สรุป 5 เทรนด์ทรัพยากรบุคคลที่น่าจับตามองในปี 2019

ธันวาคม 27, 2561 ความรู้เชิงลึกด้านทรัพยากรบุคคล
สรุป 5 เทรนด์ทรัพยากรบุคคลที่น่าจับตามองในปี 2019

English Version >> Click here

สรุป 5 เทรนด์ทรัพยากรบุคคลที่น่าจับตามองในปี 2019

เข้าสู่ปีใหม่ก็ได้เวลาอัพเดทเทรนด์ด้านทรัพยากรบุคคลกันอีกครั้ง ในปีนี้อเด็คโก้ประเทศไทยได้รวบรวมเทรนด์สำคัญของโลก โดยนำข้อมูลทั้งจากของอเด็คโก้และงานวิจัยที่น่าเชื่อถือจากทั้งไทยและต่างประเทศ สรุปมาเป็น 5 เทรนด์สำคัญที่ชาว HR และคนทำงานควรรู้สำหรับปี 2019 นี้

 

  • Digital Disruption – เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการทำงาน

    ต่อเนื่องจากปีก่อน เทคโนโลยีในปี 2019 จะยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI การนำระบบอัติโนมัติมาใช้ หรือการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีเหล่านี่จะเข้ามาช่วยทุ่นแรงมนุษย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ หลายองค์กรจะมีการปรับตัวสู่การเป็น Digital Workplace รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

    ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะสร้างอาชีพใหม่ให้เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับไอทีและดิจิทัล ในทางกลับกันก็จะมีอาชีพที่ค่อย ๆ ถูกกลืนหายไป บางอาชีพก็อาจถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ เช่น งานบริการลูกค้าสัมพันธ์ที่อาจเปลี่ยนจากการจ้างคนมารับโทรศัพท์ เปลี่ยนมาใช้ระบบข้อความอัติโนมัติและแชทบอทแทน การลดอัตราการจ้างพนักงาน Teller ของธนาคาร โดยส่งเสริมการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น หรือบางบริษัทอาจลดอัตราการจ้างพนักงานบัญชี และหันมาใช้ AI ในการวิเคราะห์ตัวเลขและจัดทำบัญชีทั้งหลายแทน 

    หลายอาชีพแม้จะยังไม่ถูกทดแทนด้วยเทคโลยีโดยสมบูรณ์ แต่ตัวพนักงานเองต้องมีการปรับบทบาทในการทำงานเพื่อให้เข้ากับเนื้องานที่เปลี่ยนไป อาจต้องปรับมาทำงานด้านคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์มากขึ้น หรือโฟกัสในเรื่องของการบริหารคนแทน เพราะในส่วนอื่นๆเทคโนโลยีได้ทำหน้าที่แทนแล้ว

 

  • Up Skilling & Reskilling – ยกระดับทักษะรับอนาคต 

    ทุกวันนี้โลกพัฒนาไปเร็วมาก การทำงานปรับเปลี่ยนไปทุกวัน คนทำงานในยุคนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมี mindset ของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อมูลจาก Bureau of Labor Statistics เผยว่า ในทุก ๆ 5 ปีทักษะที่เรามีจะมีค่าเหลือครึ่งเดียว เพราะในอนาคตทักษะที่จำเป็นจะเปลี่ยนไป ทำให้ทักษะเดิมที่มีอยู่จะไม่เพียงพอต่อการทำงาน ทั้งองค์กรและตัวพนักงานเองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับพัฒนาทักษะ (Upskilling) และเสริมทักษะใหม่ ๆ (Reskilling) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านดิจิทัล และ 10 ทักษะที่เป็นที่ต้องการของประเทศไทย โดยควรจัดให้มีการอบรมอย่างเพื่อเสริมทักษะต่อเนื่อง สร้างให้ที่ทำงานเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันและเรียนรู้ เพื่อให้ก้าวทันกับโลกการทำงานที่เปลี่ยนไป 

    อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการเรียนรู้จะไม่จำกัดอยู่ที่การเรียนในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม เราจะเริ่มเห็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมลุกขึ้นมาออกแบบหลักสูตรและจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจด้วยตัวเอง อย่าง Google ที่สร้างสร้างหลักสูตรเรียนออนไลน์พร้อมออกใบรับรองเองได้ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากบริษัทเอกชนให้ใช้สำหรับสมัครงานและนำไปใช้อ้างอิงในวิชาชีพได้ ซึงถือเป็นจุดสำคัญของ disrupt การศึกษาแบบเดิม ๆ

 

  • Aging population – ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุ

    หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อีก 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุราว 1 ใน 4 ของประเทศ ปัญหาที่ตามมาก็คือ การลดลงของจำนวนแรงงาน การว่างงานของผู้สูงอายุ การที่คนวัยทำงานบางส่วนต้องลาออกเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หรือปัญหาความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุหลังเกษียณ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการออกนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร เช่น การยืดหยุ่นรูปแบบการทำงาน การเพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และการออกแบบระบบสวัสดิการเพื่อสร้างความมั่นคงหลังวัยเกษียณ

 

  • Flexible Workforce – การผสมผสานระหว่างพนักงานประจำและฟรีแลนซ์

    อีกเทรนด์ที่ยังคงมาแรงแบบต่อเนื่องคือ Gig economy เราจะเห็นการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือในรูปแบบฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยประกอบอย่างการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะทาง การลดภาระการจ้างพนักงานประจำ และการที่คนรุ่นใหม่อย่าง GEN Y และ GEN Z มีทัศนคติที่ดีต่องานฟรีแลนซ์ที่มองว่าเป็นโอกาสที่พวกเขาจะหารายได้ได้มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ ทั้งยังมีอิสระในการทำงาน สามารถบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้ ปัจจุบันเราจึงเห็นคนรุ่นใหม่หันมารับงานฟรีแลนซ์มากขึ้น ทั้งที่รับควบคู่ไปกับงานประจำและการออกมาทำฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว

    การจ้างงานในลักษณะนี้จะช่วยให้การทำงานดำเนินไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น หลายองค์กรจึงเลือกที่จะใช้พนักงานประจำกับฟรีแลนซ์ผสมผสานกัน โดยใช้ฟรีแลนซ์มาเป็นกำลังเสริมเวลาที่ “ขาดคน” เนื่องจากโปรเจคท์ที่เร่งด่วน หรือ “ขาดทักษะ” เมื่อเจองานที่ต้องใช้ทักษะและความสามารถเฉพาะทางที่พนักงานประจำทำไม่ได้ ซึ่งเราจะเห็นแนวโน้มของการจ้างงานแบบชั่วคราวมากขึ้นในปีนี้

 

  • GEN Z – น้องใหม่ขององค์กรที่อยากสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่

    ปีนี้หลายองค์กรจะมีชาว GEN Z หรือคือคนที่เกิดหลังปี ค.ศ.1993 เข้ามาร่วมในองค์กรมากขึ้น ซึ่งสำคัญมากสำหรับองค์กรและพนักงานรุ่นพี่ที่จะทำความเข้าใจเด็กเจนนี้ ชาว Gen Z อยากทำงานที่มีจุดมุ่งหมาย สร้าง Impact ให้สังคม พวกเขาตื่นเต้นและจะกระตือรือร้นเป็นพิเศษหากได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจคท์สำคัญๆ ชอบเทคโนโลยี และใช้ชีวิตแบบ Work-life blended เรียกได้ว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงก็ว่าได้ ดังนั้นหากองค์กรต้องการดึงศักยภาพเด็กเหล่านี้อย่างเต็มที่ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ รับฟังความคิดเห็น ปรับองค์กรให้ทันสมัย เสริมสวัสดิการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพวกเขา อย่างสวัสดิการฟิตเนส การสร้างมุมพักผ่อนง่ายๆ เช่น มีมุมขนมและอาหาร มีโต๊ะปิงปอง มีเกมเพลย์สเตชั่นหรือบอร์ดเกมให้เล่น ก็จะทำให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขและสร้างสรรค์ความแตกต่างในทางที่ดีให้กับองค์กรได้