การปรับมาทํางานแบบ work from home ในช่วงที่ผ่านมา มีพนักงานจํานวนไม่น้อยที่ไม่มีความสุขในการทํางาน สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่หัวหน้าและผู้บริหารยังขาดทักษะการบริหารแบบ remote working จนส่งผลกระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง เรามาดู 4 โฟกัสสำหรับหัวหน้างานในการบริหารทีมแบบ remote working ที่ Adecco สรุปมาให้กันค่ะ
1. Reconnecting
การที่ทีมงานอยู่ต่างสถานที่ย่อมทำให้การปฏิสัมพันธ์ลดลง จากที่เคยทักทาย คุยเล่น อธิบายงาน ให้คำแนะนำกันแบบตัวต่อตัวก็ค่อยๆห่างเหินไปจนแทบไม่ได้สื่อสารกัน ในจุดนี้หัวหน้าต้องหันมา keep in touch กับทีมงานมากขึ้นโดยพยายามปฏิสัมพันธ์กับพนักงานอยู่เสมอทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวโดยเป็นฝ่ายเริ่มบทสนทนาและแสดงท่าทีว่าเราพร้อมรับฟังและพูดคุยเสมอ เนื่องจากพออยู่ต่างสถานที่ลูกน้องก็ไม่รู้ว่าหัวหน้าสะดวกหรือติดอะไรอยู่หรือไม่จึงเกิดความเกรงใจที่จะเข้าหาหัวหน้า
หัวหน้าจึงควรคอยไถ่ถามถึงสารทุกข์สุขดิบ อุปสรรคในการทำงาน ให้คำชมและฟีดแบ็คพนักงานอยู่เสมอ รวมถึงจัดคุย 1-on-1 กับทีมงานเดือนละครั้งหรืออย่างน้อยไตรมาสละครั้งเพื่อทำความเข้าใจลูกน้องและเปิดรับฟีดแบ็คที่ลูกน้องมีต่องานและการบริหารงานของเราในช่วงนี้ และที่สำคัญแม้ว่างานจะยุ่งแค่ไหนหัวหน้าก็ไม่ควรละเลยเรื่องการสื่อสารเป็นอันขาดเพราะการไม่สื่อสารอะไรเลยจะทำให้ลูกน้องมีโอกาสเข้าใจผิดและมองเป้าหมายของทีมไม่ตรงกันซึ่งรังแต่จะสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
2. Result-Oriented
การบริหารงานแบบ remote working นั้นควรปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไปโดยเปลี่ยนมาประเมินผลจากตัวงานมากกว่าเวลาเข้างานและให้อิสระในการทำงานกับลูกน้องมากขึ้น จากผลสำรวจ Resetting Normal ของ Adecco ที่สำรวจในพนักงานกว่าหนึ่งหมื่นคนใน 25 ประเทศทั่วโลกพบว่ามีเพียง 36% ที่เห็นว่าหัวหน้าของตนวัดผลการทำงานแบบ result based จริงๆ ดังนั้นหัวหน้าจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับรูปแบบมาทำงานแบบ result oriented มากขึ้น โดยหันมาตั้งเป้าหมายร่วมกันกับพนักงานเพื่อสร้างแรงจูงใจภายใน พัฒนากรอบการทำงานและเกณฑ์วัดผลที่ชัดเจนและโปร่งใส ยืดหยุ่นการทำงานให้มากขึ้นเพื่อให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานและสามารถส่งมอบผลลัพธ์งานได้ตามเป้าหมาย
3. Trust
การทำงานกันคนละที่อาจทำให้หัวหน้ารู้สึกไม่ไว้วางใจในการทำงานของลูกน้อง และอาจเลือกใช้การบริหารงานแบบ micro management ซึ่งสร้างความอึดอัดและทำให้ลูกน้องหมดกำลังใจในการทำงาน ดังนั้นหัวหน้าอาจต้องค่อยๆขยายขอบเขตความไว้วางใจและให้อิสระในการทำงานมากขึ้น ลองปรับบทบาทจากผู้รักษากฎมาเป็นคนที่ empower ยืดหยุ่นและสนับสนุนลูกน้อง เปิดใจคุยเรื่องความคาดหวังให้ชัดเจนและนำการบริหารแบบ result-oriented มาใช้ควบคู่กันเพื่อให้มั่นใจว่างานจะสามารถดำเนินไปได้ตามแผนที่วางไว้ วิธีนี้นอกจากจะดีกับลูกน้องที่สามารถแสดงความสามารถอย่างเต็มที่แล้วยังช่วยให้หัวหน้ามีเวลาคิดและทำงานเชิงบริหารอื่นๆได้ ทำให้ flow งานไหลเร็วขึ้น และยังสร้างความไว้วางใจในทีมให้เกิดขึ้นด้วย
4. Culture
การทำงานแบบ remote working อาจทำให้การสร้างทีมเวิร์กและวัฒนธรรมในการทำงานทำได้ยากขึ้นเนื่องจากต่างคนก็ต่างทำงานจากต่างสถานที่และต่างก็งานยุ่ง อย่างไรก็ดีหัวหน้าควรจัดสรรช่วงเวลาสำหรับกิจกรรมในการส่งเสริมวัฒนธรรมและกระชับสัมพันธ์กับคนในทีมโดยเฉพาะ โดยมองว่าสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่างานอื่นๆ ที่ทำอยู่ นอกจากนี้ในการทำงานหัวหน้าควรสร้างบรรยากาศการทำงานที่ไม่ตึงเครียด เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ชี้ให้ลูกน้องเห็นคุณค่าในงานที่ทำเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน และทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้องอยู่เสมอเพื่อส่งผ่านค่านิยมที่ดีของทีม
อ่านวิธีการรักษาทาเลนท์ไว้กับองค์กรฉบับเต็ม>> white paper: The Great Resignation