ทำอย่างไรดีเมื่อรู้สึกผูกพันกับที่ทำงานเก่า หนึ่งในปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อต้องย้ายงานในขณะที่รู้สึกว่างานเก่าก็ไม่ได้แย่อะไร โดยเฉพาะใครที่อยู่ที่เดิมมานานจนรู้สึกผูกพันกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย แต่การกลับไปทำงานที่เก่าก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเช่นกัน Adecco เลยอยากชวนคุณมาลองปรับวิธีคิดเพื่อให้พร้อมก้าวไปต่อกับงานใหม่อย่างมีความสุขกันครับ
อย่าเสียใจกับการตัดสินใจ
การที่เรารู้สึกเครียด เหนื่อย กังวลกับงานปัจจุบัน หรือรู้สึกว่างานที่เก่าไม่ได้เครียดขนาดนี้ เป็นความรู้สึกปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะเราเพิ่งออกจาก comfort zone ที่เราคุ้นเคย แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราตัดสินใจผิด
ถ้าใครตัดสินใจลาออกจากงานเก่าด้วยตัวเอง ลองกลับไปย้อนนึกดูว่าเพราะอะไรเราถึงตัดสินใจแบบนั้น อาจจะมีบางอย่างหรือหลายอย่างในงานเก่าที่เราก็ไม่ได้พอใจซะทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน เนื้องาน การเดินทางไปทำงาน หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่เรารุ้สึกว่าเป็นปัญหา และทำให้เราทุกข์มากกว่าสุขจนเลือกที่จะเดินออกมา
แต่ถ้าใครไม่ได้เลือกที่จะออกมาด้วยตัวเอง แต่ต้องออกมาเพราะสถานการณ์บังคับ ให้ลองมองว่านี่คือโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เจออะไรใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้เราค้นพบศักยภาพของตัวเองมากขึ้นจากโอกาสใหม่นี้
จำไว้ว่าความรู้สึกยากในช่วงแรกเป็นเรื่องปกติ
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานคือส่วนสำคัญในชีวิต เพราะโดยทั่วไปแล้วเราใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งของเวลาที่เราตื่นไปกับการทำงาน หรืออาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกถ้าเราจะรู้สึกว่ามันยากเหลือเกิน ที่จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราอาจจะรู้สึกท้อหรืออึดอัดได้ในช่วงแรก แต่อย่าเพิ่งถอย ลองให้เวลาตัวเองอย่างน้อย 6 เดือนในการปรับตัวเข้ากับที่ทำงานใหม่ โฟกัสไปที่การเรียนรู้ตัวงาน หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และควรหยุดคิดถึงที่ทำงานในอุดมคติไปก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเจอที่ทำงานที่สมบูรณ์พร้อมตามความต้องการของเราทั้งหมด
เอาเป้าหมายในการทำงานเป็นที่ตั้ง
เป้าหมายในการทำงานคือแรงผลักดันชั้นเยี่ยมที่จะทำให้เรามองไปข้างหน้า ให้ลองกำหนดแนวทางการทำงานในปัจจุบันให้ชัดเจน เช่น หลายคนอยากเติบโตไปเป็นหัวหน้างาน บางคนอาจจะอยากมีผลงานเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง ลองพิจารณาดูว่างานที่ใหม่นี้ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ควรลุยไปข้างหน้าให้เต็มที่ แทนที่จะหันหลังกลับไปอยู่จุดเดิม
แต่ถ้าใครที่ยังไม่มีเป้าหมาย ก็ควรลองตั้งมันขึ้นมา อาจจะเป็นเป้าหมายระยะสั้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เช่น skill ที่อยากพัฒนาเป็นพิเศษ โปรเจกต์ที่อยากลองทำ หรือจำนวนยอดขายที่อยากทำให้ได้ แล้วขยับมาเป็นเป้าหมายในระยะยาว 3-5 ปีหรือมากกว่านั้น ไม่จะว่าเป็นความก้าวหน้าในตำแหน่งงานหรือเงินเดือน เป้าหมายจะทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นอย่างแน่นอน
คิดถึงสิ่งไหนก็สร้างสิ่งนั้นขึ้นมาใหม่
ถ้าเราคิดถึงบรรยากาศและสังคมการทำงานแบบเดิม หรือรู้สึกว่าตัวเองเข้ากับเพื่อนที่ทำงานใหม่ได้ไม่ดีเท่าที่เก่า จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นเพียงเพราะต่างคนต่างยังไม่สนิทกันก็ได้ ฉะนั้นให้เราลองสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาทั้งกับเพื่อนร่วมงานและเจ้านายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไปอย่างกิจกรรมยามว่างที่ชอบ สัตว์เลี้ยงที่ชอบ หรือไปทานข้าวกลางวันด้วยกัน ใช้โอกาสนี้สร้างความสนิทสนมให้มากขึ้น เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่อย่างน้อยการได้พูดคุยกับเพื่อนใหม่ก็ช่วยให้ชีวิตในทีทำงานไม่เหงาจนเกินไป และไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เพื่อนดี ๆ เพิ่มเข้ามาในชีวิตก็ได้
มองหาข้อดีในที่ทำงานใหม่
สุดท้ายแล้ว ให้เราลองนั่งลิสต์ข้อดีของที่ทำงานใหม่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้องาน รูปแบบการทำงาน สังคม สภาพแวดล้อม หรือสวัสดิการดี ๆ ที่บริษัทมีให้ รวมถึงอาจจะลองแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ให้คนใกล้ชิดฟัง แล้วเราอาจจะได้เห็นข้อดีในมุมมองอื่น ๆ ที่เราคาดไม่ถึง ทำให้เรามีพลังบวกมากขึ้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือลองเปิดใจให้กับงานใหม่แบบไม่มีอคติ ลองเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และใช้สิทธิประโยชน์ที่บริษัทมีให้ เช่น ห้องฟิตเนส อาหารและเครื่องดื่มฟรี แล้วเราอาจจะพบว่าตัวเองเริ่มตกหลุมรักงานใหม่เข้าให้แล้วก็ได้
ไม่แปลกที่บางครั้งเราจะคิดถึง good old days เพราะมันทำให้เรารู้สึกดี แต่อย่าลืมว่างานดี ๆ ไม่ได้มีแค่ครั้งเดียวในชีวิต ความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปข้างหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทั้งในแง่การทำงานและชีวิต ลองโฟกัสที่ปัจจุบันและอนาคตเป็นหลัก ไม่แน่ว่างานปัจจุบันที่เรากำลังทำอยู่อาจจะกลายเป็นงานที่ดีที่สุด สนุกที่สุดและนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ก็เป็นได้
อ้างอิง:
https://www.monster.ca/career-advice/article/detach-from-old-jobs-ca