คนทำงานมองอย่างไร เมื่อ AI กำลังเข้ามา

October 23, 2023 HR Insight
คนทำงานมองอย่างไร เมื่อ AI กำลังเข้ามา

นับเป็นปีที่ 4 แล้วที่อเด็คโก้ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นคนทำงานจากทั่วโลกเพื่อทำความเข้าใจ insight ของคนทำงานต่อโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปีนี้เราไม่พลาดที่จะโฟกัสไปที่เทคโนโลยีที่มาแรงและมี impact ต่อการทำงานในอนาคตมากที่สุด นั่นคือ AI และ Generative AI อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างครบถ้วน ผลสำรวจจึงยังคงครอบคลุมประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ความต้องการก้าวหน้าในอาชีพ การพัฒนาทักษะ และ well-being ของคนทำงาน จะเป็นอย่างไรลองมาดูกัน

ใคร ๆ ก็ใช้ Generative AI แต่บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มี training เรื่องนี้ให้

ผลสำรวจพบว่าคนทำงานมากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 70% ใช้ Generative AI เช่น ChatGPT และ Google Bard มาช่วยในการทำงานแต่ละวัน แต่พบว่ามีไม่ถึงครึ่งที่ได้รับคู่มือหรือคำแนะนำในการใช้งานจากบริษัท หรือในบางบริษัทก็ให้คู่มือการใช้งานกับตำแหน่ง Manager ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้คนทำงานกว่า 57% บอกว่า พวกเขาต้องการให้บริษัทช่วยจัด training ในเรื่องนี้ให้ เพื่อที่จะได้เข้าใจความสามารถที่แท้จริงของเครื่องมือและมีความชัดเจนมากขึ้นในการใช้งานอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ระดับการศึกษาก็ส่งผลต่อการใช้ GenAI โดยพบว่าคนที่เรียนจบปริญญาใช้เครื่องมือเหล่านี้มากกว่าคนที่เรียนจบระดับมัธยมฯ คิดเป็นจำนวน 76% ต่อ 51%

 
Adoption of AI by countries


ความสัมพันธ์ของเราและ
GenAI เพิ่งอยู่ในช่วงฮันนีมูน

หลาย ๆ บริษัทยังไม่ได้เตรียมแผนสำหรับการใช้งาน GenAI ในอนาคต หรือเรียกได้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับ GenAI ของทั้งคนทำงานและบริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ปัจจุบันมี 62% ของคนทำงานมอง GenAI ในด้านบวก และมีเพียง 7% ที่คิดว่า GenAI จะเข้ามาแย่งงานของตัวเอง โดยคน 60% ที่มอง GenAI ในด้านบวกคาดหวังให้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยลดเวลาในการทำงานโดยเฉพาะงาน admin และ 54% คาดหวังให้ GenAI ช่วยให้ตัวเองได้มีโอกาสทำอาชีพที่ไม่เคยทำมาก่อน

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่า ในอนาคตจะมีงานกว่า 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลกที่อาจถูก AI เข้ามาเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หน้าที่สำคัญของบริษัทในตอนนี้จึงเป็นการช่วยพนักงานเตรียมตัว upskill ต่าง ๆ ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

 
Adoption of AI by industries


ทักษะของมนุษย์ยังคงพิเศษมากกว่า
AI

แม้ว่า GenAI ดูเหมือนจะทดแทน hard skill บางทักษะของมนุษย์ได้ แต่ 61% ของคนทำงานเชื่อว่าทักษะในการทำงานของมนุษย์ยังเหนือกว่า GenAI โดยเฉพาะ soft skill เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) และทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ดังนั้นการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้แข็งแกร่งจะยิ่งเสริมจุดแข็งของมนุษย์ที่ AI ยังไม่สามารถทดแทนได้

 

 

 

“The world of work is shifting from a jobs-based to a skills-based economy, and this shift is being accelerated by the rapid adoption of Generative AI.”

 

- Denis Machuel, Chief Executive Officer of the Adecco Group

 

บริษัทที่ช่วย upskill ให้พนักงานได้ จะเป็นบริษัทที่น่าทำงานต่อ

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา ผลสำรวจในปีนี้พบว่ามีคนทำงานที่วางแผนว่าจะทำงานต่อกับบริษัทเดิมในอีก 12 เดือนข้างหน้ามากกว่าปีที่แล้ว 12% หรือเพิ่มขึ้นจาก 61% เป็น 73% โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นจากการได้เข้าถึง training ต่าง ๆ ของบริษัทและมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพมากกว่าปีที่ผ่านมา หรือเรียกได้ว่าบริษัทบางส่วนเริ่มจับทางได้ว่า การช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้และเติบโตช่วยรักษาพนักงานได้ดียิ่งกว่าการขึ้นเงินเดือน ส่วนเงินเดือนจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการดึงดูดพนักงานใหม่ซะมากกว่า

ดังนั้นเทคนิคการรักษาคนทำงานในมุมของบริษัทในปีนี้ จึงควรเป็นการใช้นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้และความก้าวหน้า เช่น การจัด training ที่ตรงกับความต้องการ และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้สมัครงานในตำแหน่งอื่น ๆ ในบริษัทที่อยากลอง หรือที่เรียกว่า internal mobility

 
Staying in current jobs 2023


หนึ่งทักษะใช้ทำงานได้มากกว่าหนึ่งงาน

56% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าทักษะที่พวกเขามีจะสามารถใช้ทำงานในตำแหน่งอื่น ๆ หรือในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ โดยกลุ่มที่มีความมั่นใจมากที่สุดคือคนทำงานด้านเทคโนโลยี คิดเป็น 61% ตามมาด้วยพนักงานออฟฟิศ (white collar) คิดเป็น 57% และแรงงาน (blue collar) คิดเป็น 49% สอดคล้องกับโอกาสที่มากขึ้นในการทำงานที่ไม่ตรงสายจากการจ้างงานในรูปแบบ skill-based hiring ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในฝั่งนายจ้าง โดยพิจารณาผู้สมัครที่เหมาะสมจากทักษะและความสามารถที่แท้จริงมากกว่าการศึกษาหรือประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา

ความรู้สึกหมดไฟซุกซ่อนในคนทำงานจำนวนมาก

65% ของคนทำงานระบุว่าพวกเขาเคยหรือกำลังอยู่กับความรู้สึกหมดไฟในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่หมดไฟมากที่สุดคือพนักงานระดับ Manager โดยมีสาเหตุของการ burn out ต่างจากกลุ่มอื่น นั่นคือ 44% บอกว่าเกิดจากการมีคนในทีมโดน lay off ซึ่งทำให้งานจำนวนหนึ่งถูกโยนมาที่พวกเขา ทำให้รู้สึกเหนื่อยกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น นอกจากนี้เมื่อพูดถึงเรื่อง well-being คนทำงาน 78% บอกว่ารู้สึกไม่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้วันลาพักร้อนจนหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของความเหนื่อย ความเครียด และการตัดสินใจย้ายงาน การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงานจึงยังคงเป็นงานสำคัญของบริษัทเสมอมาและตลอดไป

 

ผลสำรวจทั้งหมดทำให้เราได้เห็นว่าเทรนด์การลาออกครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมาได้ผ่านพ้นไปแล้ว และความต้องการที่ดูเหมือนจุดร่วมของคนทำงานทั่วโลกในปีนี้คือความต้องการเรียนรู้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ และพัฒนาทักษะให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หากต้องการรู้อย่างละเอียด คุณสามารถดาวน์โหลดและอ่านผลสำรวจ What's Working? Navigating the AI Revolution and the Shifting Future of Work ฉบับเต็มได้ที่นี่

 

-----

เกี่ยวกับการสำรวจ

ผู้ตอบแบบสำรวจประกอบด้วยคนทำงานจาก 23 ประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 30,000 คน ที่มีความแตกต่างความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ช่วงอายุ ระดับการศึกษา ระดับตำแหน่ง และอุตสาหกรรมที่สังกัด เป็นต้น โดยเป็นการสำรวจระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2566