LGBTQI+ ไม่ได้มีแค่ธงรุ้ง ทำความรู้จักธงสะท้อนตัวตนแบบอื่น ๆ ต้อนรับ Pride Month

มิถุนายน 06, 2566 ไลฟ์สไตล์
LGBTQI+ ไม่ได้มีแค่ธงรุ้ง ทำความรู้จักธงสะท้อนตัวตนแบบอื่น ๆ ต้อนรับ Pride Month

ในโลกแห่งความแตกต่างหลากหลาย แต่ละเพศต่างมีความลึกซึ้งในตัวตน ธงของชาวเพศทางเลือกจึงไม่ได้มีแค่ธงสีรุ้ง! มาทำความรู้จักตัวตนของชาว LGBTQI+ แต่ละกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น ผ่านความหมายแฝงที่สะท้อนอยู่ในธงเฉพาะของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศและต้อนรับ Pride Month ในไปด้วยกัน

Bisexual Flag

Bisexual flag

(ออกแบบโดย Michael Page ในปี 1998)

ไอเดียของธงนี้คือการผสมผสานกันระหว่างสีชมพูกับสีน้ำเงินและเกิดเป็นสีม่วงที่อยู่ตรงกลาง โดยสีชมพูแทนความดึงดูดต่อเพศเดียวกัน สีน้ำเงิน royal blue แทนความดึงดูดต่อเพศตรงข้าม และสีม่วงแทนความดึงดูดต่อคนทั้งสองเพศ ซึ่งก็คือนิยามของไบเซ็กชวลนั่นเอง นอกจากนี้ ความกลมกลืนของธงยังสะท้อนถึงลักษณะของคนที่เป็นไบเซ็กชวลที่สามารถผสมกลมกลืนไปกับทั้งกลุ่ม straight และกลุ่มคนที่ชอบเพศเดียวกันอีกด้วย

Transgender Flag

Transgender flag

(ออกแบบโดย Monica Helms ในปี 1999)

ทรานส์เจนเดอร์คือคนข้ามเพศ ที่มีเพศในปัจจุบันต่างจากเพศโดยกำเนิด ซึ่งธงนี้ก็สะท้อนลักษณะตามที่กล่าวมาของทรานส์เจอเดอร์ นั่นคือ สีฟ้าอ่อนและสีชมพูอ่อนสื่อถึงเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ส่วนสีขาวสื่อถึงกลุ่มคนที่แปลงเพศ หรือคนที่เป็นกลางทางเพศ หรือคนที่มีเพศกำกวม (intersex) นอกจากนี้ ความสมมาตรของธงยังทำให้เห็นว่า “ไม่ว่าธงจะโบกไปอย่างไร ความหมายที่ส่งออกไปก็จะสะท้อนถึงตัวตนได้เช่นเดิม

Asexual Flag 

Asexual flag

(ออกแบบโดยกลุ่ม Asexual ในปี 2010)

เอเซ็กชวลคือคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับใคร หรือไม่ค่อยมีความสนใจกิจกรรมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น กอด จูบ หรือเพศสัมพันธ์ จนอาจเรียกว่าเป็นคนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ โดยธงของกลุ่มเอเซ็กซวลประกอบด้วยสี่สีที่ช่วยสะท้อนความหมาย ได้แก่ สีดำแทนความไม่ฝักใฝ่ทางเพศ สีเทาแทนความก้ำกึ่งระหว่างฝักใฝ่ทางเพศและไม่ฝักใฝ่ทางเพศ สีขาวแทนความเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม LBGTQI+ อื่น ๆ และสีม่วงแทนการรวมกลุ่ม

Pansexual Flag 

Pansexual flag

(ออกแบบในปี 2010)

แพนเซ็กชวล คือคนที่เปิดกว้างเรื่องความรักโดยไม่ใช้เรื่องเพศเป็นตัวกำหนด (pan- มาจากภาษากรีก แปลว่า ทั้งหมด) ความดึงดูดต่อคนทั้งหมดถูกสะท้อนออกมาในธงของแพนเซ็กซวล ได้แก่ สีชมพูแทนความดึงดูดต่อเพศหญิง สีฟ้าแทนความดึงดูดต่อเพศชาย และสีเหลืองแทนความดึงดูดต่อเพศใด ๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง

Intersex Flag

Intersex flag

(ออกแบบโดย Morgan Carpenter ในปี 2013)

หนึ่งในธงที่มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ต่างจากธง LGBTQI+ อื่น ๆ นั่นคือธงของอินเตอร์เซ็กซ์ หรือคนที่มีลักษณะทางร่างกายไม่เป็นชายหรือหญิงชัดเจน เนื่องจากมีโครโมโซมเพศที่แตกต่างออกไป โดยเป็นธงที่มีสีเหลืองเป็นหลัก สื่อถึงความไม่ใช่ชายหรือหญิง และใช้วงกลมสีม่วง สื่อถึงความสมบูรณ์และถูกต้อง ไม่ว่าอินเตอร์เซ็กซ์จะเลือกเส้นทางใดก็ตาม

Nonbinary Flag 

Nonbinary flag

(ออกแบบโดย Kye Rowan ในปี 2014)

นอนไบนารี คือคนที่ระบุว่าตัวเองไม่ใช่ทั้งชายและหญิง ซึ่งรวมถึงกลุ่มเควียร์ queer (คำเรียกโดยกว้างของเพศที่สาม) และกลุ่ม genderfluid (คนที่มีความลื่นไหลของอัตลักษณ์ทางเพศที่สามารถเปลี่ยนไปมาได้) นอนไบนารีจึงมักต้องการให้ผู้อื่นเรียกแทนว่า they/them มากกว่าสรรพนามระบุเพศ ธงของคนกลุ่มนี้จึงประกอบด้วยสีต่าง ๆ ที่แทนคนกลุ่มย่อยของนอนไบนารี ได้แก่ สีเหลืองแทนคนที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด สีขาวแทนการรวมกัน สีม่วงลาเวนเดอร์แทนคนที่เป็นเควียร์ และสีดำแทนคนที่ไม่ต้องการระบุเพศ

Lesbian Flag 

Lesbian flag

(ออกแบบโดย Emily Gwen ในปี 2018)

ธงของเลสเบี้ยนค่อนข้างมีหลายรูปแบบ และมีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง แต่ธงที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันคือธงที่ใช้แถบสีส้มและสีชมพูเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งเวอร์ชัน 5 แถบและ 7 แถบ ประกอบด้วย สีส้มเข้ม แทนความไม่สอดคล้อง สีส้มอ่อน แทนการรวมกลุ่ม สีขาว แทนความสัมพันธ์ที่มีเอกลักษณ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง สีชมพู แทนความสงบและสันติภาพ และสีกุหลาบเข้ม (dark rose) แทนเฟมินิสต์ สำหรับเวอร์ชัน 7 แถบจะมีการเพิ่ม สีส้ม แทนความอิสระ และสีชมพูหม่น (dusty pink) แทนความรักและเซ็กส์

Progress Pride Flag

Pride progress flag

(ออกแบบโดย Danial Quaser ในปี 2018)

ธงที่รวบรวมหลาย ๆ ธงของคอมมูนิตี้ LGBTQI+ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการออกแบบต่อยอดจากธงหลักสีรุ้ง เพื่อเพิ่มมิติความหมายของการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างอย่างเป็นหนึ่ง (inclusion) และความก้าวหน้า (progression) โดยสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่ แถบสีน้ำตาลและสีดำ เพื่อสื่อถึงกลุ่ม LGBTQI+ ผิวสี และกลุ่มคนที่มีเชื้อ HIV/AIDS และแถบสีฟ้า ชมพู ขาว ซึ่งก็เป็นธงของ Transgender โดยนำทั้งหมดนี้มาเรียงเป็นสัญลักษณ์หัวลูกศรเพื่อสะท้อนการเดินหน้าต่อสู้ ด้วยความหมายที่ดี ทำให้ธงนี้เป็นอีกหนึ่งธงทางเลือกที่เราได้เห็นกันบ่อย ๆ ในเดือน Pride Month แบบนี้นั่นเอง

อ้างอิง: https://www.volvogroup.com/en/news-and-media/news/2021/jun/lgbtq-pride-flags-and-what-they-stand-for.html

https://outrightinternational.org/insights/flags-lgbtiq-community#:~:text=Created%20in%201978%20by%20Gilbert,harmony%20and%20violet%20for%20spirit