กิจกรรม networking ในงานสัมมนาต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่ดีที่จะช่วยให้เราได้รู้จักคนใหม่ ๆ ในแวดวงการทำงานเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีนิสัยเก็บตัวหรือไม่เคยมีประสบการณ์กับกิจกรรมประเภทนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ข้อดีอย่างหนึ่งของกิจกรรม networking คือมักจะมีรูปแบบการจัดกิจกรรมคล้าย ๆ กัน ทำให้เราสามารถใช้สูตรสำเร็จเพื่อเอาตัวรอดในทุก ๆ ครั้งได้ มาลองดูกันว่าทำอย่างไร
ก่อนเริ่มงาน
1. ตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมกิจกรรม (*สำคัญมาก)
หนึ่งในปัญหาที่หลายคนมักเจอจากการเข้าร่วมงาน Networking ในครั้งแรก ๆ คือไม่รู้ว่าตัวเองควรคุยกับใคร คุยเรื่องอะไร และคุยไปทำไม ซึ่งทำให้รู้สึกวางตัวไม่ถูกและไม่ชอบงานนี้ในที่สุด ปัญหานี้สามารถแก้ได้จากการตั้งเป้าหมายในการร่วมงานให้ชัดเจน
ตัวอย่างเป้าหมายที่คนนิยมตั้ง เช่น หาโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงาน หาพาร์ทเนอร์ให้บริษัท หาข้อมูลใหม่ ๆ ในแวดวงการทำงาน หรือทำความรู้จักกับใครบางคนที่อยากรู้จักเป็นพิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้ เราควรตั้งเป้าหมายโดยเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ไม่ใช่การทำความรู้จักคนให้ได้มากที่สุด
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนนอกจากจะทำให้เรา
แสดงออกได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสื่อสารได้ชัดเจนมากขึ้น และทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าเราควรช่วยเหลือกันและกันอย่างไร
2. เตรียมบทพูดแนะนำตัวเอง
ในระหว่างที่ร่วมงาน เราจะได้แนะนำตัวเองหลายครั้งอย่างแน่นอน บทพูดแนะนำตัวเองที่กระชับและน่าสนใจจึงเป็นสิ่งที่ควรเตรียมไว้ โดยการแนะนำตัวอาจประกอบด้วย ชื่อจริง ชื่อเล่น อาชีพ ความถนัด รวมถึงนิสัยและงานอดิเรกด้วยก็ได้ การบอกนิสัยและงานอดิเรกมีข้อดีคือหากคู่สนทนาพบว่าเรามีอะไรคล้าย ๆ กัน อาจทำให้เราเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น
3. เตรียมข้อมูลเพิ่มเติมให้ตรงตามเป้าหมายที่เราวางไว้
เช่น หากเราต้องการได้รับโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงาน นอกจากการแนะนำตัวเองให้ดีแล้ว ให้เราคิดผลงานเด่น ๆ ของเราเอาไว้ด้วยเผื่อมีจังหวะให้เรานำเสนอตัวเองเพิ่มเติมเราจะได้พูดได้ทันที หรือหากเรามาร่วมงานนี้เพราะต้องการได้รับข้อมูล insight ใหม่ ๆ ในแวดวงการทำงาน เราก็ควรเตรียมข้อมูล insight บางอย่างไปแชร์กับผู้อื่นด้วย เพื่อให้การพูดคุยน่าสนใจมากขึ้น
ระหว่างงาน
1. หาใครสักคนที่ทำให้เราสบายใจ
การเข้าหาครั้งแรกมักเป็นเรื่องยาก ดังนั้นหากเรามาร่วมงานนี้กับเพื่อน ให้เราจับคู่เข้าหาคนอื่นไปพร้อมกับเพื่อนก่อนเพื่อให้รู้สึกสบายใจ เมื่อเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับงานแล้วค่อยแยกกันไป แต่หากเราลุยเดี่ยวตั้งแต่แรก ให้เรามองหาใครสักคนที่มางานนี้คนเดียวเหมือนกันกับเราหรือใครสักคนที่เดินเข้างานมาพร้อมกับเรา รวบรวมความกล้าเข้าหาคน ๆ นั้น เมื่อทำสำเร็จในครั้งแรก ครั้งต่อ ๆ ไปก็จะง่ายยิ่งขึ้นเอง
2. เข้าหาคนที่กำลังว่าง
หากไม่รู้จะเข้าหาใคร ให้มองหาคนที่กำลังว่าง สบตา ยิ้มให้ แล้วทักทาย อาจจะเริ่มด้วยการชื่นชมเครื่องแต่งกายของอีกฝ่าย แนะนำตัว และตามด้วยประโยคคำถามชวนคุยเบา ๆ เช่น “ทำไมคุณถึงสนใจมาร่วมงานนี้” หรือ “Speaker พูดได้น่าสนใจดีนะคะ/ครับ คุณว่ามั้ย” เป็นต้น
การเข้าหาคนที่ยืนกันเป็นกลุ่มก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยให้เลือกกลุ่มที่ยืนใน ‘ลักษณะเปิด’ ที่ยังมีช่องว่างให้เราเข้าไปร่วมได้ ให้รอจังหวะที่ทุกคนในกลุ่มสบตาเราและส่งสัญญาณว่ายินดีให้เราร่วม อย่าเพิ่งเข้าไปหากผู้อื่นยังพูดคุยกันอยู่ ในขณะเดียวกัน หากเราเป็นคนที่กำลังพูดคุยอยู่และอยากเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาร่วมวงกับเราด้วย ก็ให้เรายืนในลักษณะนี้เช่นกัน
3. ใช้เวลาพูดคุยไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
แม้ว่าเราจะมีคนที่อยากรู้จักเป็นพิเศษ ก็ไม่ควรใช้เวลากับคน ๆ เดียวนานจนเกินไป เพราะอาจจะมีคนอื่นที่รอคุยกับเขาเช่นเดียวกัน หรือเขาเองก็อาจจะมีคนอื่นที่อยากรู้จักนอกจากเรา การคำนวณระยะเวลาที่เหมาะสมขึ้นอยู่ระยะเวลาของกิจกรรมทั้งหมด เช่น หากกิจกรรมทั้งหมดมีระยะเวลา 1 ชั่วโมง การพูดคุยคนละประมาณ 10 นาที ถือว่ากำลังดี
4. Active listening
การฟังอย่างตั้งใจเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราชนะใจคู่สนทนาได้ เริ่มตั้งแต่การตั้งใจฟัง ‘ชื่อ’ ของคู่สนทนาให้ดีและจำให้ได้ เราอาจจะหาโอกาสพูดชื่อของเขาบ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจำชื่อของเขาได้ซึ่งช่วยจะสร้างความประทับใจได้อย่างดี นอกจากนี้เราสามารถแสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจฟังด้วยการถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากสิ่งที่เขาพูด (follow-up question) แต่หากไม่รู้จะถามอะไร เราสามารถพูดทวนสิ่งที่เขาตอบด้วยภาษาของเรา (paraphrase) แทนก็ได้
5. ถามคำถามปลายเปิด
คนมักชอบพูดเรื่องตัวเอง โดยเฉพาะในตอนที่ไม่รู้จะพูดเรื่องอะไร ดังนั้นให้เราถามอีกฝ่ายเกี่ยวกับตัวของเขาด้วยคำถามปลายเปิด เช่น “คุณทำงานเกี่ยวกับอะไร” “คุณทำโปรเจกต์อะไรอยู่” “อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำงานตรงนี้” “คุณมีเป้าหมายอะไรในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้” “อะไรคือเป้าหมายในการทำงานของคุณ” “คุณเคยเจอชาเลนจ์อะไรในการทำงาน” หรือจะเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อให้แสดงความเห็นเรื่องอื่น ๆ ก็ได้ เช่น “คุณคิดอย่างไรกับอุตสาหกรรมของเราในตอนนี้”
6. หาจุดเชื่อมโยงระหว่างเขาและเรา
หากเราพบว่าคู่สนทนาของเรามีจุดเชื่อมโยงที่คล้ายกัน เช่น สถาบันที่เรียนจบมา ตำแหน่งงาน งานอดิเรก เป้าหมาย หรืออื่น ๆ เราสามารถต่อยอดมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยได้ ซึ่งอาจช่วยให้เชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น
7. บอกลาด้วยการขอช่องทางติดต่อ
มีเทคนิคการบอกลาที่ดูดีอยู่หลายวิธี เช่น การขอนามบัตรหรือช่องทางติดต่อเช่น LinkedIn พร้อมประโยคที่ให้ความหมายของการ keep in touch ว่าสนใจที่จะได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ของเขาอีก หรือจะเป็นการฝากเนื้อฝากตัวและปิดท้ายประโยคที่สุภาพ เช่น “ไม่รบกวนเวลาแล้วครับ/ค่ะ” ก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หากเรารู้สึกว่ามีใครบางคนในงานนี้ที่คู่สนทนาของเราควรรู้จัก เราสามารถบอกลาด้วยการแนะนำคนอื่น ๆ ในงานให้คู่สนทนาของเรารู้จักได้ เช่น “คุณได้คุยกับ…จากบริษัท…แล้วหรือยัง” แล้วก็แนะนำว่าเขาเป็นใคร ทำไมคู่สนทนาของเราถึงควรรู้จักเขา แล้วเราเองก็สามารถขอตัวออกมาได้
หลังจบงาน
1. จดข้อมูลที่สำคัญไว้
การทำความรู้จักกับหลาย ๆ คนในเวลาอันสั้นอาจทำให้เราสับสนได้ว่าใครเป็นใคร หรือคุยเรื่องอะไรกับใครเอาไว้ ดังนั้นหลังจากจบงานทันทีหรือระหว่างเปลี่ยนคู่สนทนา ให้เราจดข้อมูลที่จำเป็นเอาไว้ เพื่อให้สามารถพูดคุยกันต่อได้ในอนาคต
2. ติดต่อหา connection ของเราอีกครั้งภายใน 3 วัน
การเข้าร่วมงาน networking อาจไม่มีความหมายหากเราไม่ keep in touch กับคนที่เราเพิ่งรู้จัก การส่งข้อความทักทาย connection ของเราอีกรอบภายใน 1-3 วันหลังจบงานจึงเป็นธรรมเนียมที่หลาย ๆ คนนิยมทำ เพื่อแสดงออกว่าเรายังสนใจที่จะติดต่อกันอยู่
ทักษะ networking ถือเป็นทักษะสำคัญของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะการมี connection จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและธุรกิจ แม้จะดูเป็นเรื่องยากในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น เราจะมีความมั่นใจในการร่วมกิจกรรมนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน
https://www.hult.edu/blog/networking-7-steps/
https://blog.hubspot.com/marketing/the-ultimate-guide-to-non_awkward-effective-networking