หิวแสงคืออะไร? จิตวิทยาเบื้องหลังความหิวแสงในโลกโซเชียล

กรกฎาคม 27, 2564 ไลฟ์สไตล์
หิวแสงคืออะไร? จิตวิทยาเบื้องหลังความหิวแสงในโลกโซเชียล

หิวแสง คือ อะไร 

คำว่า “หิวแสง” เป็นศัพท์สแลงใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้โดยชาวเน็ตใช้เรียกคนที่ต้องการเป็นจุดสนใจจากสังคมผ่านการทำคอนเทนต์ในรูปแบบเกาะกระแสหรือเรียกดราม่าเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดไลก์ ยอดรีทวีต ยอดแชร์ ยอดคนติดตาม ซึ่งบางครั้งความอยากเป็นจุดสนใจมากเกินไปก็ทำให้คนคนนั้นๆ เลือกใช้วิธีการผิดๆ เช่น โจมตีด่าทอคนอื่นหรือ การโกหกสร้างภาพ หรือทำสิ่งที่ส่งผลให้คนอื่นเดือดร้อน  

ทำไมคนเราถึงหิวแสง 

อาการหิวแสงคือการอยากเป็นจุดสนใจมากเกินไปและแสดงออกในทางที่ไม่ดีเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามการอยากเป็นจุดสนใจนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องแสดงออกในด้านที่ไม่ดีเสมอไป ก่อนอื่นเราต้องมองเรื่องการอยากเป็นจุดสนใจเป็นเรื่องกลางๆ ก่อน 

การอยากเป็นจุดสนใจและเรียกร้องความสนใจมากเกินไป (Excessive Attention-Seeking) มักเกิดในเวลาที่เรามีภาวะจิตใจที่รู้สึกไม่มั่นคง (insecure) เมื่อเราไม่ได้รับความสนใจ สมองของเราจะตีความว่าเป็นสถานการณ์ที่อันตรายและจะสั่งการให้เราทำหรือหยุดทำอย่างใดอย่างหนึ่ง  

ในโลกออนไลน์เราอาจโพสต์อะไรสักอย่างในไทม์ไลน์หรือคอมเมนต์ในประเด็นดราม่าสักเรื่อง ซึ่งดราม่านั้นเป็นตัวกระตุ้นสมองชั้นดีให้หลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมาจึงทำให้คนเราเสพติดดราม่าได้ง่าย เช่น เวลาที่เราไปคอมเมนต์ดราม่าอะไรสักเรื่องแล้วมีคนกดไลก์หรือคอมเมนต์ในเชิงสนับสนุนเราก็จะรู้สึกดีที่ความคิดเห็นของเราได้รับการยอมรับ ยิ่งมีคนไลก์เยอะก็ยิ่งฟิน และยิ่งอยากได้ยอดไลก์ที่สูงกว่าเดิมเรื่อยๆ ในเคสที่รู้สึกว่ายอดไลก์เป็นรางวัลนอกจากสมองจะหลั่งสารเอ็นโดฟินแล้ว ยังหลั่งสารโดปามีนออกมาด้วยทำให้ยิ่งรู้สึกฟินคูณสอง แต่หากโพสต์แล้วไม่มีคนสนใจก็จะรู้สึกแย่และมีความยอมรับนับถือ ตัวเองที่น้อยลง (self-esteem) ดังนั้นคนที่หิวแสงจึงคอยพยายามหาวิธีที่จะเป็นจุดสนใจของผู้อื่นอยู่เสมอเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมั่นคง  

นอกจากนี้ความกลัวตกกระแสที่เรียกว่าโฟโม่ (FOMO: Fear Of Missing Out) ก็ยังคอยกระตุ้นให้คนหิวแสงต้องคอยวิ่งไล่แสงอยู่เสมอ ต่างจากคนทั่วไปที่มีจุดยืนชัดเจนที่จะเลือกติดตามเฉพาะสิ่งที่ตนสนใจเท่านั้น 

ไม่อยากเป็นคนหิวแสง ต้องแก้ไขอย่างไร 

การอยากเป็นจุดสนใจเป็นธรรมชาติการทำงานของสมองที่เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่เราสามารถควบคุมตัวเองไม่ให้เรียกร้องความสนใจมากเกินไปและไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่ดีได้  

การจะจัดการกับอาการอยากเป็นจุดสนใจ อันดับแรกคือต้องยอมรับนับถือตัวเองให้มากขึ้น (self-esteem) ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น โฟกัสสิ่งดีๆ ที่เรามีมากกว่าสิ่งเราที่ยังขาด นอกจากนี้การหาเพื่อนที่จริงใจคอยเตือนเราเมื่อเราทำตัวเป็นดราม่าควีน เรียกร้องความสนใจจนเกินไป หรือหากิจกรรมที่ชอบทำนอกจากเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อผ่อนคลายดูบ้างก็สามารถช่วยได้เช่นกัน 

 

อ้างอิง 

Psychologytoday: Excessive Attention-Seeking and Drama Addiction 

Researchgate: An Investigation of Attention-Seeking Behavior through Social Media Post Framing