หลังจากที่โลกเริ่มสู่สภาวะปกติอีกครั้ง การได้เดินทางไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศจึงกลับมาเป็นหนึ่งในเทรนด์การทำงานและเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คนอีกครั้ง ซึ่งองค์กรมากมายทั่วโลกก็ต่างพร้อมใจกันตอบรับความต้องการนี้ เพราะมองเห็นโอกาสที่มากขึ้นในการคัดเลือกคนที่มีทักษะตรงกับงาน ความเข้าใจเรื่องเทรนด์การเคลื่อนย้ายการทำงานระหว่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา จะช่วยให้คุณไม่ว่าจะอยู่ในฐานะคนทำงานหรือทีมพัฒนาองค์กร ได้มองเห็นภาพรวมของตลาดแรงงานไทยและตลาดแรงงานโลก รวมถึงมองเห็นโอกาสดี ๆ ที่แฝงอยู่ในเทรนด์นี้
บทความนี้เป็นการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลอ้างอิงจากรีพอร์ตของ LinkedIn: Thailand Talent & Skills Trend Mar 2023 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งาน LinkedIn ระหว่างมกราคม 2019 ถึง มกราคม 2023
ภาพรวมสัดส่วนคนทำงานแบ่งตามอุตสาหกรรมและประเภทงานในปี 2023
ข้อมูลจากผู้ใช้งานบน LinkedIn พบว่า 5 อันดับอุตสาหกรรมที่มีคนไทยทำงานอยู่มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) บริการเฉพาะด้าน (Professional Services)* ธุรกิจไอที (Technology, Information and Media) บริการทางการเงิน (Financial Services)** และธุรกิจโรงแรม (Accommodation) ตามลำดับ
เมื่อแบ่งตามประเภทงาน พบว่า 5 อันดับประเภทงานยอดนิยมของคนไทย ได้แก่ งานพัฒนาธุรกิจ (Business Development: BD), งานปฏิบัติการ (Operations), งานการศึกษา (Education), งานขาย (Sales) และงานวิศวกรรม (Engineering) ตามลำดับ
*บริการเฉพาะด้าน (Professional Services) เช่น บริษัทผู้ตรวจบัญชี เอเจนซี่โฆษณา บริษัทให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย สายการบิน เป็นต้น
**บริการทางการเงิน (Financial Services) เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น
แนวโน้มการเคลื่อนย้ายในเดือนต่าง ๆ ของปี
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ (เริ่มตั้งแต่ปี 2020) แนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าและออกประเทศไทยในหนึ่งปีมีรูปแบบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน นั่นคือ คนไทยจะเคลื่อนย้ายออกไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดในเดือน ธันวาคม และคนต่างประเทศจะเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในไทยมากที่สุดในเดือน มกราคม และทั้งสองเดือนนี้มักจะมีสัดส่วนการเคลื่อนย้ายรวมการเข้าและการออกมากที่สุดของปี โดยจะมีการโยกย้ายเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางปี ในเดือน มิถุนายน กรกฎาคม และ สิงหาคม ซึ่งถือเป็นช่วงปกติที่คนมักนิยมย้ายงานกัน
จากสถิติยังพบว่า ปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีการเคลื่อนย้ายมากที่สุดนับตั้งแต่มีโควิด-19 ทำให้เราอาจจะคาดเดาได้ว่าแนวโน้มสถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในทุกปีและจะกลับมาสูงเทียบเท่ากับก่อนหน้าที่จะมีการระบาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
จุดหมายปลายทางที่คนไทยนิยมเดินทางไปทำงาน และคนต่างชาติที่นิยมเข้ามาทำงานในไทย
5 อันดับประเทศที่คนไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุดในปี 2023 นี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และอินเดีย ตามลำดับ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากปี 2022 นั่นคือ ออสเตรเลียขยับขึ้น 2 อันดับ สิงคโปร์ขยับลง 2 อันดับ และอินเดียขยับขึ้น 1 อันดับ
สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มาแรงอย่างต่อเนื่องโดยกระโดดจากอันดับ 6 ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ซึ่งความนิยมที่มากขึ้นน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางที่ไม่ไกลจากไทยมากนัก ชื่อเสียงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี ธรรมชาติของตลาดแรงงานที่ยังเปิดโอกาสให้คนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปย้ายสายงานได้ มีวีซ่าการทำงานที่หลากหลายสำหรับชาวต่างชาติ ทั้งวีซ่าทำงานถาวร วีซ่าเพื่อท่องเทียวและทํางาน และวีซ่าทำงานชั่วคราว รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยออสเตรเลียมีค่าแรงขั้นต่ำสูงติด 3 อันดับแรกของโลก
ในฝั่งของ 5 อันดับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับประเทศที่คนไทยนิยมไป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย สิงคโปร์ และพม่า ตามลำดับ
โดยในเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติเข้ามาในไทยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าคนไทยที่ออกมาทำงานต่างประเทศ ซึ่งสามารถสะท้อนตลาดแรงงานไทยได้หลายประเด็น เช่น ตลาดแรงงานไทยมีความเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายของเชื้อชาติ ประเทศไทยยังต้องการแรงงานต่างชาติเพื่อเข้ามาเติมเต็มความต้องการทักษะในตลาดแรงงาน ประเทศไทยยังมีแรงดึงดูดชาวต่างชาติในด้านต่างๆ เช่น ค่าครองชีพ ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตและการทำงาน และไทยถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งงานใหญ่ในกลุ่มภูมิภาค Southeast Asia
คนรุ่นใหม่ชอบไปทำงานต่างประเทศจริงหรือไม่?
ในปี 2022 ที่ผ่านมา สถิติของ Linkedin พบว่าคน Gen Y (เกิดปี 1981-1994) เป็น generation* ที่มีการเคลื่อนย้ายมากที่สุดทั้งกลุ่มที่เข้ามาทำงานในไทยและกลุ่มคนไทยที่ออกไปทำงานต่างประเทศ โดยคิดเป็น 54% ของคนทั้งหมด ตามมาด้วยคน Gen Z (เกิดปี 1995 เป็นต้นไป) ที่ถึงแม้จะยังเข้ามาในตลาดแรงงานยังไม่ครบทั้งรุ่น แต่ก็เป็นกลุ่มที่ออกไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 2 โดยคิดเป็น 26% ของคนทั้งหมด และตามมาด้วย Gen X และ Baby Boomer โดยคิดเป็น 18% และ 2% ตามลำดับ
สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเราดูระดับตำแหน่งของคนเหล่านี้ พบว่าเกินครึ่งหรือกว่า 60-65% ของคนที่เข้าและออกไปทำงานต่างประเทศทั้งหมดมีตำแหน่ง Entry-level หรือตำแหน่งสำหรับคนที่มีประสบการณ์ทำงานไม่มากนัก หมายความว่า นอกจากคน Gen Z ที่น่าจะต้องไปเริ่มงานในระดับ Entry-level อยู่แล้ว คน Gen Y บางส่วนเมื่อย้ายประเทศแล้วก็เลือกที่จะไปเริ่มต้นทำงานในระดับ Entry-level เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าคนบางส่วนเลือกที่จะไม่ต่อยอดงานในตำแหน่งเดิม แต่ไปเริ่มต้นในอุตสาหกรรมใหม่หรือประเภทงานใหม่ที่อาจไม่เคยทำมาก่อน หรืออาจเป็นการยอมลดระดับลงมาเพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ก็เป็นได้
ส่วนตำแหน่งที่มีสัดส่วนรองลงมาได้แก่ Director ตามด้วย Senior Officer/Manager และ Owner คิดเป็น 24% 13% และ 3% ตามลำดับ หมายความว่า มีคนทำงานบางส่วนที่ย้ายไปเป็น Key person คนสำคัญให้กับบริษัทต่างชาติเช่นเดียวกัน
*ข้อมูล generation ที่นำเสนอคิดตามจำนวนผู้ใช้งาน Linkedin ซึ่งคิดเป็น 37% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น
ดูกันชัด ๆ อุตสาหกรรม ประเภทงาน และอาชีพไหน ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน (demand) ทั้งไทยและต่างประเทศ
ในปีที่ผ่านมา มีเพียง 3 อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนคนไทยออกไปทำงานนอกประเทศมากกว่าคนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย ได้แก่ การขนส่ง (Transportation, Logistics, Supply Chain and Storage) การก่อสร้าง (Construction) และธุรกิจการค้าปลีก (Retail) องค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงอาจต้องเร่งหาวิธีดึงดูดความสนใจของทาเลนต์ไทยและชาวต่างชาติให้มาร่วมงานด้วยมากขึ้น เพื่อให้ยังมี talent pool ที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ขณะเดียวกัน 3 อันดับอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนเคลื่อนย้ายแรงงานคนไทยและชาวต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ บริการเฉพาะด้าน (Professional Services) ธุรกิจไอที (Technology, Information and Media) และอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing)
สอดคล้องกับประเภทของงานที่มี demand สูงในระดับสากล ทั้งตลาดแรงงานไทยและตลาดแรงงานโลก ได้แก่ งานวิศวกรรม งานไอที งาน HR งานการเงิน และงานการตลาด ตามลำดับ ซึ่งสายอาชีพเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายมากที่สุดที่กล่าวมาข้างต้น และยังเป็นสายอาชีพที่สามารถทำงานได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมนอกเหนือจากนี้อีกด้วย นอกจากนี้หากดูเจาะจงเข้าไปอีกจะพบว่า job title ที่มี demand ในตลาดแรงงานโลก สูงที่สุดอย่างชัดเจนคือ Software Engineer และในไทยเป็นอาชีพที่สัดส่วนคนทำงานเป็นชาวต่างชาติค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ซึ่งเกิดจาก talent pool ในประเทศยังไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม มีงานบางประเภทที่มีสัดส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานค่อนข้างสูงแต่ demand ในตลาดแรงงานไม่ได้สูงตาม ได้แก่ งานปฏิบัติการ (Operations) และงานการศึกษา หมายความว่าคนที่ทำงานในสองสายอาชีพนี้หากต้องการไปทำงานที่ต่างประเทศจะต้องแข่งขันกันสูงมากกว่าสายอาชีพอื่น ๆ
---
จากข้อมูลเหล่านี้ที่ทำให้เราเห็นว่า สัดส่วนการเข้าและออกในตลาดแรงงานไทยค่อนข้างมีความสมดุล ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสดีของคนทำงานที่จะได้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นทั้งความท้าทายที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถแข่งขันกับคนชาติอื่น ๆ ได้
อ่านบทความ เทรนด์การเคลื่อนย้ายแรงงานในประเทศไทย ตอนที่ 2 ได้ที่นี่
อ้างอิง:
ขอขอบคุณข้อมูลจาก LinkedIn: Thailand Talent & Skills Trend Mar 2023
https://www.dek-d.com/studyabroad/61039/
https://thematter.co/social/economy/migration-impacts-on-economy/142410