โดนถามข้อเสียตอนสัมภาษณ์งาน ตอบอย่างไรดี?

March 15, 2023 Resume Writing & Interview​
โดนถามข้อเสียตอนสัมภาษณ์งาน ตอบอย่างไรดี?

ถ้าให้จัดอันดับคำถามคนที่ไม่อยากเจอที่สุดตอนสัมภาษณ์งาน เชื่อว่า “ข้อเสียของคุณคืออะไร หรือ ลองบอกจุดอ่อนของคุณให้ฟังหน่อย จะอยู่ในอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว โดยคำถามนี้สามารถวัดได้เลยว่า คุณรู้จักตัวเองดีแค่ไหน จริงใจแค่ไหน และมีความพยายามจะพัฒนาตัวเองมากแค่ไหน ดังนั้นถ้าคุณสามารถตอบคำถามได้ตรงกับสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์คาดหวัง คำถามข้อนี้ก็จะไม่ใช่วิกฤต แต่เป็นโอกาสที่คุณจะสร้างความประทับใจให้ผู้สัมภาษณ์ได้แบบอยู่หมัด มาดูกันว่าต้องทำอย่างไร!

แนวทางการเลือกข้อเสียมาตอบ

1.ควรเป็นข้อเสียที่ไม่กระทบงานนั้น ๆ ซึ่งคุณจะรู้ว่าควรเลี่ยงอะไรเมื่อทำความเข้าใจ job description อย่างละเอียด ให้รู้ว่าตำแหน่งนั้นต้องทำอะไรบ้าง และทักษะที่ต้องมีคืออะไรบ้าง

2.ควรเป็นข้อเสียที่เป็นความจริง เพราะการโกหกตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน

3.ไม่ควรเป็นข้อเสียที่เป็นเรื่องส่วนตัวเพราะจะดูไม่จริงจังและผิดจุด เช่น ร้องเพลงไม่เพราะ ทำอาหารไม่เป็น ติดแฟน หรือเรียกว่าเป็นข้อเสียที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้สัมภาษณ์รู้ว่าคุณมีวิธีการทำงานอย่างไร

4.ไม่ควรตอบว่า ไม่มีข้อเสีย เพราะจะดูมั่นใจเกินไปและไม่พร้อมจะพัฒนาตัวเอง

5.ผู้สัมภาษณ์บางคนอาจจะไม่ชอบคำตอบที่ฟังดูเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น เป็นคน perfectionist หรือเป็นคนทุ่มเทกับงานมากเกินไป เพราะมองว่าคุณน่าจะมีข้อเสียอื่นที่แย่กว่านั้น ดังนั้นคุณอาจต้องระวังการใช้ข้อเสียเหล่านี้ให้ดี ถ้าเลี่ยงได้ก็อาจจะเลี่ยงไปตอบอย่างอื่นแทนดีกว่า

แนวทางการตอบข้อเสียในระหว่างสัมภาษณ์

1.หากคุณเลือกตอบว่าข้อเสียคือขาด ทักษะ บางอย่างในการทำงาน วิธีการตอบที่ดีมาก ๆ คือการอธิบายให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า คุณตั้งใจจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยคุณได้ลงมือทำบางอย่างแล้วเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือแม้กระทั่งคุณยังไม่ได้ลงมือทำ แต่มีแพลนว่าจะทำในเร็ว ๆ นี้แน่ ๆ ก็สามารถเล่าได้เช่นกัน

เช่น “ผมไม่ค่อยเก่งเรื่องการใช้โปรแกรมออกแบบกราฟิกครับ เป็นหนึ่งในทักษะที่ผมยังขาดและอยากพัฒนามาก ๆ เพราะถึงแม้ว่าหน้าที่ของผมอาจจะไม่ต้องออกแบบกราฟิกด้วยตัวเอง แต่ผมคิดว่าก็คงจะดีเหมือนกันถ้าผมสามารถคิดและออกแบบงานได้ด้วยตัวเอง เดือนที่ผ่านมาผมก็เลยไปลงเรียนคอร์สออกแบบเบื้องต้นครับ ตอนนี้ก็เรียนไปได้ครึ่งทางแล้ว รู้สึกว่าก็ค่อย ๆ เก่งขึ้น ก็เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายปีนี้อยากจะออกแบบชิ้นงานที่สามารถใช้ได้จริงให้ได้ครับ

2.วิธีตอบที่ดีอีกหนึ่งวิธีคือการแสดงความมั่นใจว่าข้อเสียของคุณจะไม่เป็นปัญหากับการทำงาน โดยเฉพาะถ้าได้รับการซัปพอร์ตจากบริษัท

เช่น “ผมไม่ค่อยเก่งเรื่องการใช้โปรแกรมออกแบบกราฟิกครับ ถ้าให้ทำเองอาจจะยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ผมมั่นใจว่าถ้าบริษัทมีทีมกราฟิกที่เก่งที่คอยซัปพอร์ตเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมสามารถใช้ข้อดีในเรื่องของการใช้ความคิดสร้างสรรค์กับการบรีฟให้เห็นภาพ มาทดแทนในจุดนี้ได้ครับ เชื่อว่าถ้าได้ทำงานร่วมกันก็จะทำให้งานออกมาดีได้แน่นอนครับ

3.หากคุณเลือกข้อเสียที่เป็นเรื่อง นิสัย ในการทำงาน อาจจะยากที่จะอธิบายว่าคุณได้ลงมือแก้ไขนิสัยอย่างไร ดังนั้นให้คุณอธิบายว่า คุณเข้าใจว่าข้อเสียนี้มีอาจทำให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง และคุณพยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหานั้นอย่างไร

เช่น “บางครั้งผมทำงานค่อนข้างช้าเพราะมัวแต่โฟกัสกับจุดเล็ก ๆ มากเกินครับ ซึ่งก็อาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ถ้าเป็นงานที่มีกระบวนการหลายขั้นตอน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมเข้าใจในจุดนี้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทุกครั้งเวลาได้งานมา ผมจะประเมินเวลาในการทำงานก่อน ถ้าเวลาน้อยก็อาจจะต้องมีสมาธิมากขึ้นและเน้นดูภาพกว้างมากกว่าดูจุดเล็ก ๆ ครับ

ตัวอย่างข้อเสียโดยทั่วไปที่คุณอาจนำไปใช้ได้

1.“ไม่ค่อยเก่งเรื่อง…” (เป็นตัวเลือกที่แนะนำ ☆ ☆ ☆)

ในที่นี้หมายถึงทักษะในการทำงานที่ยังขาด เช่น ภาษาอังกฤษ การพูดต่อหน้าสาธารณะ การวิเคราะห์ข้อมูล การใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น

ข้อสังเกต: ข้อเสียนี้ไม่แย่นักเพราะเป็นเรื่องปกติที่คนทำงานจะไม่ได้เก่งไปซะทุกอย่าง (โดยเฉพาะเป็นทักษะที่นาน ๆ จะได้ใช้สักที) จึงเป็นตัวเลือกที่แนะนำให้คำตอบ ถ้าผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ระบุว่าให้ตอบข้อเสียกี่ข้อ คุณอาจจะตอบแค่ข้อนี้ข้อเดียวก็พอแล้ว

2.“โฟกัสกับจุดเล็ก ๆ มากเกินไป

การใส่ใจในรายละเอียดยิบย่อยมากกว่ามองภาพรวมมีโอกาสทำให้งานล่าช้ากว่ากำหนด

ข้อสังเกต: ข้อเสียนี้ไม่แย่นักหากงานนั้น ๆ ต้องการความละเอียดมากกว่าความเร็ว แต่ไม่เหมาะกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมแบบ fast-paced environment

3.“ไม่ค่อยกล้าปฏิเสธคน

การไม่กล้าปฏิเสธคนอาจทำให้มีงานล้นมือและจัดการเวลาไม่ได้ รวมถึงการไม่ปฏิเสธงานที่ตัวเองไม่ถนัดมีโอกาสทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

4.“ไม่มั่นใจในตัวเองเท่าไหร่

ความไม่มั่นใจในตัวเองมีหลายแบบ เช่น ไม่กล้าตัดสินใจ หรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจทำให้งานล่าช้า ไม่มีความแปลกใหม่ และดูไม่มีความเป็นผู้นำ

ข้อสังเกต: ข้อเสียนี้ไม่แย่นักหากคุณยังมีประสบการณ์ทำงานไม่มาก แต่ไม่เหมาะกับบริษัท startup ที่ต้องการคนกล้าแสดงความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่ ๆ

5.“ไม่ค่อยกล้าขอความช่วยเหลือ

การไม่กล้าขอความช่วยเหลืออาจทำให้งานติดขัด ล่าช้า และไม่ถูกต้อง

6.“ชอบทำงานคนเดียวมากกว่าทำงานเป็นทีม

คนชอบทำงานคนเดียวอาจถูกมองว่าเข้าถึงยาก ขาดทักษะในการสื่อสาร หรือขาดความไว้ใจผู้อื่น

ข้อสังเกต: ข้อเสียนี้ไม่แย่นักหากงานนั้น ๆ ต้องทำงานคนเดียวหรือแค่เฉพาะลูกค้าอยู่แล้ว และแน่นอนว่าไม่เหมาะกับงานที่เน้นทำงานเป็นทีม

7.“ไม่ค่อยกล้าให้ feedback”

การไม่กล้าคอมเมนต์งานอาจทำให้งานดีไม่สุด รวมถึงอาจทำให้เพื่อนร่วมทีมไม่รู้ว่าควรทำงานอย่างไร ส่งผลให้งานไม่เกิดการพัฒนา

8.“เป็นคนกดดันตัวเองเวลาทำงานพลาด

ความกดดันตัวเองมากไปอาจทำให้ไม่สนุกกับงานและเครียดเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้บรรยากาศในการทำงานไม่ดีอีกด้วย

 

ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกข้อเสียข้อไหนไปตอบดี ตัวเลือกที่เราให้มาอาจจะยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดเท่ากับการที่คุณได้นั่งทบทวนตัวเองจริง ๆ ให้คุณเลือกคำตอบที่เป็นความจริงและมีความพอดี ไม่ด้อยค่าตัวเอง และไม่โอ้อวดเกินไป เชื่อว่าความจริงใจของคุณจะสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ได้อย่างแน่นอน

 

อ้างอิง: https://www.indeed.com/career-advice/interviewing/list-of-example-weaknesses-for-interviewing