How to แต่งตัวสัมภาษณ์งาน ให้ได้คะแนนเพิ่มจาก HR

กรกฎาคม 23, 2563 การเขียนเรซูเม่และเทคนิคการสัมภาษณ์งาน
How to แต่งตัวสัมภาษณ์งาน ให้ได้คะแนนเพิ่มจาก HR
เมื่อใกล้ถึงวันสัมภาษณ์งาน สิ่งหนึ่งที่ผู้สมัครต้องไม่ลืมเตรียมความพร้อมก็คือ “การแต่งตัวไปสัมภาษณ์งาน” การแต่งกายถือเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ที่ HR ใช้พิจารณาผู้สมัคร เพราะการแต่งกายสามารถสะท้อนบุคลิกภาพของผู้สวมใส่ และยังแสดงถึงมารยาทพื้นฐานในการสมัครงาน หากผู้สมัครแต่งกายดี ถูกกาลเทศะ ก็จะเป็นการให้เกียรติสถานที่และผู้สัมภาษณ์ ทั้งยังมีส่วนช่วยในการสร้างความประทับใจและความน่าเชื่อถือ ในทางกลับกันหากแต่งกายไม่ถูกกาลเทศะก็อาจทำให้ถูกหักคะแนนได้ Adecco จึงได้รวบรวม 3 ทริคง่ายๆ ที่จะช่วยคุณแต่งตัวไปสัมภาษณ์งานและรับคะแนนเพิ่มจาก HR มาฝากกันค่ะ

1. แต่งกายสุภาพ

การแต่งกายสุภาพเป็นการแสดงออกถึงมารยาทพื้นฐานในการสมัครงาน และเสริมความน่าเชื่อถือให้กับผู้สมัคร การแต่งกายให้สุภาพจึงเป็นสิ่งที่ผู้สมัครคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเสมอ

ผู้หญิง - สำหรับการแต่งกายของผู้หญิงสามารถใส่ได้หลากหลาย ทั้งการจับคู่เสื้อกับกระโปรงหรือกางเกงขายาว หรือจะใส่เดรสก็ได้ สำหรับการใส่สูทก็ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้สมัครว่าอยากได้ลุคที่ดูภูมิฐานมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการแต่งกายที่เปิดเผยจนเกินไปเพราะจะเป็นการแต่งกายที่ไม่เหมาะถูกกาลเทศะ โดยไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น หรือกระโปรงที่สั้นมากจนเกินไป หากใส่สายเดี่ยวควรมีเบลเซอร์หรือสูทคลุมทับเสมอ และไม่ควรแต่งกายลำลองจนเกินไป เช่น การใส่เสื้อยืด ใส่เสื้อลายการ์ตูน ตาข่าย หรือลายดอกใหญ่ๆ สีที่ใช้ควรเป็นสีที่ไม่ฉูดฉาด สำหรับรองเท้าสามารถใส่ได้ทั้งส้นสูงและส้นแบนแต่ควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น



ผู้ชาย - สำหรับผู้ชาย การแต่งกายพื้นฐานจะเป็น เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงสแล็ค เข็มขัด และรองเท้าหนัง โดยอาจเพิ่มเนคไทและสูท เพื่อสร้างความภูมิฐานได้ โดยดูตามความเหมาะสมของตำแหน่งและองค์กรที่สมัคร สำหรับโทนสีที่แนะนำสำหรับการสัมภาษณ์งาน น้ำเงิน ดำ เทา ขาว เบจ ส่วนข้อควรระวังที่ผู้สมัครชายมักทำพลาดบ่อยในการแต่งตัวมาสมัครงาน ได้แก่ การพับแขนเสื้อ การใส่กางเกงยีนส์ การใส่รองเท้าผ้าใบ การไม่โกนหนวดเครา ไม่จัดแต่งทรงผมให้เรียบร้อย ผู้สมัครต้องอย่าลืมใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นะคะ


2. แต่งกายสะท้อนบุคลิก

การแต่งกายไปสัมภาษณ์งานนอกจากจะต้องมีความสุภาพเป็นพื้นฐานแล้ว ยังควรสะท้อนบุคลิกของผู้สมัครด้วย เพราะหากผู้สมัครทุกคนแต่งตัวเหมือนกันหมด ก็ยากที่ผู้สัมภาษณ์จะจดจำเราได้ ผู้สมัครจึงควรเลือกชุดที่มีความเป็นตัวตนของเราอยู่ในนั้นบ้าง เพื่อสะท้อนความเป็นตัวเองให้ผู้สัมภาษณ์สามารถจดจำบุคลิกเราได้ และยังช่วยเสริมความมั่นใจในการสัมภาษณ์ให้กับตนเองด้วยค่ะ



3. แต่งกายให้เหมาะกับสายงานและองค์กรที่ไปสัมภาษณ์

การทำงานในสายงานและองค์กรที่ต่างกัน ก็มีระดับความเป็นทางการของการแต่งกายที่ต่างกันไป และมีเกณฑ์ในการประเมินที่แตกต่างกัน คุณอาจต้องทำการวิเคราะห์ว่าการแต่งกายไปสมัครงานยังองค์กรนั้นๆ ต้องการลุคอย่างไร

บางอาชีพที่ต้องการความน่าเชื่อถือสูง ผู้สมัครควรแต่งกายอย่างเป็นทางการมาก เช่น อาชีพด้านการเงิน ที่ปรึกษา ผู้บริหาร การสมัครงานในสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ผู้สมัครชายควรใส่สูทผูกไทด์ ผู้หญิงควรเลือกใส่กระโปรงมากกว่ากางเกง พยายามเลือกเสื้อสีพื้นที่ไม่มีลวดลายหรือระบายมากนัก



แต่หากไปสมัครงานในองค์กรหรืออาชีพที่เป็นสายครีเอทีฟ สายแฟชั่น งาน PR องค์กรเหล่านี้อาจจะประเมินรสนิยมของผู้สมัครที่สะท้อนออกมาจากการแต่งกายด้วย ดังนั้นเราอาจต้องเปลี่ยนการแต่งกายให้สร้างสรรค์ขึ้นสักนิด เช่น ผู้ชายเปลี่ยนจากสูทที่ทางการมากๆ เป็นสูทกึ่งลำลอง มีการ mix & match คู่สีโทนสุภาพ เช่น สีน้ำเงิน ขาว ครีม หรือ ดำ ขาว เทา ไม่ใส่เนคไทด์ สำหรับผู้หญิง อาจลองเลือกชุดคัทติ้งสวย หรือที่มีดีเทลขึ้นสักนิด มาจับคู่กับเบลเซอร์และเครื่องประดับเก๋ๆ ก็จะสามารถสร้างลุคกึ่งทางการที่ดูทันสมัยและน่าเชื่อถือไปพร้อมๆ กัน