10 เหตุผลทำไมสมัครงานแล้วไม่ได้งาน

August 31, 2021 Career Advice
10 เหตุผลทำไมสมัครงานแล้วไม่ได้งาน

อยากรู้ไหมทำไมสมัครงานแล้วไม่ได้สักที มาดูกันว่าสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ผู้สมัครพลาดการได้งานตามที่หวังไว้ ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็อาจไม่ใช่เพราะคุณไม่ดีพอ แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน

 

  1. อัตราการแข่งขันสูง
    ด้วยสภาพตลาดแรงงานที่มีคนว่างงานสูงขึ้น ส่งผลให้การสมัครงานแต่ละตำแหน่งมีการแข่งขันสูง ข้อมูลล่าสุดจาก JobsDB เมื่อต้นปี 2564 พบว่าในแต่ละตำแหน่งที่เปิดรับจะมีผู้สมัครงานเฉลี่ย 100 คน ต่อ 1 ตำแหน่งงาน ดังนั้นโอกาสที่คุณจะได้งานจึงมีน้อยลงกว่าแต่ก่อน

  2. เรซูเม่ไม่น่าสนใจ
    ว่ากันว่าโดยทั่วไป HR จะดูเรซูเม่ของคุณเพียง 7 วิเท่านั้น ดังนั้นจึงสำคัญมากที่คุณจะต้องเขียนเรซูเม่ให้น่าสนใจและนำเสนอจุดขายของตัวเองออกมาให้ได้ และพยายามอย่าส่งเรซูเม่แบบหว่าน แต่ปรับเนื้อหาเรซูเม่ใหม่ให้สอดคล้องกับงานที่สมัคร เลือกใช้ศัพท์ที่เน้นความสามารถให้โดดเด่น รวมถึงการเขียนอีเมลสมัครงานแบบมืออาชีพ บอกเล่าว่าคุณจะสามาระทำประโยชน์ได้อย่างไร แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการสมัครงาน ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานให้กับคุณได้

  3. คุณสมบัติไม่ตรงกับงานที่สมัคร
    ในการรับคนทำงานองค์กรจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติอย่างละเอียดว่าเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นๆ ไหม ยิ่งในตอนนี้ที่มีผู้สมัครจำนวนมาก องค์กรจึงมีตัวเลือกเยอะ สามารถเลือกพิจารณาคนที่คุณสมบัติและประสบการณ์ตรงในสายงานและอุตสาหกรรมก่อนได้ ดังนั้นแม้คุณสมบัติของคุณจะค่อนข้างตรงแล้ว ก็อาจมีคนที่องค์กรมองว่ามีคุณสมบัติเหมาะกว่าก็เป็นได้ ดังนั้นในระหว่างที่ว่างงานหรือกำลังรองานใหม่ผู้สมัครต้องคอยพัฒนาทักษะต่างๆ และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานอยู่เสมอเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดแรงงาน

  4. เรียกเงินเดือนสูงเกินไป
    หากเงินเดือนที่เรียกมาสูงกว่าโครงสร้างองค์กรมาก องค์กรอาจไม่โทรมาต่อรองเงินเดือนเพราะมองว่าไม่สามารถจ้างคุณได้ หรือเรียกเงินเดือนสูงไม่สอดคล้องกับทักษะความสามารถ เช่น กรณีจบใหม่ไม่ทราบว่าต้องเรียกเงินเดือนเท่าไรดี กรณีสมัครงานข้ามสายหรือย้ายอุตสาหกรรมที่องค์กรอาจมองว่าคุณยังขาดทักษะและประสบการณ์ตามที่ระบุไว้ กรณีนี้ก็อาจทำให้องค์กรไม่พิจารณาในการจ้างคุณได้เช่นกัน ดังนั้นการเรียกเงินเดือนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ผู้สมัครจะต้องศึกษาข้อมูลเงินเดือนในตลาดมาก่อนเพื่อช่วยในการตัดสินใจ
    การเรียกเงินเดือนนั้นเป็นการวัดใจอย่างหนึ่งหากคุณเรียกน้อยก็ยากที่จะได้มากกว่านั้น หากเรียกมากเกินไปก็อาจจะพลาดโอกาสไปเลย ดังนั้นก็ต้องชั่งใจดีๆ  หากเราคิดว่ามีความสามารถเหมาะสมกับเงินเดือนที่เรียกไปก็ไม่ต้องไปเสียดายหากบางองค์กรจะจ่ายไม่ไหว ให้รอโอกาสที่เหมาะสมต่อไป แต่หากมีความจำเป็นทางการเงินรอนานไม่ได้ก็อาจจะต้องลองพิจารณาปรับลดเงินเดือนที่คาดหวังลงเพื่อเพิ่มโอกาสได้งานในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

  5. สัมภาษณ์แล้วไม่คลิก
    การทำงานในองค์กร เราต้องทำงานร่วมกับหัวหน้า ร่วมกับทีม หากผู้สัมภาษณ์ไม่ถูกชะตา รู้สึกว่าไม่น่าทำงานได้อย่างเข้าขากับเราได้ ก็มีโอกาสน้อยมากที่เราจะได้งาน ดังนั้นเมื่อได้โอกาสในการสัมภาษณ์ ผู้สมัครจะต้องพยายามสร้างความประทับใจในการแนะนำตัวและการสัมภาษณ์งานให้ได้ ตอบคำถามอย่างมีมารยาท แสดงท่าทีที่เป็นมิตร สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มคะแนนให้คุณได้ค่ะ



  6. ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร
    พนักงานที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ส่วนใหญ่เมื่อทำงานไปแล้วก็จะอึดอัด ไม่มีความสุข ทำงานกับองค์กรไม่ได้นาน ดังนั้นหากองค์กรสัมภาษณ์แล้วพบว่าคุณไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรของเขา ก็อาจทำให้คุณชวดงานได้เช่นกัน หากคุณไม่ได้งานเพราะเหตุผลนี้ไม่ต้องเสียใจไป เพราะถ้าคุณเข้าไปทำงานได้ก็อาจจะต้องทนฝืนตัวเองในองค์กรที่ไม่ใช่ สู้รอองค์กรที่ใช่สำหรับเราจะดีกว่าค่ะ
     
  7. ตอบคำถามสัมภาษณ์งานไม่ดีพอ
    หลายครั้งผู้สมัครมีคุณสมบัติดีมากแต่ก็อาจพรีเซนต์ตัวเองออกมาได้ไม่ดีพอหรือเผลอพูดสิ่งที่ไม่ควรพูดในการสัมภาษณ์งานก็อาจทำให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย การสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งผู้สมัครควรเตรียมตัวล่วงหน้าเสมอ โดยการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับบบริษัท ทำความเข้าใจเนื้องานของบริษัทนั้นๆ ซ้อมแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษและฝึกตอบคำถามสัมภาษณ์งานเพื่อเพิ่มความมั่นใจและสามารถพรีเซนต์ตัวเองได้อย่างไหลลื่น โดยนำเสนอจุดขายของตัวเองที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์มั่นใจว่าเราสามารถทำงานในตำแหน่งนี้ได้และเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับองค์กร

  8. คุณดีเกินไป
    คุณดีเกินไป ไม่ได้เป็นแค่เหตุผลบอกเลิกยอดฮิต แต่ก็เป็นเหตุผลที่คุณอาจไม่ได้งานเช่นเดียวกัน เพราะหากคุณ overqualified หรือมีคุณสมบัติเกินกว่าที่ตำแหน่งนั้นระบุไว้มากเกินไป ทำให้องค์กรอาจสู้เงินเดือนคุณไม่ไหว หรือคิดว่าคุณอาจจะทำงานตำแหน่งนี้ได้ไม่นานเดี๋ยวก็ต้องย้ายไปทำงานที่อื่นที่เหมาะสมกับคุณสมบัติมากกว่า เพราะงานในตำแหน่งนี้อาจไม่ท้าทายพอและอาจไม่มี career path ที่พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคต
     
  9. บางตำแหน่งเลิกรับสมัครไปแล้ว
    โดยทั่วไปงานที่เราสมัครตามเว็บไซต์สมัครงาน แต่ละโพสต์จะมีแสดงผลบนเว็บไซต์ ประมาณ 30-90 วันขึ้นอยู่กับแต่ละเว็บไซต์ ซึ่งแม้ว่าองค์กรจะได้ผู้สมัครที่ต้องการแล้ว องค์กรก็อาจจะไม่ได้เอาลงทำให้ประกาศรับสมัครงานนั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป ดังนั้นให้สังเกตวันที่โพสต์ให้ดี หากวันที่คุณสมัครห่างจากวันเปิดรับมากเกินไปก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจไม่ใช่ผู้สมัครล็อตแรกที่องค์กรเรียกสัมภาษณ์ และองค์กรก็อาจจะได้คนแล้วก็เป็นได้ ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นเหตุสุดวิสัยที่เราไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แต่ส่งใบสมัครไปลองดู

  10. บางตำแหน่งยังไม่เปิดรับจริง
    บางครั้งองค์กรหรือเว็บหางานอาจโพสต์ประกาศรับสมัครงานตามเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มฐานข้อมูลหรือเก็บโปรไฟล์ของผู้สมัครไว้ก่อน เผื่อว่ามีตำแหน่งงานใหม่ในอนาคต หรือ  หลายครั้งตำแหน่งงานนั้นๆ อาจหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามต้องการได้ยาก หากเกิดว่างลงกระทันหันจะหาคนไม่ทัน องค์กรจึงต้องมีฐานข้อมูลไว้จะได้มีโปรไฟล์ไว้นำมาพิจารณาได้ทันที หากเจอประกาศงานประเภทนี้และสมัครไป ก็อาจทำให้คุณยังไม่ได้รับพิจารณาในขณะนั้น 

การสมัครงานแล้วไม่ได้งานนั้นอาจทำให้คุณท้อใจ แต่อย่าเพิ่งหมดหวังไปนะคะ มันก็แค่วันนี้ยังไม่ใช่วันของเรา พยายามทำวันนี้ให้ดีที่สุดและอย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง สักวันโอกาสจะมาถึงคนที่พร้อมและไม่ยอมแพ้เสมอค่ะ