ทำความรู้จักช่างอาคาร หน้าที่สำคัญที่ทุกองค์กรควรมี

April 30, 2024 HR Insight
ทำความรู้จักช่างอาคาร หน้าที่สำคัญที่ทุกองค์กรควรมี

เมื่อความปลอดภัยของพนักงานคือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ช่างอาคารที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ดูแล และซ่อมบำรุงระบบต่าง ๆ ภายในอาคารให้ปลอดภัยและใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ จึงเป็นคนสำคัญที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องมี มาลองดูรายละเอียดกันว่าช่างอาคารมีหน้าที่อะไรบ้าง และช่างอาคารที่ดีมีคุณสมบัติอย่างไร

ระบบต่าง ๆ ที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของช่างประจำอาคาร

ช่างประจำอาคารมักมีความสามารถในการดูแลและซ่อมแซมระบบพื้นฐานของอาคาร บางครั้งจึงอาจเรียกว่าช่างซ่อมบำรุง แต่หากเป็นงานที่มีความซับซ้อน เช่น การวางระบบใหม่ ซึ่งช่างอาคารบางคนอาจไม่มีประสบการณ์มาก่อน องค์กรก็จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วยอีกแรง เช่น ช่างไฟฟ้าอาคาร ช่างประปา ช่างโซล่าร์เซลล์ หรือ จป.วิชาชีพ (ดูแลเรื่องความปลอดภัย) เป็นต้น


ระบบต่าง ๆ ที่ช่างอาคารสามารถทำได้ ได้แก่

  • ระบบไฟฟ้าและไฟส่องสว่าง เช่น ระบบสายไฟ ระบบสวิตซ์ ระบบสายไฟอ่อนสายไฟแรง หม้อแปลงไฟฟ้า ห้องเครื่องไฟฟ้า
  • ห้องน้ำและระบบประปา เช่น ชักโครก ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบท่อน้ำประปาภายใน ระบบปั๊มน้ำ
  • ระบบปรับอากาศ เช่น แอร์ ระบบถ่ายเทอากาศ
  • ระบบความปลอดภัย เช่น ระบบดับเพลิง กล้องวงจรปิด
  • ระบบลิฟต์ และเครื่องกลต่าง ๆ
  • ระบบทัศนูปกรณ์ (audio and visual)
  • พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ประตู หน้าต่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ 

หน้าที่รับผิดชอบของช่างประจำอาคาร

1.ติดตั้งเครื่องใช้และระบบต่าง ๆ

เมื่อองค์กรต้องการปรับปรุงระบบอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ หรือซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ เข้ามาในออฟฟิศ ช่างเทคนิคประจำอาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบทำความเข้าใจและติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ โดยไม่เพียงแค่ติดตั้งเท่านั้น ช่างเทคนิคประจำอาคารจะช่วยปรับสิ่งใหม่เหล่านี้ให้เข้ากับสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้วให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงทดสอบว่าสามารถใช้งานได้จริง ไม่มีอันตราย และให้คำแนะนำการใช้งานกับพนักงาน

2.บำรุงรักษาเครื่องใช้และระบบต่าง ๆ

บางครั้งช่างอาคารยังถูกเรียกว่าเป็นช่างซ่อมบำรุงอาคาร เพราะการบำรุงรักษาเครื่องใช้และระบบต่าง ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายเป็นงานที่ช่างอาคารต้องทำเป็นประจำ องค์กรสามารถมอบหมายให้ช่างซ่อมบำรุงอาคารวางแผนตารางการตรวจสอบเครื่องใช้และระบบต่าง ๆ เป็นประจำ พร้อมเขียนรายงานหลังจากตรวจเช็ก ข้อดีของการตรวจเช็กเป็นประจำจะช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ มีอายุใช้งานนานขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของทดแทน และทำให้พนักงานเกิดความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น

3.ซ่อมแซมเครื่องใช้และระบบต่าง ๆ

เมื่อมีเครื่องใช้ชำรุดเล็กน้อย การซ่อมแซมมักเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ช่างซ่อมบำรุงอาคารจึงเป็นคนสำคัญที่จะช่วยซ่อมแซมของใช้ต่าง ๆ ตามคำขอขององค์กร ช่างซ่อมบำรุงอาคารจะเป็นคนที่มองออกว่าปัญหาอยู่ตรงไหนและต้องแก้ไขอย่างไร รวมถึงมีหน้าที่จัดหาอะไหล่และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมซ่อมแซม โดยหลังจากซ่อมแซม ช่างซ่อมบำรุงอาคารยังมีหน้าที่ให้คำแนะนำในการใช้งานอุปกรณ์เพื่อผู้ใช้สามารถใช้ใช้งานได้อย่างถูกต้องต่อไป

4.ตรวจเช็กระบบความปลอดภัยในอาคาร

ช่างอาคารมักทำงานร่วมกับทีม facility ในองค์กร เพื่อตรวจเช็กความพร้อมใช้งานของระบบ security ในอาคาร ซึ่งถือเป็นระบบสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เช่น ทางหนีไฟ กริ่งฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ประตูทางเข้าออก และอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบเหล่านี้จะสามารถใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉินและเป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมาย

คุณสมบัติของช่างประจำอาคารที่ดี

ช่างประจำอาคารในประเทศไทยมีวุฒิการศึกษาที่หลากหลาย ตั้งแต่ ปวช. ปวส. ไปจนถึงปริญญาตรี ซึ่งวุฒิการศึกษาเหล่านี้เพียงพอที่จะทำงานได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการช่างที่มีความเก่งเฉพาะด้าน องค์กรอาจมองหาช่างที่มีใบรับรองการผ่านการทดสอบเฉพาะด้าน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมั่นใจในความสามารถได้มากยิ่งขึ้น ส่วนคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ช่างอาคารที่ดีควรมี มีดังนี้

1.Hard skills หรือความชำนาญด้านอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ

ช่างอาคารควรมีความเชี่ยวชาญในระบบไฟฟ้า เครื่องกล และประปา ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานของอาคาร โดยสามารถใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ทำงานได้อย่างชำนาญ รวมถึงมีความรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์ในเบื้องต้น

2.Soft skills ต่าง ๆ

ช่างอาคารควรมีทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ของผู้ใช้งานได้อย่างเข้าใจ สามารถอธิบายขั้นตอนการซ่อมแซมให้เห็นความยากง่ายโดยคร่าว ๆ ได้ นอกจากนี้ด้วยรูปแบบการทำงานที่มักมีงานเข้ามาแบบเร่งด่วนและควบคุมตารางเวลาทำงานไม่ได้ ช่างอาคารจึงควรเป็นคนที่สามารถจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ จัดการเวลาได้ และมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง

3.มีใจรักบริการ

ช่างอาคารถือเป็นอาชีพหนึ่งในสายงานบริการ ดังนั้นการมีใจรักงานบริการและมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างมาก ช่างอาคารควรเป็นคนสุภาพ มีความน่าเชื่อถือ และพยายามช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่เสมอเพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่น่าพึงพอใจมากที่สุด

4.มีความพร้อมด้านร่างกาย

ช่างอาคารมักจำเป็นต้องออกแรงในการทำงาน ปีนป่าย ยกของหนัก หรืออื่น ๆ ช่างอาคารที่พร้อมทำงานจึงจำเป็นต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

5.เรียนรู้เร็ว

การติดตั้งกลไก เครื่องใช้ หรือระบบใหม่ ๆ ในบางครั้งอาจเป็นสิ่งใหม่ซึ่งช่างอาคารเองก็ต้องเรียนรู้จากคู่มือและหาข้อมูลเพิ่มเติม ช่างอาคารที่ดีจึงควรเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ

6.มีทัศนคติว่าความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญอันดับ 1

ความละเอียดรอบครอบเป็นคุณสมบัติสำคัญอันดับ 1 ของคนเป็นช่างอาคารยิ่งกว่าทักษะใด ๆ เพราะความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจนำมาสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานได้ รวมถึงคนเป็นช่างเองก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย

 

การมีช่างประจำอาคารที่ดีจะช่วยให้คุณสบายใจได้ว่าการใช้ชีวิตในสถานที่ทำงานจะมีความปลอดภัยและเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ปัญหาเหล่านั้นก็จะถูกแก้ไขในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเมื่อเครื่องใช้และระบบต่าง ๆ สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานนาน องค์กรก็จะประหยัดได้มากขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

 

-----

หากองค์กรของคุณกำลังมองหาช่างอาคารมืออาชีพ อเด็คโก้มีบริการจัดหาจัดจ้างและบริหารช่างอาคารในหลากหลายความเชี่ยวชาญ ทั้งในรูปแบบสัญญาจ้างทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้คุณหมดกังวลเรื่องช่างทิ้งงาน พร้อมรับรองคุณภาพการทำงานระดับมืออาชีพ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่