โลกของเราทุกวันนี้ตระหนักเรื่องความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้น อย่างกรณี การเรียกร้องสิทธิเพื่อคนผิวสี ซึ่งปกติแล้วก็อาจจะจำกัดวงในหมู่คนผิวสีหรือในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ทุกวันนี้นี้ผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะผิวสีอะไรหรือเชื้อชาติอะไรต่างก็ร่วมสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว เราจะเห็นว่าการต่อสู้เพื่อความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมค่อยๆ กลายเป็นวาระสำคัญของโลกในปัจจุบัน
ในสังคมไทยเองเราก็เริ่มเห็นผู้คนยกประเด็นเรื่อง การเหยียดเพศ เหยียดรูปร่าง เหยียดเชื้อชาติ เหยียดความรวยจน เหยียดสถานภาพ เหยียดคนเห็นต่างทางการเมือง มาพูดถึงหลายต่อหลายครั้งในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเองก็กำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้ไม่ต่างกัน
ความหลากหลายเริ่มต้นที่กระบวนการสรรหา
การสร้างความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้น จุดเริ่มต้นสำคัญอยู่ที่กระบวนการสรรหา เพราะเป็นเหมือนด่านแรกที่จะเปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งมุมมอง ความคิด และประสบการณ์ เข้ามามีส่วนร่วมในองค์กร
เรามักพบว่าหลายองค์กรมีการกำหนดนโยบายด้าน Diversity & Inclusion ที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมักเกิดในระดับบุคคล เพราะต้องไม่ลืมว่าในกระบวนการสรรหาเรายังใช้มนุษย์เป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ผู้สมัครจะถูกตัดสินจากความคิดเห็นส่วนบุคคล โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง รูปร่างหน้าตา เพศ อายุ สถาบันการศึกษา ที่มักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกคนเข้าองค์กร มากกว่าที่จะโฟกัสในด้านทักษะและความสามารถของผู้สมัคร
กรณีที่อาจพบได้ทั่วไป เช่น
- การชื่นชอบผู้สมัครที่หน้าตาดี บุคลิกดี
- ตัดสินความสามารถจากสถาบันที่จบมา
- ให้โอกาสผู้ที่จบสถาบันเดียวกับตนมากกว่า
- ใช้อายุเป็นปัจจัยในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
- ไม่ให้โอกาสเพศทางเลือกเข้ารับสมัครงาน
- ไม่ให้โอกาสเพศหญิงหรือเพศทางเลือกเข้ารับตำแหน่งหัวหน้างาน
- ไม่ให้โอกาสผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างจากตน
สิ่งเหล่านี้มักเกิดจาก “อคติส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (unconscious bias)” ซึ่งก็คือ การตัดสินคนโดยเหมารวมเอาจากประสบการณ์ในอดีตของผู้สรรหาหรือหัวหน้างานที่มีส่วนตัดสินใจคัดเลือกพนักงาน ทำให้มีการล็อคสเป็คผู้สมัครอยูเสมอ โดยใช้เกณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากทักษะและความสามารถมาตัดสิน ดังนั้นเพื่อให้นโยบายถูกนำมาปฏิบัติจริง องค์กรจึงต้องมีแผนดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในองค์กร สร้างเกณฑ์การคัดเลือกที่เป็นรูปธรรม และสร้างวัฒนธรรมแห่งการยอมรับความหลากหลายให้เกิดขึ้นในองค์กร
เราจะสร้างสรรค์สังคมการทำงานที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร
การสร้างความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในองค์กร เราอาจต้องกลับมามองใน 3 ประเด็นหลักคือ Diversity (ความหลากหลาย) Equity (ความเท่าเทียม) และ Inclusion (การมีส่วนร่วม)
Diversity คือ ความหลากหลายของผู้คนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ เพศกำเนิด ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว การศึกษา วัฒนธรรม สังคม ความพิการ ความเจ็บป่วย รสนิยมทางเพศ สถานภาพการสมรส สถานภาพทางสังคม หรือความเห็นทางการเมือง |
Equity คือ การที่คนในองค์กรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการในการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน อัตราค่าตอบแทน การพัฒนาศักยภาพพนักงาน การเลื่อนขั้น สภาพการทำงาน โดยปราศจากอคติที่มีต่อความหลากหลายและแตกต่าง แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทักษะและความสามารถเป็นหลัก |
Inclusion คือ การยอมรับและผสานความแตกต่างของบุคคลในองค์กรเข้าด้วยกัน เช่น การส่งเสริมและให้คุณค่ากับความแตกต่างของบุคคลในองค์กร การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กร |
โดยองค์กรต้องกำหนดสามข้อนี้เป็นเป้าหมายในการบริหารจัดการความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายและระเบียบปฏิบัติ ด้านการสรรหาบุคลากร ด้านการฝึกอบรม รวมไปถึงการรักษาบุคคลากร ซึ่งหากองค์กรสามารถทำตรงนี้ได้ นอกจากจะเป็นการทำให้พนักงานได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคและสร้างสรรค์สังคมการทำงานที่ดีแล้ว องค์กรยังได้ประโยชน์เชิงธุรกิจมากมาย ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น การเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร การเพิ่มความสามารถการดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้กับองค์กร รวมถึงประโยชน์ด้านภาพลักษณ์และการตลาด
สำหรับท่านใดที่สนใจเจาะลึกถึงรายละเอียดว่า Diversity คืออะไร สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร รวมถึงกลยุทธ์และวิธีบริหารจัดการเพื่อการยอมรับความหลากหลายและอยู่ร่วมกันเท่าเทียม Adecco ได้จัดทำ white paper รวมเนื้อหาเกี่ยวกับ Diversity ที่ HR ควรรู้ โดยสามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ ที่นี่