มีลูกไม่จำเป็นต้องลาออก แนวทางการสร้างบริษัทที่เป็นมิตรกับชีวิตครอบครัว

กุมภาพันธ์ 28, 2566 ความรู้เชิงลึกด้านทรัพยากรบุคคล
มีลูกไม่จำเป็นต้องลาออก แนวทางการสร้างบริษัทที่เป็นมิตรกับชีวิตครอบครัว

คุณเคยเจอสถานการณ์ที่พนักงานเก่ง ๆ มาขอลาออกไปทำหน้าที่คุณพ่อคุณแม่แบบ fulltime บ้างไหม? ณ จุดหนึ่งของชีวิต มนุษย์เราก็คงจะอยากมีครอบครัวเป็นของตัวเอง และเปลี่ยนลำดับความสำคัญในชีวิตจากเรื่องงานที่เคยมาเป็นอันดับหนึ่ง กลายเป็นเรื่องครอบครัว ซึ่งสำหรับบริษัทแล้ว ในความยินดีกับพนักงาน ก็คงจะมีความเสียดายที่ต้องเสียพนักงานปนอยู่ด้วย ดังนั้นมาลองดูกันดีกว่า จะมีวิธีสร้าง ‘บริษัทที่เป็นมิตรกับชีวิตครอบครัว อย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้พนักงานยังสามารถทำงานควบคู่ไปกับการดูแลลูกได้หากต้องการ หรือสามารถกลับมาทำงานอีกครั้งได้โดยไม่ลำบากใจ

1. เข้าใจความกังวลแล้วแก้ปัญหาให้ตรงจุด

เพื่อทำความเข้าใจว่าพนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลเรื่องอะไร และน่าจะต้องการให้บริษัทซัพพอร์ตเรื่องไหนเป็นพิเศษ ลองขอคำแนะนำจากพนักงานหรือคนรอบตัวที่มีประสบการณ์ตรง ซึ่งอาจจะเป็นคนที่มีสามีหรือภรรยาลาออกไปเป็นคุณพ่อคุณแม่เต็มตัว หรือคนที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาก่อน จะเป็นการพูดคุยปกติหรือเตรียมแบบสอบถามไปด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน การปรับใช้นโยบายหนึ่ง อาจจะเวิร์คกับคนหนึ่ง แต่ไม่เวิร์คกับอีกคนหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟังความต้องการเป็นรายบุคคลแล้วหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดร่วมกัน

 
2. Flexibility is a must!

ความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาและสถานที่ในการทำงานคือหัวใจสำคัญหากบริษัทต้องการให้พนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่กับบริษัทต่อ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแต่ละวัย จะมี cycle ในหนึ่งวันต่างกัน ดังนั้นการเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้เซ็ตตารางเวลาทำงานด้วยตัวเอง หาช่วงเวลาที่ productive ที่สุด และสามารถทำงานได้จากที่บ้าน จึงเป็นถือนโยบายที่จำเป็นต้องมี รวมถึงมีนโยบายที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ เช่น อนุญาตให้ลาเลี้ยงดูบุตรแบบยังได้รับค่าจ้าง และลากรณีฉุกเฉิน


3. หัวหน้าที่เข้าใจลูกน้องคือหัวหน้าที่ใคร ๆ ก็ต้องการ

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีชั่วโมงการทำงานและเงื่อนไขการทำงานที่ไม่ตรงกับพนักงานคนอื่น ๆ HR จึงต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจให้กับเหล่าหัวหน้างาน โดยในช่วงนี้หัวหน้าควรมีความเชื่อใจและเห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษ เปลี่ยนมาโฟกัสที่ผลลัพธ์ของงานแทนชั่วโมงทำงาน รวมถึงแนะนำให้หัวหน้างานวาง timeline ของงานให้ชัดเจนและไม่ต้องกลัวที่จะระบุ deadline ตอนสั่งงาน เพราะการสื่อสารที่ชัดเจนน่าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่จัดลำดับความสำคัญ และจัดการเวลาการทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น ต้องการภายในสัปดาห์หน้า หรือ ต้องการด่วน หากกรอบเวลาที่กำหนดไม่สามารถทำได้ ก็เปิดโอกาสให้พนักงานเสนอกรอบเวลาที่เป็นไปได้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้ทำงานได้แบบสบายใจและเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย


4. เข้าใจความสำคัญของการหยุดพัก

HR และหัวหน้างาน ควรสนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วันลาเป็นระยะเพื่อพักผ่อน รวมถึงแสดงออกให้ชัดว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถลาได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะในความเป็นจริงการใช้เวลาหนึ่งวันไปกับการทำงานและเลี้ยงดูลูกเป็นเหมือนการทำเรื่องยาก 2 อย่างพร้อมกัน อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและท้อ ไปจนถึงทำให้เกิดความรู้สึก burnout การลาหยุดบ้างจะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดที่ช่วยลดความเครียดลงได้


5. สร้าง community แบ่งปันและรับฟังเรื่องราว

คงจะมีบ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อยากระบายปัญหากับใครสักคนที่เข้าใจ การสร้าง community ออนไลน์ที่รวบรวมเหล่าคุณพ่อคุณแม่ในบริษัทเข้าด้วยกัน จึงช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ ซึ่งนอกจากจะมีเพื่อนช่วยรับฟังปัญหาแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับแบ่งปันความน่ารักของเด็ก ๆ และประสบการณ์ดี ๆ ที่เกิดขึ้นอีกด้วย HR อาจจะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลกลุ่ม หรือมีส่วนร่วมผ่านการแชร์บทความ หรือจัดกิจกรรมดี ๆ ให้กับสมาชิกกลุ่มเป็นครั้งคราว


6. Job sharing

การมีคนช่วยแบ่งเบาภาระงานแลกกับการลดเงินเดือนลงเล็กน้อย อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกยังเล็กและต้องการมีเวลาให้ลูกมากกว่าเวลาทำงาน โดยให้บริษัทเสนอตัวเลือกหั่นตำแหน่งประจำ 1 ตำแหน่งที่คุณพ่อคุณแม่เคยทำ มาเป็นตำแหน่ง contract 2 ตำแหน่งแล้วหาพนักงานเพิ่มอีก 1 คน เมื่อคุณพ่อคุณแม่ให้สัญญาณว่าพร้อมกลับมาทำงานเต็มเวลาอีกครั้ง ก็ค่อยพิจารณาปรับตำแหน่งกลับมาเป็นประจำเหมือนเดิม

เทคนิคการสื่อสารกับคนภายนอกบริษัท

หากบริษัทของคุณตั้งใจจะใช้นโยบายและสวัสดิการเหล่านี้ในระยะยาว เหมือนเป็นหนึ่งใน culture ที่องค์กรให้ความสำคัญ ก็อย่าลืมใช้เรื่องนี้ในการทำ employer branding เพื่อช่วยดึงดูด talent ใหม่ ๆ เช่น เพิ่มไปในทุก job description ในพาร์ทของสวัสดิการและหน้ารับสมัครพนักงานบนเว็บไซต์ สื่อสารให้เข้าใจว่าบริษัทเด่นในเรื่องการดูแลพนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อย่างไรบ้าง

 

จะเห็นได้ว่าวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาไม่มีเรื่องไหนที่ยากเกินกว่าที่บริษัทของคุณจะทำได้เลย เพียงแค่ใส่ใจ เข้าใจและเห็นใจพนักงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย องค์กรของคุณก็จะเป็นที่รักของพนักงานในปีแห่ง talent war เช่นนี้ และอาจได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทต้นแบบในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ inclusive society ที่เป็นเป้าหมายระดับชาติอีกด้วย หวังว่าปีนี้บริษัทของคุณจะได้ขึ้นว่า เป็นมิตรกับชีวิตครอบครัวนะครับ!

 

อ้างอิง: https://www.adecco.ca/en-ca/employers/resources/family-matters-helping-working-parents-thrive/