วางตัวอย่างไรเมื่อมีเพื่อนร่วมงานเป็นผู้พิการ

พฤศจิกายน 28, 2566 คำแนะนำด้านอาชีพ
วางตัวอย่างไรเมื่อมีเพื่อนร่วมงานเป็นผู้พิการ

การทำงานร่วมกับผู้พิการอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คน ซึ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หลายคนก็มักจะรู้สึกทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าตัวเองควรวางตัวอย่างไร หรือไม่แน่ใจว่าควรเสนอให้ความช่วยเหลือมากแค่ไหน บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจวิธีการสื่อสารและการเข้าหาเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้พิการได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับผู้พิการ

ความพิการมีหลายระดับและหลายประเภท บางคนพิการเล็กน้อย บางคนพิการรุนแรง บางคนพิการทางกายภาพที่มองเห็นได้ บางคนพิการทางสติปัญญา ความหลากหลายเหล่านี้ทำให้ผู้พิการแต่ละคนจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารและเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป การหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความพิการประเภทนั้น ๆ จะช่วยให้เราเข้าใจข้อจำกัดของเพื่อนร่วมงานของเราได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นผู้พิการประเภทเดียวกัน แต่ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ บุคลิก และวิธีคิดที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากคุณมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้พิการมากกว่า 1 คน ต้องไม่ลืมว่าเราไม่สามารถใช้ผู้พิการคนเดียวเป็นตัวแทนของผู้พิการคนอื่นได้ เช่น เมื่อต้องการถามความคิดเห็น ก็ควรถามความคิดเห็นของผู้พิการทุกคน ไม่ต่างจากการร่วมงานกับผู้ที่ไม่พิการ

แนวทางการทำงานร่วมกับผู้พิการ

1.รู้จักวิธีสื่อสารที่เพื่อนร่วมงานของเราชอบ

ถ้าไม่รู้ ให้ถามเป็นหลักการสั้น ๆ ง่าย ๆ เมื่อคุณไม่แน่ใจว่าควรสื่อสารกับผู้พิการด้วยวิธีใด ซึ่งจะดีกว่าการสันนิษฐานเองเพราะอาจไม่ถูกต้องเสมอไป เช่น หลายคนอาจคิดว่าผู้พิการทางสายตายไม่สามารถสื่อสารด้วยอีเมลได้ แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาสามารถทำได้โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ

 

ตัวอย่างการสื่อสารและเข้าหาผู้พิการแต่ละประเภทในเบื้องต้น

- ผู้พิการทางการมองเห็น: ผู้พิการทางสายตาสามารถได้ยินเป็นปกติ ดังนั้นให้คุณพูดด้วยน้ำเสียงปกติ และในการเริ่มสนทนา คุณอาจจะเรียกชื่อและแตะที่แขนเบา ๆ เพื่อให้พวกเขารู้ตัว ส่วนเมื่อต้องการอธิบายสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ให้ใช้คำพูดที่เห็นภาพชัดเจน เช่น ‘ของอยู่ตรงสองนาฬิกาแทน ของอยู่ตรงนั้น และอย่าลืมว่าผู้พิการทางสายตาไม่สามารถรับรู้ถึงท่าทางและสีหน้าของเรา

- ผู้พิการทางการได้ยิน: สำหรับผู้พิการทางหูที่ยังสามารถได้ยินโดยใช้เครื่องช่วยฟัง คุณแค่ต้องพูดดังมากขึ้นและช้าลงเล็กน้อย เพราะผู้พิการทางหูจะใช้อ่านปากช่วย ส่วนถ้าเป็นผู้พิการทางหูที่ไม่ได้ยินเลย การเขียน วาดภาพ และใช้ท่าทางในการสื่อสารจะเป็นวิธีหลักในการสื่อสาร ถ้าผู้พิการมีล่ามแปลภาษามืออยู่ข้าง ๆ ให้คุณพูดกับผู้พิการโดยตรงแล้วเดี๋ยวล่ามจะแปลให้เอง

- ผู้พิการทางการพูด: เมื่อสื่อสารกับผู้พิการที่มีปัญหาด้านการพูด สิ่งสำคัญคือการตั้งใจฟังและใจเย็น ให้ผู้พิการเป็นคนพูดให้จบประโยคเองโดยคุณไม่ต้องเติมประโยคให้ เมื่อได้คำตอบแล้วให้คุณพูดทวนคำตอบตามที่คุณเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจให้ถามซ้ำ เน้นการใช้คำถามที่สามารถตอบได้สั้น ๆ หรือแค่เพียงพนักหน้าและส่ายหน้า ถ้าผู้พิการไม่สามารถพูดได้เลย การสื่อสารผ่านการเขียนจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

- ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว: ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์หรือไม้เท้าสามารถสื่อสารได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่เมื่อคุณต้องการพูดคุยกับผู้พิการที่นั่งวีลแชร์เป็นระยะเวลานาน ก็ควรหาเก้าอี้มานั่งเพื่อให้สายตาอยู่ในระดับเดียวกัน

- ผู้พิการทางสมอง: ผู้พิการทางสมองบางส่วนชอบที่จะสื่อสารทางอีเมลมากกว่าโทรศัพท์หรือการคุยกันต่อหน้า เนื่องจากการใช้อีเมลทำให้มีเวลาอ่านและตอบมากกว่า คุณจึงไม่ควรกดดันผู้พิการทางสมองเกินไป อย่างไรก็ตาม ผู้พิการทางสมองแต่ละคนก็มีความชอบสื่อสารในรูปแบบที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นการรู้จักวิธีสื่อสารที่แต่ละคนชอบจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

2.ถามก่อนให้ความช่วยเหลือ

เป็นอีกหนึ่งข้อที่สำคัญ เพราะการถามก่อนให้ความช่วยเหลือจะช่วยให้เกิดความสบายใจกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งนอกจากจะถามว่า “อยากให้ช่วยหรือไม่ คุณยังสามารถถามได้ว่า “อยากให้ช่วยอย่างไร” เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ถูกต้อง หรือเป็นไปตามที่ผู้พิการต้องการ

นอกจากนี้ ถ้าคุณไม่มั่นใจว่าในสถานการณ์นี้ควรถามเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือเปล่า อาจจะลองในมุมกลับว่า “ถ้าเป็นเรา เราจะอยากได้ความช่วยเหลือหรือไม่เพื่อให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นก่อนเสนอให้ความช่วยเหลือ

3.ช่วยเตรียมความพร้อมเมื่อมีการประชุม

เมื่อรู้แล้วว่าจะมีการประชุมเกิดขึ้น หลักการง่าย ๆ เช่นเคย ถ้าไม่มั่นใจว่าเพื่อนผู้พิการของเราต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า ก็ให้ถามเลยว่า “อยากให้ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องอะไรบ้างไหม

ถ้าคุณเป็นคนจัดประชุม อย่าลืมพูดถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการตั้งแต่ในการส่งอีเมลหาทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างเพื่อป้องกันความไม่เข้าใจที่อาจเกิดขึ้นหน้างาน

โดยการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การส่งข้อมูลให้ล่วงหน้าถ้าเป็นไปได้ เพื่อให้ผู้พิการได้มีเวลาใช้เทคโนโลยีช่วยทำความเข้าใจข้อมูลมาก่อน หรือสำหรับผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ สิ่งสำคัญคือการเข้าถึงสถานที่ประชุมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ หรือสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน สิ่งสำคัญคือการมีเอกสารหรือ subtitle ให้อ่าน เป็นต้น

นอกจากนี้ หากเป็นการประชุมเพื่อ brainstorm อย่าลืมเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมหลังจากจบการประชุม เนื่องจากผู้พิการบางคนอาจไม่สะดวกใจที่จะเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมที่มีคนเยอะ ๆ โดยให้ผู้พิการเลือกช่องทางการสื่อสารที่สะดวกแสดงความคิดเห็นได้เลย

4.คุยเล่นเหมือนเพื่อนร่วมงานทั่วไป

ผู้พิการไม่ได้ต่างจากคนทั่วไปที่มีงานอดิเรกและมีความชอบ คุณสามารถถามความสนใจของผู้พิการและชวนคุยเรื่องทั่วไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ซีรี่ส์ สัตว์เลี้ยง เทรนด์ในโซเชียลมีเดีย กีฬา หรือเรื่องใด ๆ ก็ตาม เพียงแต่ต้องไม่ลืมเรื่อง privacy ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือใครก็ตาม ก็มักไม่ชอบที่จะโดนถามเรื่องส่วนตัวเกินไป โดยเรื่องส่วนตัวของผู้พิการอาจรวมถึงเรื่องสุขภาพ เรื่องเทคโนโลยีที่พวกเขาใช้ เรื่องที่มาที่ไปของความพิการ แต่สำหรับบางคนก็อาจจะยินดีที่จะพูดถึงเรื่องนี้ก็ได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าเพื่อนร่วมงานของคุณมีบุคลิกแบบไหน เป็นราย ๆ ไป

5.ชวนผู้พิการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ

เมื่อมีกิจกรรมนอกเวลางาน บางคนอาจรู้สึกเกรงใจที่ชวนผู้พิการมาร่วมเพราะกลัวว่าผู้พิการจะลำบาก แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นการลองชวนก่อน จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะเป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญ ส่วนจะไปหรือไม่ไปค่อยให้เจ้าตัวเป็นคนตัดสินใจเอง แม้กระทั่งกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกาย เช่น การโยนโบว์ลิ่ง บางครั้งผู้พิการก็อาจจะแค่อยากไปนั่งเชียร์เพื่อนอยู่ข้างสนามก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้ผู้พิการได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมจริง ๆ การดึงผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วมกันตั้งแต่การวางแผนเลือกสถานที่และกิจกรรมก็ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

6.อย่ารีบตัดสินความสามารถของผู้พิการ

เริ่มต้นด้วยการมองกันและกันในด้านบวกซึ่งมักจะตามมาด้วยสิ่งดี ๆ ต่อด้วยการถามถึงความถนัดเพื่อให้ได้รู้จักกันมากขึ้น คุณอาจจะพบว่าผู้พิการมีวิธีทำงานที่ต่างจากคุณ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรตราบใดที่สามารถทำงานจนสำเร็จได้ สุดท้ายคุณอาจจะพบอีกว่าผู้พิการมีความสามารถมากกว่าที่คุณคิด

 

จะเห็นว่าเพียงเราเข้าใจแนวทางง่าย ๆ ไม่กี่ข้อ อย่างการตั้งคำถามกับผู้พิการโดยตรงเมื่อไม่มั่นใจ หรือการลองมองในมุมของผู้พิการ ก็สามารถช่วยให้การวางตัวกับเพื่อนร่วมงานของเราง่ายขึ้นมาก สิ่งสำคัญสุดท้ายคือการไม่บังคับให้ผู้พิการรับความช่วยเหลือถ้าเขาไม่ต้องการ เพราะการช่วยเหลือกันในแบบที่สบายใจทั้งสองฝ่ายยังคงเป็นการช่วยเหลือกันที่น่าจะดีที่สุด

 

อ้างอิง: https://equidox.co/blog/7-ways-to-collaborate-with-coworkers-with-disabilities/

https://thisable.me/content/2018/03/399

https://www.washington.edu/doit/strategies-working-people-who-have-disabilities