ช้าไปไหมถ้าอยากเปลี่ยนอาชีพตอนอายุ 30

November 07, 2023 Career Advice
ช้าไปไหมถ้าอยากเปลี่ยนอาชีพตอนอายุ 30

ในตอนที่เราเริ่มงานครั้งแรก ทุกคนล้วนหวังอยากจะเจองานที่ใช่สำหรับตัวเองให้เร็วที่สุด เพื่อที่ว่าทุกก้าวที่เรามุ่งหน้าไปจะทำให้เราได้เข้าใกล้เป้าหมายของตัวเองมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ช่วงอายุ 20 อาจผ่านไปเร็ว จนทำให้ใครหลาย ๆ ยังไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ตรงกับฝันของตัวเองจริง ๆ การค้นหาอาชีพใหม่ในช่วงวัย 30 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มอิ่มตัวกับงานเดิม จึงกลายเป็นสิ่งที่หลายคนอยากลองทำ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความกังวลก็ตาม

ความกังวลของคนวัยเลข 2 และ 3

ไม่แปลกหากเรารู้สึกยังไม่มั่นใจเรื่องเส้นทางในอาชีพของตัวเอง เพราะมีผลสำรวจพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังรู้สึกแบบเดียวกันกับเรา โดยผลสำรวจจาก LinkedIn พบว่า เหตุผลอันดับ 1 ที่ทำให้คนอายุระหว่าง 25-33 ปี บอกว่าพวกเขากำลังเจอกับ Quarter-life crisis (วิกฤตก่อนวัยกลางคน) คือ ความกังวลว่ายังหาอาชีพที่ตรงกับ passion ของตัวเองไม่เจอ คิดเป็นปัญหาของคนมากกว่าครึ่งรุ่น หรือกว่า 61% นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ก็มักทำให้รู้สึกกังวลมากขึ้นไปอีก

ความต้องการเจองานที่ใชทำให้มีคนในช่วงอายุนี้ 36% เคยมีประสบการณ์การเปลี่ยนอาชีพ (career path) อย่างน้อย 1 ครั้ง

จุดต่างและจุดร่วมของความต้องการเปลี่ยนอาชีพ

ให้ทำต่อก็ทำได้นะ แค่รู้สึกไม่ fulfill”

ความต้องการเปลี่ยนอาชีพของแต่ละคนอาจมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน บางคนรู้จักความฝันของตัวเองเป็นอย่างดีเพียงแต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีจังหวะที่เหมาะสม เช่น รู้ว่าตัวเองอยากมีธุรกิจแต่ยังมีเงินเก็บไม่มากพอ บางคนพอทำงานไปได้สักพักก็พบว่า passion ของตัวเองเปลี่ยนไปและเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น บางคนยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าอยากทำอะไร เพียงแต่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังไม่ใช่สิ่งที่ชอบนัก หรือบางคนอาจจะแค่ต้องการงานที่มีอิสระมากขึ้น

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด สิ่งที่เป็นจุดร่วมกันของแทบทุกคนที่อยากเปลี่ยนอาชีพนั่นคือความรู้สึกที่ว่า งานที่ทำอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตเท่าที่ควร ไม่ได้ช่วยเติมเต็มชีวิตมากพอ หรืออาจเรียกว่าที่ทำงานอยู่นี้ เพียงเพื่อให้มีเงินสำหรับไปใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ก็เท่านั้น

ปัจจัยภายนอกกดดันให้เกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง

นอกจากปัจจัยที่เกิดจากตัวเองแล้ว ความกดดันจากสังคมรอบข้างก็มีผลเช่นกัน

เมื่อทำงานไปได้สักพัก เรามักจะเริ่มเห็นคนรอบข้างที่อายุเท่า ๆ กันทยอยประสบความสำเร็จ มีโอกาสเลื่อนขั้น มีโอกาสได้มีธุรกิจของตัวเอง ซึ่งมองแล้วชีวิตโดยรวมของเขาเหมือนจะดูดีกว่าเรา จนทำให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “นี่เรากำลังทำงานไปเพื่ออะไรกันแน่? และเกิดความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังมีลังเลว่าการเปลี่ยนงานในตอนนี้อาจจะสายเกินไป หรืออาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีจริง ๆ

โฟกัสที่ตัวเอง ไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น

อย่ามองว่าการเปลี่ยนงานช้าเท่ากับจะประสบความสำเร็จช้า ถ้าเราลองปรับมุมมองว่าความสำเร็จไม่ได้มีนิยามแค่การได้เงินเดือนสูงหรือมีตำแหน่งใหญ่โต แต่ความสำเร็จยังรวมถึงการที่เราสามารถพาตัวเองไปทำงานในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทำแล้วมีความสุข และใกล้เคียงกับชีวิตแบบที่เราต้องการมากขึ้น สุดท้ายแล้วเมื่อเวลาผ่านไป วันหนึ่งเราก็จะเติบโตในอาชีพใหม่ของเรา และประสบความสำเร็จในแบบของเราได้

ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ ลองตอบคำถามเหล่านี้

  • อาชีพนั้นมีข้อจำกัดเรื่องอายุหรือคุณสมบัติเฉพาะหรือไม่? แม้ในปัจจุบันสังคมการทำงานจะเปิดกว้างเรื่องอายุมากขึ้น แต่หลายอาชีพอาจมีข้อได้เปรียบสำหรับคนอายุน้อย เช่น แอร์โฮสเตส งาน PR, Event ที่จำเป็นต้องใช้พลังแรงกายเพราะทำงานไม่เป็นเวลา หรืออาชีพที่ต้องเรียนมาโดยเฉพาะและใช้เวลาเรียนนานอย่างแพทย์หรือทนายความ เป็นต้น การเปลี่ยนมาทำอาชีพเหล่านี้ในวัย 30 มีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามในการเตรียมตัวไม่น้อย
  • พร้อมหรือไม่ถ้าต้องเริ่มต้นใหม่? การมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วทำให้เรามีทักษะหลาย ๆ อย่างที่น่าจะนำไปปรับใช้กับอาชีพใหม่ได้ (transferable skills) อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีประสบการณ์ตรงในสายอาชีพนั้น ทำให้ส่วนใหญ่แล้วต้องเริ่มต้นจาก entry-level
  • มีเงินสำรองเพียงพอหรือไม่? โดยเฉลี่ยแล้วกระบวนการเปลี่ยนอาชีพอาจใช้เวลาเป็นปี และมักจะมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงช่วงเริ่มต้นทำงาใหม่อาจจะได้รายได้ไม่มากนัก แล้วเราพร้อมรับมือในเรื่องนี้หรือไม่?
  • รับได้หรือไม่ถ้ามีหัวหน้าที่เด็กกว่า? การเป็น entry-level หมายความว่าเรามีโอกาสสูงที่จะมีหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานในตำแหน่งเดียวกันที่เด็กกว่าเรา แล้วเราสามารถเปิดใจยอมรับและปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกันได้หรือไม่?
  • ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง? การพิจารณาว่ามีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมแล้วลองวางแผนการพัฒนาคร่าว ๆ จะทำให้เราพอมองเห็นเส้นทางที่เป็นไปได้จริง เทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้เราหาคำตอบได้ชัดเจนมากขึ้น คือการรีเสิร์ชให้มากและหาโอกาสพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ตรง เพื่อให้เราเข้าใจลักษณะงาน และรายละเอียดอื่น ๆ ของงานได้มากขึ้น
  • ตอนนี้เรามี transferable skills อะไรบ้าง? หากอาชีพที่เราอยากทำไม่ใช่การเป็นเจ้านายตัวเอง แต่เป็นพนักงานบริษัทที่ต้องส่งเรซูเม่และสัมภาษณ์ ความเข้าใจเรื่อง transferable skills ของตัวเองและนำเสนอออกไปได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกับงานใหม่ จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์มั่นใจในตัวเรามากขึ้นได้ ตัวอย่าง transferable skills เช่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

ใช้ อิคิไก ช่วยสำรวจตัวเอง

อิคิไก เป็นหลักปรัชญาของญี่ปุ่นที่นิยมใช้สำหรับค้นหาความหมายของชีวิตว่าด้วยสมดุลระหว่าง 4 ด้าน ได้แก่ ‘สิ่งที่เรารัก’ ‘สิ่งที่มีประโยชน์ต่อโลก’ ‘สิ่งที่สร้างรายได้’ และ ‘สิ่งที่เราทำได้ดี’ หากเรายังไม่แน่ใจว่าอาชีพอะไรที่มีความหมายต่อเราอย่างแท้จริง ให้เราลองเขียนคำตอบลงในช่องเหล่านี้ แล้วลองดูว่าอาชีพอะไรที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเราได้ครบ 4 ด้านมากที่สุด

หาโอกาสทดลองก่อนทำจริง

เมื่อเรารู้เริ่มจักตัวเองแล้ว การหาโอกาสทดลองทำอาชีพที่เราคิดว่าเราชอบใน scale เล็ก ๆ ก่อน จะช่วยให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าเราอยากทำอาชีพนั้นจริง ๆ เช่น เราคิดว่าเราอยากเป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส เราอาจลองเสนอตัวเป็นเทรนเนอร์ให้เพื่อนแบบฟรี ๆ ก่อน ถ้าทดลองแล้วชอบ ก็มุ่งหน้าต่ออย่างมั่นใจได้เลย แต่กลับกันถ้าพบว่าเราแค่เป็นคนชอบออกกำลังกาย แต่เราไม่ชอบอธิบาย ไม่ชอบการขายของ แสดงว่าจริง ๆ แล้วการออกกำลังกายก็อาจเหมาะกับการเป็นแค่งานอดิเรกของเรามากกว่า

ไม่มีคำว่าสายเกินไป

มีคนดังมากมายทั่วโลกที่พิสูจน์แล้วไม่มีอะไรสายเกินไปที่จะเรียนรู้และการเปลี่ยนอาชีพหลังอายุ 30 สามารถเป็นไปได้จริง เช่น Colonel Sanders (เจ้าของไก่ทอด KFC) Jeff Bezos (ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon) Vera Wang (ดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก) Ronald Reagan (ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 40) The Rock (นักแสดง) และอื่น ๆ อีกมาก หัวใจสำคัญที่คนเหล่านี้มีร่วมกันคือความเชื่อมั่นในตัวเองและความตั้งใจ

ในวันหนึ่งหากเราได้ทำอาชีพที่ตัวเองรัก เราอาจพบว่าการตื่นเช้าขึ้นมาทำงานในแต่ละวันมีพลังและมีความหมาย สุดท้ายการประสบความสำเร็จก็จะเป็นไปโดยไม่มีคำว่าสายเกินไป

 

อ้างอิง:

https://news.linkedin.com/2017/11/new-linkedin-research-shows-75-percent-of-25-33-year-olds-have-e

https://jobs.theguardian.com/article/how-to-approach-a-career-change-and-secure-your-next-job

https://resources.workable.com/career-center/is-it-ever-too-late-to-start-a-new-career/

https://www.inc.com/business-insider/people-who-found-success-and-changed-careers-after-30-years-old.html