สรุป Highlight ที่เด็กจบใหม่ควรรู้ จากงาน ‘Successful First Jobber Onboarding เปิดวาร์ปสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจ’

October 25, 2022 Career Advice
สรุป Highlight ที่เด็กจบใหม่ควรรู้ จากงาน ‘Successful First Jobber Onboarding เปิดวาร์ปสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจ’

Q: ในสัญญาจ้างงานทั่วไป มีส่วนใดบ้างที่เราควรเช็คให้ดีว่าถูกต้องตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่

A: 1.รายละเอียดค่าจ้างและการจ่ายเงิน 2.สถานที่ปฏิบัติงาน 3.ระยะเวลาการจ้างงาน (หากเป็นสัญญาแบบ contract) 4.กฎระเบียบในการทำงาน 5.มีข้อผูกมัดหลังหมดสัญญาจ้างหรือไม่

 

Q: สัญญาจ้างงานมีกี่รูปแบบ แต่ละรูปแบบต่างกันอย่างไร

A: มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.Full time สัญญาจ้างโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบนี้ เป็นสัญญารูปแบบเดียวที่ไม่ได้ระบุวันสิ้นสุดสัญญา จ่ายเงินในรูปแบบเงินเดือน มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันลาพักร้อน สวัสดิการ และได้ค่าชดเชยเลิกจ้าง อย่างครบถ้วน

2.Part time เป็นสัญญาจ้างสำหรับการทำงานไม่กี่วันต่อสัปดาห์หรือทำงานเป็นกะ การจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันและการพิจารณาของแต่ละบริษัท

3.Contract มีความคล้ายคลึงกับสัญญาแบบ Full time ในแง่ของหน้าความที่รับผิดชอบและการจ่ายเงินในรูปแบบเงินเดือน ต่างกันตรงที่สัญญาแบบนี้จะมีวันสิ้นสุด และอาจได้สวัสดิการไม่ครบ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัท

4.Casual หรือสัญญาจ้างรายวัน รายชั่วโมง เป็นรูปแบบของการจ้างงานชั่วคราว เช่น staff ในงาน event เป็นรูปแบบเดียวที่อาจจะไม่ต้องเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

 

Q: Probation หรือช่วงทดลองงานโดยทั่วไปมีระยะเวลากี่วัน มีโอกาสไม่ผ่านไหม และหากไม่ผ่านควรทำอย่างไร

A: การทดลองงานเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีระบุไว้ในกฎหมายแรงงาน แต่โดยทั่วไปแล้วบริษัทเอกชนมักจะมีช่วงทดลอง และกำหนดระยะเวลาอยู่ที่ 90-119 วัน เพื่อดูแลและ ดูเรา เป็นพิเศษ ในช่วงนี้หากน้อง ๆ มีข้อสงสัยเรื่องอะไรควรถามให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นถามพี่ ๆ HR หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน นี่คือช่วงที่น้อง ๆ จะได้เรียนรู้งาน และเรียนรู้ตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ที่สำคัญอย่าลืมปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทให้มากที่สุด

หากผ่านช่วงทดลองงานไปได้ น้อง ๆ อาจได้สวัสดิการเพิ่มเติม เช่น สามารถใช้วันลาพักร้อนได้ หรือได้รับความไว้วางใจให้ทำงานต่าง ๆ มากขึ้น แต่หากไม่ผ่านช่วงทดลองงานและยังทำงานไม่ถึง 120 วัน ต้องทำใจว่าเราอาจไม่ได้รับเงินชดเชย และพี่ ๆ แนะนำว่าหากไม่ผ่านทดลองงานก็ไม่ต้องใส่ประวัติการทำงานครั้งนี้ลงใน resume ก็ได้

 

Q: ช่วง probation สามารถลาป่วยหรือลาไปรับปริญญาได้ไหม

A: สามารถทำได้ ในช่วงทดลองงานน้อง ๆ สามารถลาได้ 2 แบบ นั่นคือ 1.ลาป่วย สามารถลาได้เท่าที่ป่วยจริง แต่จะได้รับเงินเพียงแค่ 30 วัน และหากลาป่วยเกิน 3 วันควรมีใบรับรองแพทย์ 2.ลากิจ ซึ่งหมายถึงลาเพื่อไปทำธุระที่ไม่สามารถให้คนอื่นไปแทนได้ เช่น ลาไปรับปริญญา หรือลาไปทำใบขับขี่ แต่ทั้งนี้ก็การลาต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้าและนโยบายของแต่ละบริษัทด้วย

 

Q: กองทุนประกันสังคมคืออะไร คุ้มครองเรื่องอะไรบ้าง

A: เป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งตามกฎหมายแล้วน้อง ๆ จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมโดยอัตโนมัติเมื่อเข้ามาเป็นพนักงานในบริษัทใด ๆ ก็ตาม เนื่องจากนายจ้างจะหักเงินส่วนหนึ่งจากเงินเดือนของเรา (ไม่เกิน 750 บาท) เพื่อส่งเข้าประกันสังคม น้อง ๆ จึงไม่จำเป็นต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยตัวเอง เว้นแต่อยู่ในช่วงว่างงานหลังจากทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง

ประกันสังคมจะคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ 1.เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถรับการรักษาได้ฟรีในโรงพยาบาลที่เลือกไว้ 2.ทุพพลภาพ 3.ตาย 4.คลอดบุตร 5.สงเคราะห์บุตร 6.ชราภาพ 7.ว่างงาน

 

Q: นอกจากประกันสังคมแล้ว ยังมีประกันสุขภาพอย่างอื่นอีกหรือไม่

A: บริษัทเอกชนหลาย ๆ แห่งมักจะมีประกันสุขภาพเพิ่มเติมให้ในรูปแบบประกันกลุ่ม เพื่อให้พนักงานสามารถเลือกรักษาในโรงพยาบาลได้หลากหลายมากขึ้นและมีวงเงินสูง

 

Q: กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ provident fund คืออะไร

A: เป็นกองทุนที่นายจ้างจัดทำขึ้นเพื่อช่วยลูกจ้างเก็บเงินในระยะยาว โดยทั้งลูกจ้างและนายจ้างจะส่งเงินเข้ากองทุนนี้ร่วมกันในสัดส่วนตามที่ตกลง โดยเงินจำนวนนี้จะได้รับเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะมีสวัสดิการนี้

 

Q: การลาออกจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วันหรือไม่ และต้องทำอย่างไร

A: กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แต่ระวังว่าหากเราลาออกกะทันหันเกินไปและทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ก็อาจเสี่ยงโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ดังนั้นหากแจ้งล่วงหน้าได้ก็จะดีกว่า

การลาออกสามารถทำได้ด้วยการบอกกล่าวกับทาง HR แต่ทางที่ดีควรมีลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น ส่งอีเมล ส่งไลน์ หรือกรอบแบบฟอร์มที่บริษัทกำหนด โดยการลาออกไม่จำเป็นต้องรอนายจ้างอนุมัติแต่อย่างใด

 

Q: หากบริษัทจะบอกเราเลิกจ้างเรา บริษัทจะแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ และเราจะได้เงินชดเชยหรือไม่

A: ต้องมาดูว่าโดนเลิกจ้างด้วยสาเหตุใด เช่น หากโดนเลิกจ้างเนื่องจากมีการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนกฎ หรือขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่มีเหตุอันควร บริษัทสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ในกรณีอื่น ๆ เช่น หากโดนเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร แต่เราทำงานมาเกิน 120 วันแล้ว บริษัทต้องบอกล่วงหน้าและจ่ายค่าชดเชย โดยคำนวณจากระยะเวลาทำงาน

 

Q: รายได้เท่าไหร่ถึงต้องจ่ายภาษี

A: คนทำงานต้องเสียภาษีเมื่อมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไป อย่างไรก็ตามแม้ว่ารายได้ของเราจะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแต่เมื่อทำงานแล้วก็จำเป็นต้องยื่นแสดงรายได้ต่อสรรพากร โดยสามารถยื่นเสียภาษีออนไลน์ได้ และอย่าลืมเช็คว่าปีนี้เราสามารถลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้างเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง

 

Q: การบ่นเรื่องงานลง social media ส่วนตัว จะมีผลต่องานปัจจุบันหรือการสมัครงานในอนาคตหรือไหม

A: การบ่นเรื่องงานลง social media ก็คงไม่ต่างจากการบ่นเรื่องงานในที่สาธารณะเพราะคนนอกมีสิทธิ์รับรู้ได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อตัวเรามากกว่าผลดี เพราะแม้ว่าเราจะไม่ได้เอ่ยชื่อบริษัทหรือชื่อบุคคลอื่นแบบชัดเจน แต่หากคนอื่นเดาได้ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร หรือพูดถึงใคร ก็มีสิทธิ์ที่เราจะโดนฟ้องได้ รวมถึงอาจเสียโอกาสในการสมัครงานที่อื่น เพราะบางครั้ง HR ก็เช็คประวัติของผู้สมัครก่อนรับเข้าทำงานเช่นกัน

ฉะนั้นทางที่ดี หากปัญหาเริ่มต้นจากภายในก็ควรหาทางแก้จากภายในก่อน เช่น ปรึกษา HR หรือหัวหน้า และพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล หรือปรึกษาคนใกล้ตัวที่เราไว้ใจได้

Q: ไม่อยากไปปาร์ตี้กับที่ทำงาน สามารถปฏิเสธได้ไหม

A: สามารถปฏิเสธได้แน่นอนหากเรารู้สึกไม่มีความสุขที่จะไปอยู่ในจุดนั้น แต่พี่ ๆ ขอแนะนำว่าอยากให้น้อง ๆ ลองเปิดใจก่อน เพราะหากเราปรับตัวเข้ากับที่ทำงานได้เร็วก็อาจทำให้เรามีความสุขกับงานมากขึ้น และบางครั้งการชีวิตด้วยกันนอกเวลางานอาจทำให้เราได้มุมอื่น ๆ ของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น รวมถึงอาจส่งผลให้พี่ที่ทำงานเอ็นดูเรามากขึ้น และพร้อมให้ความช่วยเหลือในเวลางานมากขึ้นอีกด้วย

 

Q: อยากทำงานไม่ตรงสายควรเริ่มต้นอย่างไรดี

A: ลองมองหาบริษัทและตำแหน่งที่ให้โอกาสคนที่จบไม่ตรงสาย พยายามนึกถึงประสบการณ์ในช่วงสมัยเรียนที่อาจจะเป็นประโยชน์กับตำแหน่งนั้นและนำเสนอออกมาใน resume และหากมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ลองแสดงให้เห็นว่าเราเป็นน้ำไม่เต็มแก้วและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

 

Q: เพิ่งเริ่มงานแต่รู้สึกว่างานนี้ไม่ใช่สำหรับเรา ควรไปต่อหรือพอแค่นี้

A: ต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าอะไรที่รู้สึกไม่ใช่ แล้วเราสามารถแก้ไขให้มันดีขึ้นได้ไหม เพราะไม่มีอะไรการันตีว่าการลาออกจะไม่เป็นการหนีเสือปะจระเข้ ดังนั้นหากยังมีความลังเลอยู่ ให้เราตั้งเป้าหมายเป็นระยะเวลาว่าจะอยู่ต่อจบครบกี่เดือนค่อยตัดสินใจอีกที เพื่อให้เรามีเวลาทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น แต่หากแน่ใจแล้วว่าที่นี่ไม่ใช่แน่ ๆ ก็สามารถแจ้งลาออกกับ HR ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอผ่านโปร

 

Q: หาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่ามี passion กับอะไร ควรทำอย่างไรดี

A: passion มักจะเกิดจากการลงมือทำ ดังนั้นการลงมือทำเยอะ ๆ พร้อมถามตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไรอาจช่วยให้เราค้นพบตัวเองได้ รวมถึงถามความคิดเห็นของคนรอบตัวว่าเห็นว่าเราดูมีจุดเด่นด้านไหน สิ่งที่เราทำได้ดีอาจจะเป็น passion ของเราก็ได้

 

Q: ทำงานอะไรก็ได้ไปก่อนหรือรองานที่ใช่

A: ถ้ามีทางบ้านคอย support เรื่องเงิน หรือไม่ได้กดดันเรื่องงานหรือเงินมากนัก ก็อาจจะรอให้ได้งานที่ใช่ แต่หากมีภาระทางการเงิน หรือรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง ก็อาจจะลองทำงานที่อาจจะไม่ได้ชอบนักไปก่อนก็ได้ ถือว่าเป็นการค้นหาตัวเองไปในตัวว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร และอาจจะพบว่างานที่เราคิดว่าไม่ชอบ เมื่อได้ลองทำ หรืออยู่ในสถานที่ทำงานที่มีคนคอย support ก็อาจจะได้ค้นพบตัวตนว่าเราก็สามารถทำงานนี้ได้ ก็เป็นได้