Perfectionist ทำให้คุณมีผลงานที่ดี แต่อาจแลกกับสุขภาพจิตและความสัมพันธ์

สิงหาคม 29, 2567 คำแนะนำด้านอาชีพ
Perfectionist ทำให้คุณมีผลงานที่ดี แต่อาจแลกกับสุขภาพจิตและความสัมพันธ์
Perfectionist เป็นบุคลิกที่เหมือนดาบสองคม ในมุมหนึ่งคุณคือคนที่มีมาตรฐานการทำงานสูงที่บริษัทต้องการ แต่ในอีกมุมหนึ่งคุณอาจเหนื่อยเกินความจำเป็น หรือแม้กระทั่งเป็นคนทำงานด้วยยาก
.
สถิติโดย Psychological Bulletin พบว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีคนเป็น Perfectionist มากขึ้น ไม่ว่าในช่วงอายุใด ซึ่งเป็นผลมาจาก social media ที่ทำให้คนเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น และสังคมการทำงานที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น
.
แล้วคุณเป็นหนึ่งในคนทำงานที่นิยามตัวเองว่าเป็น Perfectionist ใช่หรือเปล่า? ถ้าใช่ มาทำความรู้จักตัวเองให้ดียิ่งขึ้นว่าคุณคือ Perfectionist ประเภทใด และคุณกำลังแลกความเพอเฟกต์กับอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า
.
1. Perfectionist ที่เกิดจากตัวเอง หมายความว่า คุณมีแรงขับในตัวเองที่จะพยายามทำทุกอย่างให้เพอเฟกต์ ไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่ และตั้งมาตรฐานให้สูงอยู่เสมอ เช่น คุณมักใช้เวลาเขียนอีเมลนาน นั่งอ่านทวนแล้วทวนอีกก่อนส่ง เพราะต้องการให้มันดูดีที่สุด แม้ว่าจะมีงานอื่นที่สำคัญกว่ารออยู่ก็ตาม
.
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ เช่น คุณอาจเสียเวลาและเหนื่อยเกินจำเป็นไปกับงานที่ไม่สำคัญ หรือ ในงานที่คุณมองว่าสำคัญ คุณจะยิ่งตั้งมาตรฐานสูงเกินความเป็นจริง จนทำให้ตัวเองเครียด กังวล ไม่สนุกกับงาน อยากผัดวันประกันพุ่ง และรู้สึกแย่กับตัวเองเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่หวัง
.
2. Perfectionist ที่เกิดจากสังคม หมายความว่า คุณรู้สึกว่าตัวเองถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือครอบครัว คุณจึงต้องการทำให้ทุกอย่างเพอเฟกต์แบบไม่มีข้อผิดพลาดเพื่อไม่ให้คนรอบข้างผิดหวัง
.
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ เช่น คุณจะกังวลว่าคนรอบข้างจะประเมินงานของคุณอย่างไร คุณต้องการการยอมรับและคำชมจากคนที่ทำงานด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม และนำไปสู่ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือเสียความมั่นใจเมื่อคนรอบข้างไม่แสดงออกอย่างที่คุณหวัง
.
3. Perfectionist คาดหวังในตัวผู้อื่น หมายความว่า นอกจากคุณเองจะตั้งมาตรฐานของตัวเองสูงแล้ว คุณยังคาดหวังให้คนรอบข้างมีมาตรฐานสูงเช่นเดียวกับคุณ เช่น หากคุณเป็นหัวหน้า คุณจะเก็บงานมากมายไว้ทำเองถ้ารู้สึกว่างานที่สั่งไม่ได้ตามที่คาดหวัง รวมถึงคุณมักจะแก้งานลูกน้องยิบย่อยในจุดที่ไม่ได้สำคัญมากนัก
.
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับคุณก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่อาจไม่ดีเท่าที่ควร บรรยากาศในการทำงานเป็นทีมที่ตึงเครียด และกระบวนการทำงานที่ไม่ราบรื่น
.
Perfectionist บางคนที่ไม่สุดโต่งมากก็อาจไม่เคยเจอปัญหาเหล่านี้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกว่านิสัยนี้เริ่มทำให้คุณเหนื่อยเกินไป ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อลดความสุดโต่งลงมา เช่น ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ / กำหนด deadline งานให้ชัดเจน / ฝึกดีใจกับความสำเร็จเล็ก ๆ / มองความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ / ลดการใช้ social media
.
และที่สำคัญที่สุดนั่นคือการปรับวิธีคิดว่า ‘ไม่มีใครเพอเฟกต์’ และ ‘ไม่จำเป็นต้องเพอเฟกต์’ แค่รักษามาตรฐานที่สูงอยู่แล้วของคุณให้อยู่ในระดับ ‘ยอดเยี่ยม’ หรือ ‘ดีมากพอ’ ก็สามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขกับการทำงานได้
.
อ้างอิง: https://www.fastcompany.com/.../why-perfectionism-at-work...
https://www.calm.com/blog/how-to-stop-being-a-perfectionist
https://www.forbes.com/.../a-psychologist-explains-why.../