หลังรัฐบาลเริ่มคลายล็อกให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดกิจการได้ ภาคธุรกิจก็เริ่มทยอยเรียกตัวพนักงานกลับไปทำงานกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่แรงงานในตลาดจะกลับมามีงานทำอีกครั้ง มีโอกาสหารายได้มากขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการกลับมาทำงานครั้งนี้ เราไม่สามารถทำงานแบบปกติเหมือนตอนโรคยังไม่ระบาดได้ แต่จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับ new normal เพื่อป้องกันอันตรายจากไวรัส เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะสามารถยับยั้งการระบาดและมียอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงโรคยังไม่หายไปไหน และยังไม่มีวัคซีนใดที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ องค์กรและผู้ประกอบการจึงควรมีมาตรการรองรับสำหรับเฝ้าระวังและป้องกันโรค เพื่อความปลอดภัยของทั้งลูกค้าและพนักงาน และลดความเสี่ยงจากการต้องปิดกิจการชั่วคราวหากพบผู้ติดเชื้อในองค์กรหรือสถานประกอบการ
อาชีพใดบ้างที่เสี่ยง และจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันเป็นพิเศษ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการ Remote Working หรือการทำงานจากที่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนได้ โดยพบว่าปัจจุบันมีหลายอาชีพที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานที่สถานที่ทำงาน เช่น อาชีพในธุรกิจอาหาร พนักงานส่งของ พนักงานที่ทำเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะ พนักงานห้าง พนักงานอู่ซ่อมรถ พนักงานแอดมิน พนักงานโรงงาน อาชีพในวงการบันเทิง อาชีพด้านการศึกษา เป็นต้น โดยอาชีพที่อยู่ในโซนสีฟ้านี้คืออาชีพที่ควรได้รับการดูแล มีมาตรการในการรับมือเพื่อป้องกันโรคอย่างเป็นมาตรฐาน
5 เช็คลิสต์สำหรับองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมกลับมาทำงานอย่างปลอดภัย
สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่แน่ชัดว่าจะสิ้นสุดลงเมือไร องค์กรจึงควรมองไปข้างหน้าในการรับมือกับสภาวะนี้ ปรับวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะทางสังคม ยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดชั่วคราวสู่การป้องกันโรคระบาดในระยะยาว เพื่อช่วยองค์กรต่างๆ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความปกติใหม่ Adecco ได้ร่วมมือกับ Ranstad และ Manpower จัดทำคู่มือสำหรับองค์กร จากกรณีตัวอย่างกว่า 400 เคส จาก 13 ประเทศ มาสรุปเป็น 5 มาตรการจำเป็นสำหรับองค์กรเพื่อป้องกันโควิด-19 ในองค์กรไว้ดังนี้
1. มาตรการด้านการบริหารจัดการ
- ตั้งทีมดูแลเรื่องโควิดโดยเฉพาะ
- เหลื่อมเวลาการเข้าออกงานและพักกลางวัน เพื่อลดการแออัดในการใช้สถานที่
2. มาตรการเว้นระยะห่าง
- จัดโต๊ะทำงานใหม่ นั่งทำงานห่างกัน หรือสร้าง partition กั้น
- ทำสัญลักษณ์ social distancing ในออฟฟิศ เช่น มาร์คตำแหน่งระยะห่างระหว่างที่นั่ง ที่นั่งไหนห้ามใช้
ทำเส้นแบ่งจุดรอคิวที่เครื่องซีรอกซ์ - ห้องทานอาหาร ให้จัดโต๊ะใหม่เพื่อเว้นระยะระหว่างกัน การรับประทานอาหารให้แยกสำรับ
หรือนั่งทานที่โต๊ะทำงานของตัวเอง
3. มาตรการเตรียมพร้อมด้านสถานที่
- ดูแลทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ อาจติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพิ่มเติม หรือติดพัดลมดูดอากาศเพื่อช่วยให้อากาศหมุนเวียนและถ่ายเทได้สะดวก
- ทำสัญลักษณ์แสดงจุดเสี่ยงเพื่อให้พนักงานเพิ่มความระมัดระวัง เช่น บริเวณที่จับประตู หรือ โต๊ะส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน
- แบ่งพื้นที่ SAFE ZONE โดยก่อนเข้าบริเวณนี้ อาจเพิ่มการคัดกรองให้เข้มข้นขึ้น เช่น มีการตรวจวัดอุณหภูมิ มีเจลล้างมือ หรือมีอุปกรณ์ป้องกันให้ใส่ ก่อนเข้าพื้นที่
4. มาตรการด้านสุขอนามัยของพนักงาน
- หา solution ทดแทนเพื่อลดการสัมผัส เช่น เปลี่ยนจากการเช็คอินด้วยการสแกนนิ้ว มาใช้แอปพลิเคชั่นเช็คอินแบบระบุพิกัดผ่านมือถือแทน
- หมั่นทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสบ่อย และให้แม่บ้านบันทึกเวลาการทำความสะอาดครั้งล่าสุดในแต่ละจุด เพื่อให้คนในออฟฟิศรับทราบ
- เตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อม เช่น หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ เฟซชีลด์ หรือชุด PPE
5. มาตรการด้านการสื่อสาร
- จัดประชุมเพื่อสื่อสารจุดประสงค์ ระเบียบปฏิบัติ และผลกระทบที่ปรับเปลี่ยนให้พนักงานทราบ และเพื่อเปิดช่องให้พนักงานสามารถสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นถึงข้อกังวลใจต่างๆ
- ทำแคมเปญสื่อสารในออฟฟิศเพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันโควิด-19 เช่น มีโปสเตอร์ให้ความรู้เรื่องการป้องกัน หรือจัดทำป้ายรณรงค์ด้านสุขอนามัยในที่ทำงาน เช่น ป้ายเตือนให้ล้างมือ ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สวมใส่ถุงมือระหว่างปฏิบัติงานให้เห็นเด่นชัดในออฟฟิศ
- จัดอบรมพนักงานแบบออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ