Growth Mindset หรือ การที่คนคนหนึ่งมีความเชื่อว่าศักยภาพและพรสวรรค์เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ เมื่อเจออุปสรรคคนที่มี Growth Mindset ก็จะพยายามหาทางแก้ไขและก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเพื่อเอาชนะอุปสรรค Growth Mindset เป็นสิ่งที่หลายองค์กรส่งเสริมให้พนักงานมีเพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบันที่ต้องเจอกับความท้าทายและงานที่ซับซ้อนขึ้น
การชื่นชมความพยายาม ≠ การสนับสนุน Growth Mindset
อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับคอนเซปต์ของ Growth Mindset ซึ่งหนึ่งในความเข้าใจผิดนั้นก็คือ การที่จะสนับสนุน Growth Mindset คือการชื่นชมในความพยายาม แต่นี่เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะอย่างไรก็ตามในการทำงานเรายังคงต้องเน้นผลลัพธ์อยู่ และยังคงต้องหลีกเหลี่ยงความพยายามที่เปล่าประโยชน์ ดังนั้นความพยายามเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่การพยายามให้ถูกวิธีก็เป็นสิ่งสำคัญ
สิ่งที่แนวคิดเรื่อง Growth Mindset ให้ความสำคัญที่สุดก็คือเมื่อพยายามแล้วต้องเกิดการเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้วว่าวิธีเดิมไม่ได้ผลก็ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ เช่น ลองคิดกลยุทธ์ใหม่ เปลี่ยนวิธีทำงานใหม่ ลองขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นนอกจากจะชื่นชมในความพยายามแล้วหัวหน้ายังสามารถสนับสนุนลูกน้องให้ฝึก Growth Mindset ได้โดยการตั้งคำถามกับลูกน้องเมื่อเจออุปสรรคในงานที่ยากและท้าทายว่า ได้เรียนรู้อะไรจากวิธีที่ไม่ประสบความเร็จบ้าง? ยังมีอะไรที่เราสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้อีก? ยังมีวิธีไหนที่สามารถลองใช้แก้ปัญหานี้ได้ไหม? เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้องได้คิดหา solution ใหม่ๆ ในการทำงาน และพัฒนา Growth Mindset ของลูกน้อง
การที่เราคิดว่าลูกน้องอาจจะไม่ถนัดหรือมีความสามารถไม่ถึงในการทำงานชิ้นนี้ ก็เป็น Fixed Mindset อย่างหนึ่งสำหรับหัวหน้า เช่นในกรณีที่เมื่อลูกน้องเกิดปัญหาในการทำงานและเข้ามาปรึกษา ด้วยความเห็นใจคุณจึงปลอบใจไปว่า “ไม่เป็นไรนะ พี่เข้าใจว่าน้องทำเต็มที่แล้วเพราะนี่ไม่ใช่งานถนัดของคุณ” ประโยคนี้แม้ลูกน้องอาจจะช่วยปลอบโยนลูกน้องได้แต่ก็สะท้อน Fixed Mindset ที่หัวหน้ามีต่อลูกน้องที่ไม่เชื่อว่าลูกน้องจะมีศักยภาพทำงานนี้ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าลูกน้องไม่มีศักยภาพเพียงพอ ทั้งยังให้เขาล้มเลิกความตั้งใจเร็วเกินไปซึ่งเป็นการปิดโอกาสที่ลูกน้องจะได้ใช้พยายามที่จะพัฒนาตัวเอง ค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา และเรียนรู้จากการทำงานเพิ่มเติม เรามาดูตัวอย่างจากตารางดด้านล่างกันว่าหัวหน้าสามารถสื่อสารอย่างไรเพื่อให้สนับสนุนลูกน้องให้พัฒนา Growth Mindset
ตัวอย่างประโยคที่หัวหน้าควรพูดกับลูกน้องเพื่อส่งเสริม Growth Mindset
Fixed Mindset |
Growth Mindset |
ไม่เป็นไรนะ ไม่ใช่ทุกคนจะถนัดงานนี้ ทำให้เต็มที่แล้วกัน |
งานอาจจะยากสักหน่อย แต่คุณจะได้เรียนรู้เยอะมากจากงานนี้ |
ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ก็นี่ไม่ใช่งานถนัดของคุณนี่ |
ตอนนี้อาจยังไม่ถนัด แต่หากพยายามเรียนรู้ต้องพัฒนาขึ้นแน่ พี่เชื่อว่าคุณทำได้ |
ไม่ต้องกังวลไปนะ พยายามต่อไปเดี๋ยวก็ดีเอง |
ถ้าวิธีนี้ไม่เวิร์ค ลองวิธีใหม่ดูไหม ผิดพลาดได้ไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ เราจะได้เรียนรู้ |
ไม่เป็นไรนะ คุณพยายามเต็มที่แล้ว |
ติดปัญหาตรงไหนหรือเปล่า ตอนนี้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ยังมีวิธีไหนที่สามารถลองดูได้อีกไหม |
นอกจากวิธีสื่อสารที่จะช่วยกระตุ้นการสร้าง Growth Mindset แล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่หัวหน้าและองค์กรควรให้ความสำคัญอย่างมากคือ การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานได้สามารถลองผิดลองถูก ไม่มองความล้มเหลวเป็นความผิดพลาดแต่มองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเรียนรู้ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เปิดใจรับฟีดแบคอยู่เสมอ ก็จะช่วยผลักดันให้ทุกคนในทีมมี Growth Mindset พร้อมรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ เพราะหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยแล้ว เมื่อเจองานยากก็ไม่มีใครอยากทำเพราะกลัวทำได้ไม่ดี กลัวโดนตำหนิ ไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ Growth Mindset ที่เคยมีก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะรักษาไว้
อ้างอิง
What Having a “Growth Mindset” Actually Means
Carol Dweck Revisits the 'Growth Mindset'Growth Mindset: What to say, what not to say…