เทคนิคแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยวิธีคิดแบบไอน์สไตน์

พฤศจิกายน 20, 2562 คำแนะนำด้านอาชีพ
เทคนิคแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยวิธีคิดแบบไอน์สไตน์

ในยุคที่ธุรกิจต่างก็แข่งขันกันด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์จึงเปรียบเหมือนทรัพยากรที่มีค่าขององค์กร หากองค์กรไหนมีพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก แน่นอนว่าย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ขณะเดียวกันพนักงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ทำให้ได้เปรียบในการสมัครงานและเพิ่มโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

อย่างไรก็ตามหลายคนมักมองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์เฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่ความจริงแล้วความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่ไม่ว่าใครก็สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะแบบไอน์สไตน์ก็สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน



“Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results”
– Albert Einstein



อยากได้ผลลัพธ์ใหม่ต้องไม่ใช้วิธีการเดิมๆ

การที่จะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ต้องรู้จักคิดนอกกรอบ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าสาเหตุที่ทำให้คนเราคิดนอกกรอบไม่ได้ก็คือกรอบความคิดของเราเอง

กรอบความคิดของคนเรานั้นถูกสร้างขึ้นจากรูปแบบวิธีคิดที่ถูกใช้ในการแก้ปัญหาซ้ำๆ แล้วได้ผล จนสมองของเราจดจำว่าเมื่อเจอชุดเหตุการณ์หรือปัญหาอะไรก็ตาม สมองก็จะใช้กรอบความคิดนี้ในการแก้ปัญหา และคอยปัดไอเดียที่อยู่นอกกรอบทิ้งไปเสมอ

สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถคิดนอกกรอบได้ และมักมองข้ามไอเดียดีๆ มากมายที่ตั้งอยู่ตรงหน้า เพียงเพราะว่ามันอยู่นอกเหนือกรอบที่เราวางไว้ เราจึงมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไม่กล้าลองเพราะไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร  ทำให้เราคิดวนเวียนอยู่ในกรอบเดิมๆ หาทางออกไม่ได้สักที  ทั้งที่เราควรคิดนอกกรอบเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหมั่นฝึกตัวเองให้คิดนอกกรอบอยู่เสมอเพื่อกระตุ้นสมองให้คอยสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ และฝึกให้สมองหาแนวทางที่ต่างออกไปในการแก้ปัญหา 

เทคนิคแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยวิธีคิดแบบไอน์สไตน์

ฝึกคิดนอกกรอบและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

หากคุณเคยเจอปัญหาที่รู้สึกว่าแก้ไม่ตก หรือเคยรู้สึกตันเพราะคิดงานไม่ออก มาลองฝึกคิดนอกกรอบแบบไอน์สไตน์ตามขั้นตอนนี้กันค่ะ รับรองว่าไม่ว่าใครก็สามารถแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ด้วย 4 ขั้นตอนนี้ 

 

  1. ระบุปัญหาให้ถูก

    ขั้นตอนแรกของการแก้ปัญหาหรือการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ คือ การตั้งคำถาม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะหากเราตั้งคำถามผิดก็จะได้คำตอบที่ผิดเสมอ ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นที่ต้องใช้ทั้ง การสังเกต ความใส่ใจ และสติปัญญา เพื่อวิเคราะห์หาต้นตอของปัญหาให้เจอและระบุปัญหาที่เราอยากแก้ไข การตั้งคำถามที่ดีควรเป็นคำถามปลายเปิด โดยไม่ใส่ข้อจำกัดลงไป เพื่อเปิดกว้างให้กับวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย

 

  1. ทำลายรูปแบบการคิดเดิมๆ

    การที่ไอน์สไตน์สามารถคิดทฤษฎีได้สำเร็จเป็นเพราะเขาเปิดกว้างที่จะพิจารณาทุกไอเดีย ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือเลิกคิดเป็นแพทเทิร์นเดิมๆ และลองเปิดใจพิจารณาทุกสิ่ง โดยอาจใช้เทคนิค seed idea หรือการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเพื่อเปิดประตูความคิดให้ไอเดียไหลไปเรื่อยๆ ก็จะได้ไอเดียใหม่ๆ เข้ามา อย่าเพิ่งใช้เหตุผลมากนักในขั้นตอนนี้ เพราะท้ายสุดก็จะกลายเป็นติดอยู่ในกรอบแบบเดิมๆ เมื่อได้ไอเดียใหม่ก็จดไว้ ไม่มีไอเดียไหนแย่

    สิ่งสำคัญคืออย่าเพิ่งตัดไอเดียทิ้งให้จดไว้ทั้งหมด แล้วค่อยนำมาพิจารณาทีหลัง หากใช้ไม่ได้ในวันนี้ก็อาจนำมาใช้ต่อยอดสำหรับการสร้างสรรค์ในครั้งหน้าได้

 

  1. ออกนอกกรอบ

    หากลองคิดตามกรอบแล้วไม่สำเร็จ ก็ต้องลองออกนอกกรอบดู เทคนิคของการออกนอกกรอบก็คือให้ลิสต์ข้อจำกัดของเราทั้งหมดออกมา โดยเฉพาะข้อที่ดูเหมือนจะทำไม่ได้ที่สุด นั่นแหละคือแกนของปัญหาที่แก้ไม่ตกทั้งนั้น

    ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีปัญหาเรื่องการของบประมาณ วิธีคิดที่สำคัญคือ ลบข้อจำกัดออกไปก่อน อย่าเอางบประมาณเป็นข้อจำกัด เพราะหากคุณพิจารณาดูให้ดี งบที่ดูเหมือนจะไม่พอ ที่จริงก็พอสำหรับโปรเจคท์ที่อาจดูไม่สำคัญตั้งหลายอย่าง ดังนั้นให้คุณลองคิดเลยว่าถ้ามีงบพอจะทำอย่างไรบ้าง คิดโปรเจคต์ออกมาให้ดีที่สุดและลิสต์ค่าใช้จ่ายออกมา จากนั้น
    คุณอาจลองตั้งคำถาม เช่น ใครที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องงบได้บ้าง จะทำอย่างไรที่จะจูงใจให้เขาอนุมัติเงินให้เรา จะทำอย่างไรให้โครงการดูคุ้มค่าที่จะลงเงิน หรือมีอะไรที่พอจะใช้ทดแทนกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้ไหม จะขอแรงสนับสนุนจากใครได้บ้าง แล้ววางแผนแก้ปัญหาไปทีละจุด แนวทางแก้ปัญหาของคุณอาจเป็นการทำ proposal ใหม่ ใช้วิธีการนำเสนอที่จูงใจกว่าเดิม หาวิธีลดต้นทุนอื่นๆ หรือหาสปอนเซอร์เพิ่ม เป็นต้น

    สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้คืออย่าถอดใจเพราะคิดว่าเคยลองทำแล้วไม่ได้ผล อยากให้คุณลองคิดว่าสถานการณ์ในแต่ละตอนไม่เหมือนกัน อีกทั้งเรายังสามารถเรียนรู้และหาทางแก้ปัญหาที่ดีกว่าเดิมได้ หากคุณถอดใจไปเสียก่อน โอกาสความสำเร็จก็เท่ากับศูนย์

 

  1. ค่อยๆ ทำไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่าง

    ไอน์สไตน์มีคำพูดว่า “ผมไม่ได้ฉลาดกว่าผมแค่อยู่กับปัญหามานานกว่า” กว่าไอน์สไตน์จะค้นพบอะไรสักอย่าง กว่าทฤษฎีของเขาจะยอมรับก็ต้องใช้เวลาหลายปี บางครั้ง solution ดีๆ ก็ฟังดูไม่เข้าท่าในตอนแรก อย่าเพิ่งไปตัดสินอะไร ลองขอความช่วยเหลือ คำแนะนำ แลกเปลี่ยนความคิดกับคนที่มีประสบการณ์หรือชุดความคิดที่แตกต่างกัน ลองผิดลองถูกก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็ทดลองใหม่ เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วค่อยๆ ทำไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และนำไปพัฒนาต่อจนได้ solution ที่เป็นที่ยอมรับ

 

อ้างอิง: หนังสือ How to Think Like Einstein, Simple Ways to Break the Rules and Discover Your Hidden Genius