เราอาจเคยได้ยินคนพูดถึง IQ และ EQ กันบ่อยๆ แต่วันนี้ Adecco จะพาคุณมารู้จักอีก Q นึงซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันและเป็นสิ่งจำเป็นที่คนทำงานยุคนี้ต้องมี นั่นก็คือ AQ หรือ Adversity Quotient ค่ะ
AQ คืออะไร?
AQ (Adversity Quotient) คือ ความฉลาดในการรับมือกับปัญหา ซึ่งหมายถึงความสามารถทั้งกายและใจในการเผชิญกับปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือท้าทาย
AQ สำคัญต่อการทำงานอย่างไร?
ในอดีตองค์กรมักนิยมวัดศักยภาพคนด้วยการวัดระดับความฉลาดทางปัญญา (IQ) เพื่อดูว่าเก่งงานไหม และวัดระดับความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพื่อดูว่าเก่งคนไหม ซึ่งเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างไรก็ตามปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หลายครั้งธุรกิจหรือองค์กรอาจต้องเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างเช่น COVID-19 การเมือง หรือ disruption ต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าจากปัจจัยต่างๆ ดังนั้น AQ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บุคลากรของบริษัทจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ที่ยากเกินกว่าจะใช้เพียง IQ และ EQ แก้ปัญหาได้
AQ กับคน 3 ประเภท
หากเปรียบเทียบภูเขาคืออุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม เราสามารถจำแนกคนตามระดับ AQ ออกเป็นสามประเภทด้วยกัน
- Quitter หรือกลุ่มคนที่ถอดใจ คนพวกนี้จะมี AQ ต่ำ หากเปรียบปัญหาที่หนักหรือยากลำบากเหมือนยอดเขา คนกลุ่มนี้เมื่อเห็นยอดเขาก็จะบอกตัวเองว่ามันยากเกินไป ไม่มีทางข้ามได้ ปีนไปก็เหนื่อเปล่า ปฎิเสธความท้าทายโดยไม่ลองพยายามเลย คนกลุ่มนี้คือคนที่ไม่คิดที่จะพัฒนาตัวเอง และจะส่งผลให้องค์กรไม่ก้าวหน้าอีกด้วย
- Camper คนกลุ่มนี้มี AQ ในระดับปานกลาง เมื่อมองเห็นยอดเขา ก็ยังมีแรงใจและแรงกายที่จะปีนเขา แต่เมื่อทำไปได้สักพักพวกเขาอาจจะเหนื่อยและท้อ ขอแวะตั้งแคมป์พักตั้งหลักก่อน พอได้พักก็อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากปีนต่อแล้วและล้มเลิกความตั้งใจไป คนกลุ่มนี้หากอยู่ในองค์กรก็มักจะมีผลงานในระดับกลาง แม้ไม่หนีปัญหาแต่ก็ไม่ท้าทายสิ่งใหม่ๆ อาจเพราะหมดไฟหรือติดอยู่ในคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง ซึ่งหัวหน้าอาจต้องช่วยกระตุ้นอีกแรง โดยอาจมอบหมายงานที่ท้ายมากขึ้น ให้คำชมเพื่อเป็นกำลังใจ และสร้างแรงจูงใจให้กับพวกเขา
- Climber คนกลุ่มนี้มี AQ ในระดับสูง แม้ยอดเขาจะสูง แต่พวกเขาก็มีเป้าหมายชัดเจน และทำทุกวิถีทางที่จะก้าวข้ามไปให้ได้ รู้จักปรับตัวอดทนและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก คนกลุ่มนี้หากอยู่ในองค์กรก็มักจะเป็นคนที่ไม่จำนนต่อปัญหา คอยหาวิธีพัฒนาตัวเองและองค์กรอยู่เสมอ และไม่หยุดพอใจกับความสำเร็จที่ได้รับ จึงเป็นบุคลากรที่มีค่าสำหรับองค์กร
L-E-A-D: 4 ขั้นตอนเพิ่ม AQ ให้ตัวเอง
L — Listen to your adversity response
เมื่อเจอปัญหาขั้นแรกต้องเรียกสติกลับมา ลองฟังเสียงตัวเองว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรเมื่อเจอปัญหานั้น ปัญหาตอนนี้คืออะไร และเราอยากเปลี่ยนมันอย่างไร
E — Establish Accountability
คนเราเมื่อเจอปัญหาบางทีก็โทษโชคชะตาหรือโทษว่าเป็นเพราะคนอื่น จึงทำให้เราละเลยการลงมือแก้ปัญหาไป ดังนั้นบางทีการจะเริ่มต้นแก้ปัญหา เราต้องมองปัญหานั้นเป็นปัญหาของเราก่อน ว่าเราเป็นทั้งผู้มีส่วนได้และส่วนเสียจากปัญหานั้น ยกตัวอย่างเช่น หากวันนี้ยอดขายของบริษัทลดลงเพราะสถานการณ์โควิด หากเราไม่ได้อยู่ฝ่ายขายก็อาจจะคิดว่าไม่ต้องพยายามอะไรมากเพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายขาย เราก็จะไม่ลงมือทำอะไรเลย คิดว่าเป็นความโชคร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเราต้องทนไป แต่หากเรามองปัญหานี้เป็นปัญหาของตัวเอง มองในมุมที่ว่าการที่ยอดขายลดจะส่งผลกระทบกับเรา เช่น ไม่ได้โบนัส ไม่ได้เงินเดือนขึ้น อาจถูกเลย์ออฟ แต่หากยอดขายดีเราก็ได้รับผลพลอยได้ไปด้วย เมื่อคิดแบบนี้เราก็จะมีแรงจูงใจที่จะต่อสู้กับปัญหานี้ ช่วยสนับสนุนฝ่ายขายหรือลงแรงหาวิธีอะไรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหาเสียก่อน
A — Analyze the evidence
บ่อยครั้งที่เราอาจถอดใจล้มเลิกที่จะแก้ไขปัญหาเพราะมันดูยากเกินไป ดังนั้นเพื่อฝึกไม่ให้ถอดใจเร็วไป จึงมีข้อแนะนำว่าให้ลองสำรวจหาหลักฐานก่อนว่ามันเป็นไปไม่ได้จริงหรือ มันไม่มีทางแก้แล้วจริงหรือ มีปัจจัยอะไรที่เหนือการควบคุมและปัจจัยอะไรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราบ้าง ในข้อนี้คนที่เป็น quitter ก็จะหาเหตุผลสารพัดเพื่อรองรับการถอดใจของตัวเอง แต่หากเป็น climber ก็จะมองหาเหตุผล ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ ดังนั้นเราจึงควรฝึกคิดตาม mindset ของ climber ให้เป็นนิสัย
D — Do something
ขั้นตอนสุดท้ายของการฝึก AQ ก็คือการลงมือทำ! ลองดูว่ามีอะไรที่เราสามารถทำเพื่อแก้ปัญหาได้บ้าง บางปัญหาที่ดูเหมือนไม่มีทางออก เราอาจเริ่มต้องลงมือทำอะไรสักอย่างก่อนเพื่อให้เห็นลู่ทางในการแก้ไขปัญหา ถ้าวิธีที่ 1 ไม่ได้ผล ก็ลองวิธีที่ 2 หรือ 3 พยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ