6 วิธีกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร

September 27, 2021 HR Insight
6 วิธีกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากในยุคนี้ เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ หลายองค์กรก็ต่างก็มุ่งหวังที่จะผลักดันวัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว เรามาดูกันว่าอะไรที่องค์กรทำแล้วอาจเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์โดยไม่รู้ตัว และมีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในองค์กร 

 

เข้าใจ องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ 

องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์มีสามอย่างด้วยกันคือ ความรู้ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และแรงจูงใจ โดยองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็คือแรงจูงใจ เพราะหากไม่มีแรงจูงใจ แม้จะมีความรู้หรือทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ดีแค่ไหนก็จะไม่เกิดการต่อยอดและลงมือทำ  


 

แรงจูงใจนั้นแบ่งออกเป็นสองแบบคือ แรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) เช่น เงิน เดดไลน์ ตำแหน่ง ชื่อเสียง และแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) เช่น ความรักในงาน แพสชัน ความภูมิใจ ความสุข  

ส่วนใหญ่องค์กรมักใช้วิธีการให้รางวัลหรือเงินในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แต่เชื่อหรือไม่ว่าแรงจูงใจภายนอกเหล่านั้นไม่สามารถช่วยอะไรได้มากเท่าไร เพราะแม้ว่าเงินจะเป็นแรงกระตุ้นให้คนลงมือทำได้ แต่เงินไม่สามารถทำให้คนรักในงานที่ทำหรือมองว่างานๆ นั้นน่าสนใจได้ ดังนั้นเมื่อไม่ได้มีแพสชันจากข้างในก็ยากที่จะได้งานที่มีความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัดประกวดโครงการภายในองค์กร แม้จะมีเงินรางวัลให้ แต่คุณก็อาจพบว่ามีคนสนใจร่วมประกวดน้อย อีกทั้งผลงานที่ได้ก็อาจไม่ได้แปลกใหม่หรือน่าสนใจเท่าที่คาดหวัง ในทางกลับกันแม้จะไม่มีเงินอัดฉีดแต่หากคุณให้พนักงานของคุณได้ทำโครงการที่เขาชอบและสนใจ พนักงานของคุณก็จะทุ่มเทอย่างเต็มที่และผลิตชิ้นงานที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพมากกว่า ดังนั้นในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจะใช้แรงจูงใจภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ ควรใช้ทั้งสองแบบควบคู่กัน  

 

บริหารงานอย่างไรให้เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร 


  1. มอบงานที่ท้าทาย 
    ข้อนี้เป็นศิลปะในการบริหารคนของหัวหน้าเลย เพราะในการที่จะสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หัวหน้าจะต้องรู้รายละเอียดของทีมงานแต่ละคนว่ามีความสนใจหรือมีแพสชันในด้านใด เพื่อหางานที่สนุกและท้าทายให้เขาทำ หากหัวหน้าสามารถจับคู่งานกับคนให้เหมาะสมก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากยิ่งขึ้น  

    ข้อผิดพลาดที่มักพบบ่อยเมื่อเจองานที่เร่งด่วนหัวหน้ามักจะจับคู่งานกับคนที่ว่างโดยมองข้ามความสนใจและความถนัดของทีมงาน  


  2. ให้อิสระในการทำงาน 
    การจะคิดค้นผลงานที่สร้างสรรค์ได้ อย่างแรกคนทำงานต้องมี job autonomy หรืออิสระในการทำงานและตัดสินใจได้เองก่อน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหรือขั้นตอนการทำงาน หัวหน้าเพียงแค่ให้เป้าหมายที่ชัดเจนก็พอ การทำแบบนี้จะทำให้ทีมงานรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของงานและมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น แม้บางครั้งวิธีการทำงานที่เขาเลือกเองอาจเจออุปสรรคหรือปัญหา แต่เขาก็จะได้ฝึกนำความรู้และความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการคิดพลิกแพลงแก้ปัญหา 

    ข้อผิดพลาดที่มักพบบ่อยหัวหน้ามักไม่ได้ให้อิสระการทำงานที่แท้จริงโดยมักตีกรอบการทำงานไว้แล้ว และรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าการทำงานภายใต้กรอบแบบนี้จะเจอปัญหาอะไรแต่ให้ทีมงานแบกความเสี่ยงในการแก้ปัญหาไว้เอง นอกจากนี้การที่หัวหน้ามักเปลี่ยนเป้าหมายบ่อยเกินไป ทำให้ถึงแม้จะมีอิสระในการทำงาน แต่การทำงานที่ไร้ทิศทางก็ทำให้สับสนและไม่เอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์   


  3. จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ  
    ทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมก็คือเงินและเวลา ดังนั้นจึงสำคัญมากที่หัวหน้าจะต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างชาญฉลาดเพราะหากไม่จัดสรรให้ดีแล้วก็สามารถทำลายความคิดสร้างสรรค์ได้เลย โดยเฉพาะเวลาซึ่งเป็นข้อกดดันสำคัญสำหรับความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีช่วงตั้งไข่และช่วงเวลาให้ได้ตกผลึก อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ว่างานเร่งทุกงานจะทำลายความคิดสร้างสรรค์เสมอไปหากเป็นงานที่ทำให้ทีมงานรู้สึกท้าทาย  

    ข้อผิดพลาดที่มักพบบ่อยหัวหน้ามักวางแผนโปรเจกต์โดยไม่ได้เผื่อเวลาสำหรับกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ การกำหนดเดดไลน์ที่เร็วเกินไปและขัดกับความเป็นจริงจะทำให้ทีมงานรู้สึกเบื่อหน่ายและหมดไฟ ในส่วนของการจัดสรรทรัพยากรหัวหน้ามักจะใช้วิธีการประณีประนอมพยายามเฉลี่ยทรัพยากรให้ทุกโปรเจกต์ ทำให้บางโปรเจกต์มีค่าใช้จ่ายที่ตึงมือเกินไปส่งผลให้แทนที่ทีมงานจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการ แต่กลับต้องมาคิดวิธีหาทรัพยากรเพิ่มแทน  


  4. สร้างทีมที่มีความหลากหลาย 
    ความคิดสร้างสรรค์คือการนำความคิดที่หลากหลายมาต่อยอดและเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดเป็นวิธีใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากกรอบเดิมๆ ดังนั้นการที่จะมีความคิดที่หลากหลายก็ต้องมีทีมงานที่มีแบ็คกราวด์ที่หลากหลายด้วย ซึ่งการที่จะบริหารความหลากหลายหัวหน้าจะต้องทำให้ทุกคนเชื่อในเป้าหมายเดียวกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน และเคารพและเชื่อในฝีมือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนมีแรงจูงใจที่จะทำงานร่วมกัน และคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับหัวหน้าในการหาคนที่แตกต่างแต่เคมีตรงกันรวมเข้าไว้ด้วยกัน 

    ข้อผิดพลาดที่มักพบบ่อย: ในการสรรหาเรามักเผลอที่จะเลือกคนแบบเดียวกันเข้ามา เพราะคิดว่าน่าจะทำงานด้วยกันได้ง่าย ไม่ขัดแย้ง โดยข้อดีของการได้คนที่เหมือนกันมาทำงานคือสามารถช่วยให้การทำงานเร็วขึ้นเพราะคิดเห็นไปในทางเดียวกันหมด แต่มีข้อเสียคือไม่ได้ให้ทำระดับความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในทีมสูงขึ้นเลยเนื่องจากขาดคนที่มีแบ็คกราวด์ต่างกันมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


  5. ให้กำลังใจและคำชม 
    ทีมงานจะมีแรงจูงใจในการทำงานหากเขารู้สึกว่างานที่เขาทำมีความหมาย น่าภูมิใจ หรือ สามารถสร้างประโยชน์ให้องค์กรและสังคม เชื่อหรือไม่ว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จด้านการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ไม่ได้ให้รางวัลเป็นตัวเงินบ่อยครั้งนัก แต่สิ่งที่ให้ตลอดเวลาคือ recognition และคำชม ซึ่งสามารถให้ก่อนที่จะรู้ผลลัพธ์ของงานนั้นๆ ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องรอฟีดแบคจากลูกค้าหรือยอดขาย ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ทีมงานรู้สึกว่ามีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน กล้าทดลองและริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ซึ่งช่วยยกระดับความคิดสร้างสรรค์ของทีมให้มีมากยิ่งขึ้น 

    ข้อผิดพลาดที่มักพบบ่อยหัวหน้ามักงานยุ่งจนลืมให้คำชม และไม่ได้ให้กำลังใจเมื่อเกิดความล้มเหลว เมื่อทีมงานเสนอไอเดียใหม่ แทนที่จะเลือกชื่นชมไอเดียที่ดีกลับใช้เวลาไปกับการบ่นและติไอเดียที่ไม่เวิร์คซึ่งทำให้ทีมงานเสียกำลังใจและไม่กล้าเสนอคิดริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ  


  6. การสนับสนุนที่ดีจากองค์กร 
    แรงสนับสนุนจากหัวหน้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้นำองค์กรจะต้องสร้างวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น องค์กรต้องโปร่งใสไม่มีเรื่องการเมือง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างกัน  ขณะเดียวกันก็ให้รางวัลที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้มีแรงจูงใจทำงานที่สร้างสรรค์ต่อไป 

    ข้อผิดพลาดที่มักพบบ่อย: ปัญหาไซโลเป็นอุปสรรคสำคัญที่หัวหน้าและผู้นำองค์กรมักมองข้ามที่จะแก้ปัญหาและเมื่อปล่อยนานวันปัญหานี้ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้องค์กรไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้สำเร็จ 

อ้างอิง Harvard Business Review: How to Kill Creativity