เมื่อคำชมและคำปลอบใจ อาจกลายเป็นตัวเร่ง fixed mindset ให้ลูกน้อง

July 21, 2021 Leadership
เมื่อคำชมและคำปลอบใจ  อาจกลายเป็นตัวเร่ง fixed mindset ให้ลูกน้อง

Growth Mindset หรือ การที่คนคนหนึ่งมีความเชื่อว่าศักยภาพและพรสวรรค์เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ เมื่อเจออุปสรรคคนที่มี Growth Mindset ก็จะพยายามหาทางแก้ไขและก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเพื่อเอาชนะอุปสรรค   Growth Mindset เป็นสิ่งที่หลายองค์กรส่งเสริมให้พนักงานมีเพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบันที่ต้องเจอกับความท้าทายและงานที่ซับซ้อนขึ้น  

 

การชื่นชมความพยายาม ≠ การสนับสนุน Growth Mindset 

อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับคอนเซปต์ของ Growth Mindset ซึ่งหนึ่งในความเข้าใจผิดนั้นก็คือ การที่จะสนับสนุน Growth Mindset คือการชื่นชมในความพยายาม แต่นี่เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะอย่างไรก็ตามในการทำงานเรายังคงต้องเน้นผลลัพธ์อยู่ และยังคงต้องหลีกเหลี่ยงความพยายามที่เปล่าประโยชน์ ดังนั้นความพยายามเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่การพยายามให้ถูกวิธีก็เป็นสิ่งสำคัญ 

สิ่งที่แนวคิดเรื่อง Growth Mindset ให้ความสำคัญที่สุดก็คือเมื่อพยายามแล้วต้องเกิดการเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้วว่าวิธีเดิมไม่ได้ผลก็ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ เช่น ลองคิดกลยุทธ์ใหม่ เปลี่ยนวิธีทำงานใหม่ ลองขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นนอกจากจะชื่นชมในความพยายามแล้วหัวหน้ายังสามารถสนับสนุนลูกน้องให้ฝึก Growth Mindset ได้โดยการตั้งคำถามกับลูกน้องเมื่อเจออุปสรรคในงานที่ยากและท้าทายว่า ได้เรียนรู้อะไรจากวิธีที่ไม่ประสบความเร็จบ้าง? ยังมีอะไรที่เราสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้อีก? ยังมีวิธีไหนที่สามารถลองใช้แก้ปัญหานี้ได้ไหม? เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้องได้คิดหา solution ใหม่ๆ ในการทำงาน และพัฒนา Growth Mindset ของลูกน้อง  

การที่เราคิดว่าลูกน้องอาจจะไม่ถนัดหรือมีความสามารถไม่ถึงในการทำงานชิ้นนี้ ก็เป็น Fixed Mindset อย่างหนึ่งสำหรับหัวหน้า เช่นในกรณีที่เมื่อลูกน้องเกิดปัญหาในการทำงานและเข้ามาปรึกษา ด้วยความเห็นใจคุณจึงปลอบใจไปว่า “ไม่เป็นไรนะ พี่เข้าใจว่าน้องทำเต็มที่แล้วเพราะนี่ไม่ใช่งานถนัดของคุณ” ประโยคนี้แม้ลูกน้องอาจจะช่วยปลอบโยนลูกน้องได้แต่ก็สะท้อน Fixed Mindset ที่หัวหน้ามีต่อลูกน้องที่ไม่เชื่อว่าลูกน้องจะมีศักยภาพทำงานนี้ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าลูกน้องไม่มีศักยภาพเพียงพอ ทั้งยังให้เขาล้มเลิกความตั้งใจเร็วเกินไปซึ่งเป็นการปิดโอกาสที่ลูกน้องจะได้ใช้พยายามที่จะพัฒนาตัวเอง ค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา และเรียนรู้จากการทำงานเพิ่มเติม เรามาดูตัวอย่างจากตารางดด้านล่างกันว่าหัวหน้าสามารถสื่อสารอย่างไรเพื่อให้สนับสนุนลูกน้องให้พัฒนา Growth Mindset 

 

ตัวอย่างประโยคที่หัวหน้าควรพูดกับลูกน้องเพื่อส่งเสริม Growth Mindset 



Fixed Mindset 

Growth Mindset 

ไม่เป็นไรนะ ไม่ใช่ทุกคนจะถนัดงานนี้ ทำให้เต็มที่แล้วกัน 

งานอาจจะยากสักหน่อย แต่คุณจะได้เรียนรู้เยอะมากจากงานนี้  

ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ก็นี่ไม่ใช่งานถนัดของคุณนี่ 

ตอนนี้อาจยังไม่ถนัด แต่หากพยายามเรียนรู้ต้องพัฒนาขึ้นแน่ พี่เชื่อว่าคุณทำได้ 

ไม่ต้องกังวลไปนะ พยายามต่อไปเดี๋ยวก็ดีเอง 

ถ้าวิธีนี้ไม่เวิร์ค ลองวิธีใหม่ดูไหม ผิดพลาดได้ไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ เราจะได้เรียนรู้ 

ไม่เป็นไรนะ คุณพยายามเต็มที่แล้ว 

ติดปัญหาตรงไหนหรือเปล่า ตอนนี้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ยังมีวิธีไหนที่สามารถลองดูได้อีกไหม 



นอกจากวิธีสื่อสารที่จะช่วยกระตุ้นการสร้าง Growth Mindset แล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่หัวหน้าและองค์กรควรให้ความสำคัญอย่างมากคือ การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานได้สามารถลองผิดลองถูก ไม่มองความล้มเหลวเป็นความผิดพลาดแต่มองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเรียนรู้ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เปิดใจรับฟีดแบคอยู่เสมอ ก็จะช่วยผลักดันให้ทุกคนในทีมมี Growth Mindset พร้อมรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ เพราะหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยแล้ว เมื่อเจองานยากก็ไม่มีใครอยากทำเพราะกลัวทำได้ไม่ดี กลัวโดนตำหนิ ไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ Growth Mindset ที่เคยมีก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะรักษาไว้  

 

อ้างอิง  

What Having a “Growth Mindset” Actually Means 

Carol Dweck Revisits the 'Growth Mindset'Growth Mindset: What to say, what not to say…