วิธีบริหารลูกน้อง Gen Z สำหรับหัวหน้างาน

เมษายน 26, 2566 การพัฒนาภาวะผู้นำ
วิธีบริหารลูกน้อง Gen Z สำหรับหัวหน้างาน

ผลสำรวจโดย EY หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า Gen Z กว่า 77% จากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,400คนบอกว่า พวกเขาอยากมีหัวหน้างานเป็นคน Gen Y มากที่สุด เพราะคิดว่าน่าจะมีทัศนคติหลาย ๆ อย่างที่ใกล้เคียงกัน  

แม้หัวหน้า Gen Y อาจจะมีแต้มต่อในตอนเริ่มมากกว่าหัวหน้า Gen อื่น ๆ แต่เมื่อได้เริ่มทำงานร่วมกันแล้ว generation ก็คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าคุณและลูกน้องพยายามปรับตัวและทำความเข้าใจกันมากแค่ไหนดังนั้นมาลองดูตัวอย่างกันว่า คุณในฐานะหัวหน้าจะมีวิธีบริหารลูกน้อง Gen Z อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าที่เข้าใจลูกน้อง 

1.ให้ความสำคัญกับการให้และรับ feedback

คนรุ่นนี้ชอบแสดงความคิดที่มีต่องานและอยากรู้ feedback ที่มีต่อตัวเองว่าทำงานได้ดีแค่ไหนจากมุมมองของผู้อื่น โดยเฉพาะ feedback ที่ได้รับเลย ไม่ต้องรอนาน ดังนั้นถ้าเป็นงานทั่วไป ไม่ใช่โปรเจกต์ใหญ่ การให้ feedback เป็นข้อความแสดงความรู้สึกสั้น ๆ แค่นั้นก็โอเคแล้ว การสอนงานคน Gen Z จึงไม่ควรเป็นแบบ one way communication แต่ต้องคอยรับฟังความคิดเห็น รับฟังปัญหา และให้คำแนะนำ การให้คำแนะนำแบบหนึ่งที่สามารถทำได้คือการเล่าประสบการณ์ตรงที่คุณเคยเจอพร้อมสิ่งได้เรียนรู้ นอกจากจะทำให้ลูกน้องเกิดความสนใจมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าคุณเปิดใจ และลูกน้องเองก็จะกล้าเล่าปัญหาต่าง ๆ ให้คุณฟังมากขึ้น 

2.พูดคุยกันบ่อย ๆ

ผลสำรวจพบว่าคน Gen Z ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน ในหนึ่งวันพวกเขาอยากพูดคุยกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานหลาย ๆ ครั้งมากกว่าแค่ตอนประชุม คุณจึงควรหาเวลาพูดคุยกับพวกเขาบ้าง จะเป็นการคุยเล่นหรือคุยจริงจังก็ได้ เปลี่ยนการวางตัวจากหัวหน้าที่ลูกน้องไม่กล้าคุยด้วยให้มีความเป็นกันเองมากขึ้น แล้วคุณอาจพบว่าความสัมพันธ์ที่ดีในทีมยังช่วยให้งานราบรื่นขึ้นได้อีกด้วย 

3.ให้ Gen Z รับผิดชอบงานของตัวเอง

คนรุ่นนี้ชอบอิสระในการทำงาน ชอบความท้าทาย ไม่กลัวความล้มเหลว โดยผลสำรวจของ EY พบว่า Gen Z กว่า 80% มองว่าความผิดพลาดจะช่วยสอนให้ตัวเองเก่งขึ้น ดังนั้นคุณสามารถสั่งงานโดยวางโจทย์ไว้คร่าว ๆ แล้วให้พวกเขาไปพัฒนาเป็นโปรเจกต์ที่ตัวเองอยากทำแล้วนำมาเสนอ แต่ข้อควรระวังคือต้องพิจารณาความสามารถของพวกเขาก่อนว่าพอไหวไหมเพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่สามารถรับผิดชอบโปรเจกต์ด้วยตัวเองได้  

4.ให้ความสำคัญกับ work-life balance ของลูกน้อง

คน Gen Z ส่วนหนึ่งมองว่า work-life balance เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องการมีหัวหน้าที่เข้าใจความต้องการเรื่องนี้ด้วย พวกเขาอยากให้หัวหน้าประเมินผลงานจากผลลัพธ์ที่ออกมามากกว่าชั่วโมงการทำงาน ซึ่งคุณสามารถให้ความสำคัญกับ work-life balance ของลูกน้องได้ เช่น แสดงออกให้ลูกน้องรู้ว่าสามารถบอกได้เมื่อ workload มากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ผิดถ้าคุณจะสอนให้คนรุ่นนี้เข้าใจความสำคัญของการทำงานเกินเวลาในบางครั้งที่จำเป็น 

5.สร้างเป้าหมายร่วมกันในการทำงาน

การวางเป้าหมายของทีมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยตอบโจทย์ความชอบการทำงานที่มีเป้าหมายของคน Gen Z การวางเป้าหมายของทีมยังช่วยให้ทุกคนในทีมไม่ว่าเป็น gen เกิดสามัคคีอยากช่วยเหลือกันเพื่อให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน นอกจากนี้การเล่า impact ของงานที่กำลังทำให้ Gen Z เข้าใจ ยังจะช่วยให้พวกเขารู้สึกมีแรงกระตุ้นมากขึ้นอีกด้วย 

6.อย่าหมดหวังในตัวเอง

การทำงานกับรุ่นใหม่ย่อมเป็นความท้าทายโดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งรับตำแหน่งหัวหน้าได้ไม่นาน ดังนั้นหากมีข้อผิดพลาดใด ๆ ในการดูแลคนรุ่นนี้ อย่าเพิ่งท้อ ให้ถือว่าคุณเองก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากข้อผิดพลาดเช่นกัน  

 

ลองนึกย้อนกลับไปตอนที่คุณทำงานแรก ๆ คุณน่าจะเคยคาดหวังให้หัวหน้าเป็นคนที่เข้าหาคุณก่อน ดังนั้นในตอนนี้ที่คุณเป็นหัวหน้าแล้ว อย่าลืมเป็นคนที่เปิดใจและพยายามเข้าหาลูกน้องก่อน การปรับตัวเข้าหากันคงต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง แต่เมื่อเข้าใจกันแล้ว คุณอาจจะพบว่าความแตกต่างระหว่างวัยนี่แหละที่ทำให้การทำงานมีสีสันมากยิ่งขึ้น 

 

Credit: 

https://www.forbes.com/sites/theyec/2022/10/25/5-ways-to-improve-the-millennialgen-z-working-relationship/?sh=18eb2f307d54 

https://www.inc.com/ryan-jenkins/the-2019-workplace-7-ways-generation-z-will-shape-it.html