แก้ปัญหาหมดไฟอย่างไรดี?

มิถุนายน 19, 2562 คำแนะนำด้านอาชีพ
แก้ปัญหาหมดไฟอย่างไรดี?

อาการเบื่องานเชื่อว่าคงเคยเกิดขึ้นกับคนทำงานแทบจะทุกคน ความรู้สึกไม่อยากตื่นไปทำงาน เกลียดวันจันทร์ แค่นึกถึงงานก็รู้สึกเบื่อ เซ็ง หรืออาจถึงขั้นหดหู่ อยากลาออกไปให้พ้นๆ ไม่อยากเจอหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เบื่อทุกอย่างที่เกี่ยวกับงาน แต่ก็ลาออกไม่ได้เพราะภาระที่รับผิดชอบ ทั้งภาระครอบครัว หรือหนี้สินที่แบกรับอยู่ อาการแบบนี้ทางการแพทย์เตือนว่าต้องเฝ้าระวัง เพราะถ้าเป็นนานเข้า อาจพัฒนาไปสู่ภาวะทางการแพทย์ที่เรียกว่า “หมดไฟ” หรือ
 Burnout

“หมดไฟ” ภัยเงียบที่กัดกินพนักงานและองค์กร

องค์การอนามัยโลกให้คำจำกัดความ Burnout ว่าเป็น “กลุ่มอาการที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม” สภาวะหมดไฟ ดูเผินๆ อาจไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ถ้าจมอยู่กับอาการนี้เป็นเวลานาน มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า สภาวะหมดไฟสามารถนำไปสู่โรคทางกายอื่นๆ ตั้งแต่นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไปจนอาการทางจิต เช่น วิตกกังวล อาการซึมเศร้า 

อาการหมดไฟไม่เพียงกระทบกับพนักงานเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อองค์กรด้วยจากประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง พนักงานขาดความกระตือรือร้น ขาดความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ ไม่สุงสิงกับเพื่อนร่วมงาน ลาป่วยบ่อย เกิดปัญหาการขาดงาน ลามไปจนถึงลาออก สภาวะหมดไฟจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทั้งพนักงานและองค์กรไม่ควรมองข้าม



เช็คสัญญาณหมดไฟ เบื่องาน


เช็คสัญญาณหมดไฟในการทำงาน

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า สาเหตุหลักของอาการหมดไฟ คือความเครียดและความกดดันที่เกิดจากการทำงาน เช็คง่าย ๆ หากใครที่มีอาการครบทั้ง 3 อย่างนี้ ก็มีแนวโน้มสูงว่าคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะหมดไฟ

  • เหนื่อยล้า รู้สึกหมดพลัง ไร้เรี่ยวแรง 
  • มีความรู้สึกในด้านลบ บ่น หรือวิจารณ์งานที่ทำ
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด


“เติมไฟเท่าไรก็ไม่พอ เพราะต้นตอที่ทำให้ไฟมอดยังคงอยู่”

เมื่อหมดไฟเรามักได้รับคำแนะนำยอดฮิตอย่างเช่น ให้ลาพักร้อนไปหาแรงบันดาลใจ หรือพยายามปรับตัวให้เข้ากับงาน ปรับทัศนคติให้คิดบวก เพื่อจุดไฟให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง แต่วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้มักไม่ได้ผล หรือได้ผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะสุดท้ายเราก็ต้องกลับมาเจอสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่คอยบั่นทอนให้หมดไฟอยู่ดี การเติมไฟแบบชั่วครั้งชั่วคราวจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ เพราะต้นตอของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข 
 

Burnout

แก้ปัญหาหมดไฟอย่างไรดี ?

  1. หาสาเหตุของอาการหมดไฟให้เจอ 

    ในทางการแพทย์มองว่าการรักษาอาการหมดไฟต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะการเบื่องานไม่ได้เกิดจากความรู้สึกของตัวเราที่อยู่ดีๆ ก็เบื่อ แต่เกิดจากความเครียดที่สะสมเป็นเวลานานจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เราเผชิญอยู่ทุกวัน เช่น ลักษณะงานที่มีความกดดัน งานล้นมือ การต้องทำงานที่ไม่ถนัดหรือขัดกับลักษณะนิสัยของตนเอง การมีปัญหากับสังคมในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง การถูกเลือกปฏิบัติ ผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มกับสิ่งที่ลงแรงไป หรือการขาดสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงาน 

  2. แก้ปัญหาให้ถูกจุด 

    เมื่อคนเราเกิดความเครียดและไม่รู้จะรับมือกับปัญหาอย่างไร บางคนอาจหันเข้าหาแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดเพื่อหลีกหนีความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังส่งผลเสียต่อรางกายอีกด้วย

    ทางที่ดีที่สุดคือ หาสาเหตุของปัญหาให้เจอ แล้วจัดการที่ต้นตอของสาเหตุนั้นๆ โดยอาจเริ่มต้นจากการปรึกษาเพื่อนหรือครอบครัวเพื่อหาแนวทางแก้ไข หรือสำรวจว่ามีอะไรที่เราพอจะแก้ได้โดยการเริ่มต้นที่ตัวเราได้บ้าง แล้วค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละจุด

  3. เริ่มที่ตัวเอง

    เชื่อหรือไม่ว่าหลายครั้ง ความเครียดที่เกิดขึ้นก็มาจากความคาดหวังจากตัวเองสูงเกินความเป็นจริง เมื่อทำไม่ได้ก็รู้สึกล้มเหลว ไร้ค่า ผู้ที่มีแนวโน้มต่อสภาวะ Burnout คือกลุ่มคนที่วัดคุณค่าของตนจากงาน คาดหวังว่าตนต้องจัดการงานทุกอย่างได้ด้วยตนเอง และไม่กล้าปฏิเสธแม้จะมีโอกาส

    หนึ่งในทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นการปรับทัศนคติและความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผลลง กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ และตระหนักว่า คุณค่าของตน ไม่ได้ถูกวัดจากการทำงานเพียงอย่างเดียว

  4. ปรึกษาจิตแพทย์

    การปรึกษาจิตแพทย์ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ป่วยทางจิตเท่านั้น แต่ผู้ที่มีภาวะเครียดทั่วไปก็สามารถเข้ารับคำแนะนำได้ สำหรับอาการหมดไฟ จิตแพทย์สามารถช่วยรับฟัง ให้คำปรึกษาและเทคนิคดีๆ ในการผ่อนคลายความเครียด ตลอดจนวิธีการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณกลับมายอมรับนับถือตนเองและหลุดจากปัญหานี้ได้

  5. เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน

    หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานได้ การลาออกหรือการย้ายงานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการกับปัญหาการหมดไฟ การลาออกไม่ได้แปลว่าคุณล้มเหลวแต่มันคือการเริ่มต้นใหม่ อย่าคิดว่างานที่คุณทำอยู่คือทั้งหมดของชีวิตจนคุณไม่สามารถลาออกได้ ชีวิตยังมีทางเลือกอีกมาก โลกนี้ยังมีงานอีกมากมายที่คุณสามารถทำได้ ขอเพียงคุณเชื่อมั่นในศักยภาพ เตรียมพร้อม และเปิดโอกาสให้ตัวเอง คุณอาจพบงานที่ดีและลงตัวกับชีวิตของคุณแบบที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็ได้ 

อ้างอิง: 
https://www.who.int/mental_health/evidence/burn-out/en/
https://academic.oup.com/occmed/article/50/7/512/1444456
https://mgronline.com/live/detail/9620000051399
https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/burnout-work-related-real-chronic-stress-therapy-singapore-who-20584630