ตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรในปีที่ผ่านมา?

July 19, 2023 HR Insight
ตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรในปีที่ผ่านมา?

ในบทความตอนที่แล้ว เราได้รู้คำตอบกันไปแล้วว่า คนไทยชอบไปทำงานที่ไหน? คนที่ไหนชอบมาทำงานที่ไทย? พร้อมกับได้เห็นเทรนด์การเคลื่อนย้ายการทำงานที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนย้อนกลับมาดูการเคลื่อนย้ายคนทำงานที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยกันบ้าง ดูกันชัด ๆ ว่าในปีที่ผ่านมามีอุตสาหกรรมไหนที่มาแรงจนต้องการคนทำงานเพิ่มขึ้น มีทักษะอะไรบ้างที่บริษัทต่างมองหาในตัวผู้สมัคร และเทรนด์ remote working ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
  

บทความนี้เป็นการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลอ้างอิงจากรีพอร์ตของ LinkedIn: Thailand Talent & Skills Trend Mar 2023 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งาน LinkedIn ระหว่างมกราคม 2019 ถึง มกราคม 2023

แนวโน้มการเคลื่อนย้ายในเดือนต่าง ๆ ของปี

ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา เดือนมกราคมของทุกปีจะเป็นเดือนที่คนไทยนิยมย้ายอุตสาหกรรมมากที่สุด และจะลดลงอย่างรวดเร็วจนมีจำนวนการย้ายอุตสาหกรรมใกล้เคียงกันตลอดทั้งปีตั้งแต่ช่วงมีนาคมเป็นต้นไป โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา มีจำนวนคนทำงานที่ย้ายอุตสาหกรรมมากกว่าปี 2021 และ 2020 ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ในต้นปี 2023 ที่เพิ่งผ่านมานี้ จำนวนคนที่ย้ายอุตสาหกรรมไม่ได้สูงเท่าปีก่อน ๆ เนื่องจากคนจำนวนหนึ่งเพิ่งย้ายอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมา

การเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมมาแรงในปีที่ 2022

 

ภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยในประเทศในปีที่ผ่านมาถือว่าคึกคักกว่าปีก่อน ๆ โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการรับคนทำงานมากขึ้น จนมีสัดส่วนคนเข้ามาทำงานมากกว่าคนลาออก โดย 5 อันดับอุตสาหกรรมที่เติบโตมากที่สุดในแง่ของจำนวนคนทำงานที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ บริการทางการเงิน (Financial Services) อุตสาหกรรมความบันเทิง (Entertainment Providers) อุตสาหกรรมการเกษตร (Farming, Ranching, Forestry) โรงพยาบาลและสุขภาพ (Hospitals and Health Care) และธุรกิจค้าส่ง (Wholesale) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มี 2 อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนคนออกมากกว่าคนเข้า ได้แก่ การศึกษา (Education) และภาครัฐ (Government Administration)

ธุรกิจบริการทางการเงินในทุกวันนี้ มักจะถูกเรียกว่า ฟินเทค (Fintech) เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Digital Banking, E-Commerce และอื่น ๆ การแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ มีความต้องการคนทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยองค์กรสร้างบริการทางการเงินชนิดใหม่ได้ บวกกับการได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้การเพิ่มจำนวนการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นไปได้จริง

ในส่วนของจำนวนคนที่ลดลงในอุตสาหกรรมการศึกษา เกิดจากการลดจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาที่ลดลง และมีการคาดการณ์จากนักวิชาการว่าสถานการณ์ของอาจารย์มหาวิทยาจะน่าเป็นห่วงมากขึ้นอีก โดยหลายมหาวิทยาตั้งเป้าไว้ว่าจะลดการจ้างงานลดเหลือเพียง 1 ใน 3 จากเดิม ในขณะที่จำนวนคนที่ลดลงในหน่วยงานรัฐ อาจเกิดจากการลาออก ซึ่งมีเหตุผลแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น ความรู้สึกหมดไฟจากระบบการทำงาน ค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ เป็นต้น

โควิด-19 ลดลง ตำแหน่งงาน remote ยังมีอยู่ไหม?

 

ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา สถิติพบว่าคนไทยเลือกงานมากขึ้น ดูได้จากจำนวนผู้สมัครต่อ 1 ตำแหน่งที่ลดลง 28% เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยเลือกงานมากขึ้นเกิดจากการมีตัวเลือกมากขึ้น โดยมีตำแหน่งเปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 จนในปีที่ผ่านมามีตำแหน่งเปิดมากกว่าปี 2019 ถึง 2 เท่า*

ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา มีตำแหน่งที่สามารถทำงานทางไกลเปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าถึงแม้โควิด-19 จะลดลงแล้ว แต่ตำแหน่ง remote จะกลายเป็น new normal ของคนทำงานตั้งแต่นี้ไป โดยในปี 2022 คนไทยสมัครงานในตำแหน่ง remote เพิ่มขึ้น 32 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2019 โดยเป็นการสมัครงานในตำแหน่ง remote ขององค์กรในต่างประเทศมากกว่าองค์กรในไทย เนื่องจากตำแหน่ง remote ขององค์กรในไทยมีไม่เยอะเท่าองค์กรในต่างประเทศ

*ข้อมูลตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครบน LinkedIn เท่านั้น

ตำแหน่งงานในประเทศไทยตำแหน่ง remote ในประเทศไทย

ทักษะต่าง ๆ กับความต้องการในตลาดแรงงานไทย

 

การเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าออกประเทศทำให้เกิดการไหลเข้าและไหลออกของทักษะหลาย ๆ อย่าง ซึ่งจากสถิติพบว่าทักษะส่วนใหญ่ที่ประเทศไทยได้รับจากการเข้ามาของคนต่างชาติมักจะเป็นทักษะที่กำลังขาดแคลนในตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี

โดย 10 อันดับทักษะที่ประเทศไทยได้รับเข้ามามากกว่าเสียออกไป ได้แก่ 1. การใช้เคลื่องมือเทคโนโลยี (Development Tools) 2. Web Development 3. Data Science 4. Data Storage Technologies 5. Human Computer Interaction 6. Nonprofit Management 7. Computer Networking 8. Public Policy 9. Digital Marketing 10. Technical Support

นอกจากนี้เมื่อเราเปรียบเทียบ supply กับ demand ในตลาดแรงงานโดยมองแยกแต่ละทักษะ จะพบว่า แม้จะมีชาวต่างชาติที่มีทักษะ Data Science เข้ามามาก แต่ก็ยังเป็นทักษะอันดับ 1 ที่ไม่เพียงพอในตลาดแรงงานไทย เช่นเดียวกับทักษะ Development Tools, Web Development และ Digital Marketing ที่อยู่ในอันดับ 2 3 และ 4 ที่ supply ยังตามไม่ทัน demand   

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าใน 10 ทักษะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตอบโจทย์ตลาดแรงงานไทย แต่ก็มีบางทักษะที่มีจำนวนคนที่มีทักษะเหล่านี้มากกว่าที่ตลาดแรงงานไทยต้องการ (เปรียบเทียบกับตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร) ซึ่งได้แก่ Nonprofit Management, Public Policy และ Technical Support

องค์กรจะแก้ปัญหาอย่างไรหากหาทาเลนต์ตามที่ต้องการไม่ได้?

 

ผลสำรวจโดย Harvard Business School พบว่ามีบริษัททั่วโลกกว่า 88% ที่มองข้ามผู้สมัครที่มีความสามารถแต่ขาดคุณสมบัติพื้นฐาน เช่น เรียนจบไม่ตรงสาย ซึ่งคนเหล่านี้มีทักษะที่อาจจะสามารถทำงานในตำแหน่งที่องค์กรกำลังตามหาได้ ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนทาเลนต์คือการสรรหาโดยดูจากทักษะ (Skills-Based Hiring) และการช่วยเติมเต็มทักษะให้พนักงานเก่าให้มีโอกาสสมัครงานในตำแหน่งอื่นในองค์กรที่คิดว่าตัวเองสามารถทำได้ (Internal Mobility)


--- 

อาจกล่าวได้ว่าตลาดแรงงานไทยในช่วงที่ผ่านมาและต่อจากนี้กำลังมุ่งไปในทิศทางเดียวกับตลาดแรงงานโลก ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากโควิด-19 เทรนด์การทำงานแบบ remote และโดยเฉพาะความต้องการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรต่าง ๆ หลังจากนี้โอกาสในเติบโตสำหรับคนทำงาน และโอกาสในการได้ทาเลนต์มาร่วมงานจะไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศอีกต่อไป

 

อ้างอิง:

ขอขอบคุณข้อมูลจาก LinkedIn: Thailand Talent & Skills Trend Mar 2023

https://thestandard.co/in-depth-fintech/

https://thematter.co/social/public-servant-wanna-quit/173600
bit.ly/3O03sIP