“One Size Doesn’t Fit All” เพราะคนแต่ละ Generation ชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดีในรูปแบบที่ต่างกัน ระบบ L&D ขององค์กรจึงไม่ควรยึดติดกับรูปแบบเดียว
การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทำให้คนแต่ละ Generation คุ้ยเคยกับการเรียนรู้ในรูปแบบที่ต่างกันไปด้วย จึงเป็นความท้าทายของทีม training หรือ HRD ขององค์กรที่จะต้องออกแบบระบบการเรียนรู้ (L&D) ให้ตอบโจทย์คนทุกรุ่นในองค์กรให้มากที่สุด
Gen Z ชอบ microlearning
กลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุดในที่ทำงานที่เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว และคุ้นเคยกับการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ในการเรียนรู้ด้วยตัวเองในชีวิตประจำวัน พวกเขามักชอบเรียนรู้ผ่านวิดีโอสั้นบน TikTok และ YouTube ตามความสนใจของตัวเอง
ในการออกแบบการเรียนรู้สำหรับคนกลุ่มนี้ จึงควรล้อไปกับธรรมชาติการเรียนรู้ด้วยตัวเองของพวกเขา เช่น การซอยเนื้อหาให้เป็น module เล็ก ๆ และการมีวิดีโอรวมอยู่ในบทเรียน รวมถึงเลือก platform การเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายเพียงการกดไม่กี่ครั้ง
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า Gen Z (และ Gen Y) เป็นคนสมาธิสั้น ความเชื่อนี้อาจถูกเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้วคนรุ่นนี้สามารถมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ ได้ไม่แพ้คนรุ่นอื่น เพียงแต่ต้องเป็นสิ่งที่ตรงกับความสนใจของพวกเขาและต้องดึงความสนใจให้ได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
คนรุ่นนี้ยังคาดหวัง training แบบจริงจังจากองค์กร โดยมีผลสำรวจที่พบว่า ถ้าให้ Gen Z เลือกระหว่างงานที่ได้พัฒนาตัวเองกับงานในองค์กรที่มีเป้าหมายตรงกัน พวกเขาจะให้ความสำคัญกับงานที่ได้พัฒนาตัวเองมากกว่า และคาดหวังให้องค์กรจัดหา training ต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตให้อย่างสม่ำเสมอ
หรือเรียกได้ว่า Gen Z (และ Gen Y) จะเสียความ loyalty ต่อองค์กรได้ง่าย หากรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังมีสถิติอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น คนรุ่นนี้ถึง 78% ยกให้ ‘ครู’ เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ที่จะช่วยให้การเรียนรู้ประสบความสำเร็จ 60% ชอบเรียนรู้จากการลงมือทำ และแม้ว่าจะชอบเรียนคนเดียวเป็นหลัก แต่ 64% ก็ยังชอบที่ได้เรียนรู้จากการถกประเด็นกับเพื่อน
ในทางตรงกันข้าม มีรูปแบบที่อาจไม่ค่อยโดนใจคนกลุ่มนี้นัก ได้แก่ การอ่าน material เช่น สไลด์หรือเอกสารประกอบ โดยมีเพียง 38% ที่ชอบเรียนรู้ในรูปแบบนี้ รวมถึงการฟังข้อมูลนานๆ เช่น การฟังบรรยาย โดยมีเพียง 12% ที่ชอบเรียนรู้ในรูปแบบนี้
Gen Y ชอบมีเพื่อนเรียน
Gen Y หรือ Millennials เติบโตมากับการพัฒนาของ social media และมีพ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนของพวกเขาอย่างใกล้ชิด (helicopter parents)
คนรุ่นนี้จึงชอบเรียนร่วมกับเพื่อน และชอบที่จะเรียนในรูปแบบที่มีการโต้ตอบและมีความตื่นเต้น เช่น การเรียนผ่านเกม (gamification) หรือแม้กระทั่งชอบการเรียนรู้โดยที่มีเพื่อนเป็นคนสอน
พวกเขาคาดหวังให้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ส่วนจะเป็นออนไลน์หรือ face-to-face ก็สามารถเรียนได้หมด คนรุ่นนี้ยังเป็นอีกรุ่นที่ชอบ bite-size learning เพราะโฟกัสกับเนื้อหาได้ง่ายกว่าและไม่ต้องใช้สมาธิมากนัก
นอกจากนี้ ด้วยความที่ Gen Y กำลังอยู่ในช่วงอายุของการสร้างความมั่นคง สร้างครอบครัว หรือแม้กระทั่งเป็นเสาหลักในการดูแลทุกคนในครอบครัว ซึ่งทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย คนรุ่นนี้จึงโฟกัสการกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก โดย 87% จัดอันดับให้การพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้มีตำแหน่งสูงขึ้นและมีเงินเดือนสูงขึ้นเป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ
หรือเรียกได้ว่า เป้าหมายในการเรียนรู้ของคนรุ่นนี้มีความชัดเจน นั่นคือการเรียนทักษะที่ส่งผลดีต่องานของตัวเองนั่นเอง
Gen X ชอบการเรียนแบบ lecture
คนรุ่นนี้มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองในตลาดแรงงาน ห่างจากอันดับหนึ่งอย่าง Gen Y ไม่มาก จึงมีโอกาสที่จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบางบริษัทเช่นกัน
คนรุ่นนี้เติบโตมากับ working parents หรือพ่อแม่ที่ออกไปทำงาน จึงไม่ชอบความเจ้ากี้เจ้าการ และชินกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อพูดถึงรูปแบบ L&D ที่ชอบ คน Gen X จึงมีจุดที่คล้ายกับ Gen Z คือความต้องการวางแผนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
คน Gen X เติบโตมากับห้องเรียนแบบคลาสสิก จึงคุ้นเคยและมักชอบการเรียนในรูปแบบ lecture base ที่มีโครงสร้างชัดเจน และเรียนรู้ผ่านการรับข้อมูลมากกว่าการลงมือทำ
นอกจากนี้ จากการที่คนรุ่นนี้ต้องการความมั่นคงในอาชีพ จึงต้องการเรียนในเนื้อหาที่ช่วย upskill และ reskill ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง หรือชอบเรียนในสิ่งที่นำไปใช้ได้จริงมากกว่าเรื่องทฤษฎี และต้องการรู้ว่า “เรียนแล้วได้อะไร”
ข้อดีของ Gen X คือแม้พวกเขาจะไม่ได้โตมาพร้อมเทคโนโลยีแต่พวกเขาก็กล้าลอง และไม่กลัวที่จะเรียนรู้ แค่ขอให้เป็นระบบที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก คนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะฝึกใช้เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้งานได้เอง
Baby Boomers อยากเรียนแต่ไม่ค่อยมีโอกาส
คนมักเข้าใจผิดว่า Baby Boomers อยู่ในวัยเตรียมเกษียณและไม่อยากเรียนรู้อะไรแล้ว แต่จริง ๆ แล้วมีผลสำรวจพบว่า 74% ของคนอายุ 45-74 ปี (รวม Gen X บางส่วน) มองว่างานที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่บ้างในบางครั้งก็ถือเป็นงานที่ดี
ด้วยความเข้าใจผิด คนวัยนี้จึงมักไม่ค่อยมีโอกาสได้ร่วม training กับองค์กรมากนัก อ้างอิงจากผลสำรวจโดย U.S. Department of Labor ที่พบว่า ในขณะที่คนอายุ 25-34 ปี ได้เข้าร่วม training ประมาณ 37 ชั่วโมงต่อปี คนอายุ 55 ปีขึ้นไป ได้เข้าร่วม training เพียง 9 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น
พื้นฐานของคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษาดี เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาและ ประกาศนียบัตร คนรุ่นนี้ชอบเรียนรู้จากคนที่ตัวเองชื่นชมที่มองว่าเป็นตัวจริงในด้านนั้น ๆ และอยากเรียนรู้กับสถาบันที่มีชื่อเสียง พวกเขาเป็นผู้เรียนที่ดีที่องค์กรสามารถกำหนดได้เลยว่า อยากให้พวกเขาเรียนเรื่องอะไรและเรียนตอนไหน พวกเขาจะทำตามแผนที่องค์กรกำหนดให้
ส่วนเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ Baby Boomers ชอบเรียน lecture base เช่นเดียวกับ Gen X แต่ชอบ face-to-face มากกว่าออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การทำงานก็ช่วยทำให้หลายคนเริ่มคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์มากขึ้น
พวกเขาชอบการแข่งขันเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่จริงจังมาก และชอบที่เทรนเนอร์เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ตอบคำถามเพื่อที่จะได้โชว์ความรู้หรือแชร์ประสบการณ์ที่พวกเขาสั่งสมมานานหลายปี
นอกจากนี้ยังมีสถิติที่เราอาจคาดไม่ถึงโดยเป็นสถิติจาก LinkedIn ที่ยังพบว่า Python Essential Training หรือคอร์สการเขียนโปรแกรม ติด Top 4 คอร์สที่ได้รับความสนใจจากรุ่นนี้มากที่สุด แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นนี้ไม่ใช่แค่คนเตรียมเกษียณอย่างที่เราเข้าใจ ในบางครั้งพวกเขายังชอบที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ต่างจากคนรุ่นอื่น
Tips อื่น ๆ เพื่อการออกแบบ training ให้โดนใจคน
- ไม่ใช่แค่ทีม training ที่ไม่รู้ว่าควรออกแบบการเรียนรู้อย่างไร ผู้เรียนบางคนก็ไม่รู้เช่นกันว่าตัวเองมีเป้าหมายในการเรียนอย่างไร เพราะไม่มีเป้าหมายในการทำงาน และยังไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบการเรียนในรูปแบบไหนมากกว่ากัน ดังนั้นก่อนการวางแผน training ลองเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ถามตัวเองก่อน และนำคำตอบที่ได้มาใช้ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน
- การมี resource หลากหลายรูปแบบที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ไม่ว่าจะเป็น บทความ podcast คอร์สเรียนแบบมีตารางเวลา คอร์สเรียนแบบกำหนดเวลาเอง และอื่น ๆ โดยรวมทุกอย่างไว้ในที่เดียวกัน
- อย่าลืม track ความคืบหน้าของการเรียนรู้ และแสดงให้เห็นว่าองค์กรเห็นคุณค่าความพยายามเรียนรู้ของทุก ๆ คน
แม้เรื่อง generation อาจดูเหมือนการเหมารวม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีลักษณะแบบเดียวกัน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นแนวความชอบหรือพฤติกรรมโดยคร่าว ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อพนักงานรู้สึกอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อทั้งตัวพนักงานและองค์กรแบบ win-win ทั้งสองฝ่าย
อ้างอิง:
https://www.go1.com/blog/bridging-the-generational-divide-to-create-sustainable-ld-roles