Do&Don't เทคนิคเขียนเรซูเม่ ที่ผู้สมัครควรรู้

ตุลาคม 22, 2563 การเขียนเรซูเม่และเทคนิคการสัมภาษณ์งาน
Do&Don't เทคนิคเขียนเรซูเม่ ที่ผู้สมัครควรรู้

เขียนเรซูเม่ที่ดีต้องทำอย่างไร? อะไรบ้างที่ผู้สมัครควรรู้ก่อนส่งเรซูเม่? Adecco รวบรวมคำแนะนำดีๆ จาก HR กับ 10 ข้อ Do & Don’t ที่ผู้สมัครควรรู้มาฝากคนที่กำลังหางานและสมัครงานอยู่กันค่ะ



DO: 5 สิ่งที่ควรทำในการเขียนเรซูเม่

1.  วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานและปรับเรซูเม่ใหม่

การส่งเรซูเม่แบบหว่านอาจไม่ให้ผลดีเท่าไรนัก ในการส่งเรซูเม่เพื่อสมัครงานแต่ละครั้งจึงควรมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับตำแหน่งและองค์กรที่จะไปสมัคร โดยผู้สมัครควรวิเคราะห์ความต้องการของผู้สรรหาว่าต้องการคนประมาณไหน และพยายามยก คุณสมบัติ ทักษะ ประสบการณ์ ที่เป็นจุดเด่นและจุดแข็งของเราขึ้นมาให้ HR เห็นชัดๆ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียกสัมภาษณ์มากขึ้น

2. ระบุความสำเร็จ

เราอาจจะเคยเจอประกาศรับสมัครงานที่ระบุว่าต้องการคนที่มี proven track record ดังนั้นในการเขียนเรซูเม่แทนที่จะระบุเพียงหน้าที่รับผิดชอบ จึงควรระบุความสำเร็จในการทำงานลงไปด้วย เช่น สามารถเพิ่มยอดขายได้เท่าไร เคยทำโปรเจ็กต์สำคัญอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้ HR มั่นใจในความสามารถของคุณมากยิ่งขึ้น

3. ระบุ soft skill

หลายๆ ครั้งเมื่อต้องระบุทักษะลงไปในเรซูเม่ เรามักจะนึกถึงแค่ทักษะการใช้ภาษา ทักษะการใช้โปรแกรม แต่ soft skill ก็เป็นอีกทักษะหนึ่งที่ HR ให้ความสำคัญ ดังนั้นอย่าลืมใส่ soft skill ที่คุณมีลงไปในเรซูเม่ เช่น หากสมัครตำแหน่งงานด้านการตลาด soft skill ที่ควรใส่อาจเป็น ทักษะการเจรจาโน้มน้าว ทักษะการทำงานเป็นทีม เป็นต้น

4.ใช้ดีไซน์เรียบง่าย สบายตา

ผู้สมัครบางคนอาจมีความคิดว่าอยากทำเรซูเม่ให้เตะตา HR โดยการใช้ดีไซน์ที่หวือหวา แต่จริงๆ แล้ว HR ชอบอ่านเรซูเม่ที่ดีไซน์เรียบง่ายมากกว่า เพราะฉะนั้นหากคุณจะดีไซน์เรซูเม่ ควรให้ความสำคัญกับ ความเรียบง่าย สบายตา เพราะ HR ต้องอ่านเรซูเม่จำนวนมากทุกวัน รวมถึงการจัดวาง layout ในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในเรซูเม่ของคุณ ให้ง่ายต่อการอ่าน และเลือกเน้นเฉพาะจุดที่สำคัญ

5.save ไฟล์เป็นสกุล pdf

องค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กร จะใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยในการคัดกรองและจัดการใบสมัคร ดังนั้นการ save ไฟล์เป็นสกุลรูปภาพจะทำให้ AI ไม่สามารถมองเห็นหรืออ่านข้อความในเรซูเม่ได้ ซึ่งอาจทำให้คุณหลุดจากกระบวนการสรรหาของบริษัทนั้นๆ ผู้สมัครจึงควร save เรซูเม่เป็น ไฟล์ pdf หรือ ไฟล์เวิร์ด (.doc) ซึ่งเป็นไฟล์ที่ระบบรองรับมากกว่า


 
DON’T: 5 สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนเรซูเม่

1.ใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

การใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงลงในเรซูเม่เป็นสิ่งที่ผู้สมัครไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เสียเครดิตและได้รับโทษตามมา โดยเฉพาะการปลอมแปลงข้อมูลวุฒิการศึกษาและสถาบันที่เรียนจบซึ่งมีโทษตามกฎหมายอาญา ส่วนการเขียนข้อมูลด้านทักษะให้ดูเก่งเกินจริง เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์ HR และหัวหน้าฝ่าย ก็จะมีคำถามที่เน้นไปที่การวัดระดับทักษะหรือความคิดของผู้สมัคร จนจับโกหกได้อยู่ดี ผู้สมัครจึงควรใส่เฉพาะข้อมูลที่เป็นความจริงเท่านั้น

2.ใส่รายละเอียดเยอะ จนเรซูเม่ยาวเกินไป

เรซูเม่ก็เหมือนการโฆษณาตัวเองให้ HR ฟัง หากข้อมูลมีมากเกินไป HR ก็อาจจะอ่านไม่ไหวหรือจับประเด็นสำคัญไม่ได้ว่าคุณเด่นด้านใด ดังนั้นเราจึงควรเลือกเฉพาะประเด็นสำคัญๆ โดยเน้นที่คุณสมบัติ ทักษะ และประสบการณ์ที่ HR จะมองหาจากตำแหน่งนั้น และพยายามจำกัดเรซูเม่ให้อยู่ภายใน 1-2 หน้า กรณีผู้สมัครมีประการณ์เยอะ อาจเลือกให้ความสำคัญเฉพาะบางตำแหน่งที่คล้าย หรือเอื้อต่องานที่กำลังสมัคร โดยไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดของทุกตำแหน่งที่เคยทำก็ได้

3. เขียนผิด grammar

เรซูเม่ควรเขียนเป็นภาษาอังกฤษเสมอและควรมีการตรวจสอบหลักไวยากรณ์ให้ถูกต้อง การเขียนผิด grammar จะสื่อถึงความไม่รอบคอบ และการขาดทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นก่อนส่งเรซูเม่สมัครงาน ผู้สมัครจึงควรให้สำคัญในการตรวจทานเรซูเม่ ให้คนรู้จักที่เก่งภาษาอังกฤษช่วย proofread หรือใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของ grammar เช่น แอปพลิเคชัน grammarly เป็นต้น

4.รูปเซลฟี่ รูปถ่ายที่ไม่เป็นทางการ

รูปภาพสมัครงานควรเลือกภาพที่เป็นทางการ เพื่อสื่อถึงความ professional ผู้สมัครจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้รูปถ่ายที่ไม่เป็นทางการ อย่างเช่น รูปเซลฟี่ รูปที่แต่งตัวลำลอง โพสต์ท่าแนวคิกขุ การใช้รูปแนวนี้จะทำให้ผู้สมัครถูกมองว่าไม่รู้กาลเทศะและความเหมาะสม กรณีเป็นนักศึกษาจบใหม่ รูปชุดครุย ก็สามารถใช้ได้ แต่แนะนำว่าให้ใช้รูปชุดทำงานสำหรับสมัครงานดีกว่า เพราะจะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการทำงานและความเป็นมืออาชีพของผู้สมัคร

5. ข้อมูลที่ไม่จำเป็น

ข้อมูลที่ HR ไม่ได้สนใจและมีผลต่อการตัดสินใจเข้าคัดเลือกคน ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในเรซูเม่ เช่น ศาสนา น้ำหนัก-ส่วนสูง งานอดิเรก ประวัติการศึกษาสมัยประถม/มัธยมต้น สถานภาพการสมรส เป็นต้น นอกจากนี้หากมีงานที่ผู้สมัครทำแล้ว แต่ไม่ผ่านช่วงทดลองงาน หรือทำได้เพียง 2-3 เดือนแล้วลาออก ก็อาจพิจารณาไม่ใส่ลงไปในเรซูเม่ เพราะอาจถูกมองว่าเป็นประวัติที่ไม่ดีได้ และเวลาอันสั้นไม่ช่วยแสดงถึงประสบการณ์การทำงานในที่ดังกล่าว