ความสำคัญของ Growth Mindset กับการทำงานในองค์กร
growth mindset เป็นคุณสมบัติสำคัญที่พนักงานควรมี ยิ่งในยุคนี้ที่การทำงานต้องเจอกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การมี growth mindset จะช่วยให้พนักงานสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานได้
การวัดว่าพนักงานคนไหนมี growth mindset ไม่ได้ดูกันที่ความฉลาดแต่ต้องดูที่ทัศนคติ ในระบบการศึกษาเรามักวัดความเก่งที่คะแนน ทำให้คนที่ได้คะแนนวิชาไหนน้อยก็จะมองว่าตัวเองไม่เก่งในวิชานั้นๆ วิธีคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ฉุดรั้ง growth mindset เพราะความคิดที่ว่า ตัวเองคงเก่งกว่านี้ไม่ได้ พยายามไปก็ไร้ค่า เป็นความคิดที่ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเอง เมื่อเข้าสู่วัยทำงานพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงงานที่ยากหรือไม่ถนัด หาข้ออ้าง หรือโยนงานให้ผู้อื่น แทนการหาวิธีแก้ไขปัญหา แต่หากพนักงานคนนั้นมี growth mindset เขาก็จะมีทัศนคติอีกแบบ แม้ว่าจะได้รับมอบหมายงานที่อาจจะไม่ถนัดหรือไม่เคยทำมาก่อนก็จะเชื่อว่าตัวเองจะสามารถหาความรู้เพิ่มเติมและหาวิธีจนทำงานนั้นได้สำเร็จ และถึงแม้ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เป็นอย่างที่หวัง พวกเขาก็จะกล้าเผชิญหน้ากับปัญหา เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาต่อไป
พนักงานที่มี Fixed Mindset กับ Growth Mindset ต่างกันอย่างไร
พนักงานที่มี Fixed Mindset |
พนักงานที่มี Growth Mindset |
ตั้งเป้าหมายเป็นผลงานที่สามารถบรรลุได้ไม่ยาก |
ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตัวเอง |
รู้สึกว่าตัวเองเก่งเมื่อทำงานไม่ผิดพลาด ส่งก่อนเวลา |
รู้สึกว่าตัวเองเก่งเมื่อได้รับมอบหมายงานที่ท้าทาย |
ไม่กล้าเสนอความคิดเห็นเพราะกลัวตอบผิด |
กล้าคิด กล้าถาม ไม่กลัวถูกใครมองว่าโง่ |
เมื่อเจองานที่ยากจะคิดว่าฝีมือไม่ถึงและอยากล้มเลิก |
เมื่อเจองานยากจะอยากเรียนรู้และทำให้สำเร็จ |
ใช้ปัญหาเป็นข้ออ้างในการล้มเลิกความตั้งใจ |
เห็นปัญหาเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา |
ปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง |
นำคำวิพากษ์วิจารณ์ไปปรับปรุง |
เมื่อทำไม่สำเร็จจะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง |
เมื่อทำไม่สำเร็จจะพยายามหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป |
หวาดหวั่นเมื่อเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จแซงหน้าตัวเอง |
นำข้อดีจากผู้ที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ หรือหาวิธีเรียนรู้จากเขา |
ข้อแนะนำในการพัฒนา Growth Mindset ให้กับตัวเองและพนักงานในองค์กร
เราทุกคนต่างมีส่วนผสมของทั้ง growth mindset และ fixed mindset ในสถานการณ์หนึ่งเราอาจนำ growth mindset ออกมาใช้ แต่ในบางสถานการณ์เราก็อาจเป็นคนที่มี fixed mindset เมื่อเจอปัญหาก็รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากพยายามได้เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการเปิดใจยอมรับจุดอ่อนของตัวเองและมองว่าปัญหาที่เข้ามาคือโอกาสที่จะทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองจึงจะทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคได้สำเร็จ
สำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้างานเมื่อเรามองเห็นพนักงานหรือลูกน้องของเรามี fixed mindset ก็ต้องพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เพราะหลายครั้งการที่พนักงานทำผลงานได้ไม่ดีไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความสามารถ เพียงแต่เขาไม่สามารถมองเห็นความสามารถของตัวเอง ไม่เชื่อว่าตนเองมีความสามารถมากพอที่จะทำงานให้สำเร็จได้ ดังนั้นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน การให้กำลังใจ ให้คำแนะนำและคำชมที่กระตุ้น growth mindset เพื่อผลักดันให้เขาพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไปแทนที่จะตำหนิเพียงอย่างเดียวก็จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานสามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการทำงาน
ในส่วนขององค์กรก็ต้องสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุน growth mindset โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพพนักงาน ควบคู่ไปกับเป้าหมายทางธุรกิจ มองว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะต่อยอดไปสู่ความสำเร็จ โอบรับการทำงานนอกกรอบและความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพราะหากองค์กรไม่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้และลงโทษพนักงานที่ล้มเหลวก็จะไม่มีใครกล้าทำอะไรนอกเหนือจากคำสั่ง กลายเป็นองค์กรที่มีแต่พนักงานที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไปในที่สุด การสร้าง growth mindset ให้พนักงานจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบระดับปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียวแต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุน growth mindset ร่วมกัน
อ้างอิง