายในระดับสูง ขณะที่มาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้อันดับที่ 27 โดยสามารถทำคะแนนได้สูงในทุกด้านยกเว้น คะแนนด้านการรักษาบุคลากร เนื่องจากคุณภาพชีวิตยังเป็นรองประเทศชั้นนำอื่นๆ ส่วนเกาหลีใต้ ได้อันดับ 30 แต่เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อวัดผลในระดับเมืองแล้วพบว่า กรุงโซล สามารถสร้างประวัติศาสตร์ติด Top 10 ของโลกเป็นเมืองแรกของทวีปเอชีย  ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการผลักดันโซลให้เป็นเมืองอัจฉริยะจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามผลการสำรวจยังพบว่าอุปสรรคสำคัญของประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นคือประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศ

สำหรับประเทศไทยนั้นติดอันดับที่ 66 จากเดิมอันดับที่ 70 ครองอันดับ 10 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และอันดับ 4 ในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจัยด้าน “ความรู้ความสามารถในระดับสากล” “ทักษะวิชาชีพ” และ “ปัจจัยส่งเสริมภายใน” มีค่าดัชนีสูงขึ้นทำให้ไทยสามารถทำอันดับได้ดีขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะอันดับด้านความรู้ความสามารถของคนไทยในระดับสากลพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 68 มาเป็นอันดับที่ 58 จาก “ความสามารถในการคิดค้นสินค้าและบริการใหม่” ของคนไทย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวระเบียงเศรษฐกิจเขตภาคตะวันออก (EEC) ที่เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันกันพัฒนาธุรกิจสินค้าและบริการใหม่ ๆ อ้างอิงจากข้อมูลที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นธุรกิจ SMEs ถึง 98.10%

 


20 อันดับศักยภาพการแข่งขันด้าน HR ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค

  2

  สิงคโปร์

  67

  อินโดเนเซีย

  11

  นิวซีแลนด์

  77

  มองโกเลีย

  12

  ออสเตรเลีย

  80

  อินเดีย

  22

  ญี่ปุ่น

  82

  ศรีลังกา

27

  มาเลเซีย

  83

  ภูฏาน

30

  เกาหลีใต้

  91

  ลาว

36

  บรูไน

  92

  เวียดนาม

45

  จีน

  95

  คีร์กีซสถาน

58

  ฟิลิปปินส์

  107

  กัมพูชา

  66

  ไทย

  108

  ปากีสถาน


เมื่อสำรวจในบรรดาประเทศที่ได้อันดับสูง พบว่าหลายประเทศมีลักษณะเด่นร่วมกันคือ การกำหนดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศ เปิดกว้างให้กับผู้ที่มีทักษะผู้ประกอบการ มีนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่ดี และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 

Bruno Lanvin, ผู้อำนวยการจาก Global Indices สถาบันอินเสียด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ให้ความเห็นว่า: “รายงาน GTCI 2019 ชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าทักษะผู้ประกอบการ ความยืดหยุ่น ความหลากหลาย และความสามารถในการปรับตัว คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกวันนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศสิงโปร์ถึงเป็นผู้นำในด้านความรู้ความสามารถในระดับสากล และนำนิวซีแลนด์อยู่กว่า 10 อันดับ”



Ian Lee
 ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและคณะกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้กรุ๊ปเผยว่า ทุกวันนี้มีความต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในระดับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิคเองจึงต้องทำให้มั่นใจว่าในแต่ละประเทศมีปัจจัยส่งเสริมภายใน การดึงดูดคน  พัฒนาคน การรักษาคน ทักษะสายวิชาชีพ และความรู้ความสามารถในระดับสากลอยู่ในระดับที่ดี สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันองค์กรเองก็ต้องทำความเข้าใจว่าการให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่องค์กรที่เป็นสตาร์ทอัพท่านั้น แต่เป็นวาระที่องค์กรใหญ่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะหากขาดตรงนี้ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังเมื่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมได้พัฒนาไป

 


Vinod Kuma, ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ กล่าวว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วกำลังเข้ามาในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิค ก่อให้เกิดความต้องการในการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้เหมาะกับผู้บริโภคในภูมิภาค ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคู่ขนานกันคือการสร้างชุดความคิดเรื่องการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลให้เป็นวาระสำคัญในระดับองค์กรและทำมันให้สำเร็จ องค์กรไหนสามารถทำได้ก่อน สามารถสร้างสรรค์วัฒนธรรมของการเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางได้ก่อน หรือแม้แต่เลิกยึดติดกับอดีตได้ก่อน ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับองค์กรเอง ตัวอุตสากรรม รวมทั้งเมืองและประเทศในอนาคตได้ 

สำหรับปีหน้า (GTCI 2020) จะจัดทำในหัวข้อ ‘Global Talent in the Age of Artificial Intelligence จากกระแสของปัญญาประดิษฐ์ของปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีส่วนสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยครั้งถัดไปจึงจะเน้นศึกษาเปรียบเทียบถึงศักยภาพของแต่ละเมือง แต่ละประเทศ ว่ามีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือและใช้ประโยชน์จากระบบปัญญาประดิษฐ์

Download the report