เทคนิคการสร้าง TRUST ในทีม - 13 สิ่งที่หัวหน้าควรทำหากอยากได้ใจลูกน้อง

สิงหาคม 20, 2563 การพัฒนาภาวะผู้นำ
เทคนิคการสร้าง TRUST ในทีม - 13 สิ่งที่หัวหน้าควรทำหากอยากได้ใจลูกน้อง

การสร้าง trust หรือความไว้วางใจมีความสำคัญมากในการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะหัวหน้าที่หากไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกน้องแล้ว ก็ยากที่ลูกน้องจะเชื่อฟังหรือทุ่มเททำงานให้ได้ตามเป้าหมาย 

การจะสร้าง trust ให้เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย คนเป็นหัวหน้าจะต้องอาศัยความอดทน ค่อยๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างสม่ำเสมอ และคอยระวังไม่ให้ตัวเองเป็นคนทำลายความเชื่อใจจากลูกน้องเสียเอง  

การจะเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องไว้วางใจต้องทำอย่างไร? Adecco ได้สรุปเทคนิค 13 ข้อที่หัวหน้าควรทำหากอยากได้ใจลูกน้อง (The 13 Behaviors of High Trust) จากหนังสือ The speed of trust ของ Stephen Covey มาเป็นแนวทางให้กับหัวหน้าที่อยากพัฒนาตัวเองมาฝากกันค่ะ


1 ตรงไปตรงมา (Talk Straight) 

สิ่งที่จะทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจได้ง่ายที่สุดก็คือคำโกหก หัวหน้าจึงควรพูดความจริง ซื่อสัตย์ ชัดเจนในจุดยืน ตรงไปตรงมา ไม่หลอกลวงหรือบิดเบือนความจริง ไม่พูดกับคนนั้นอย่างพูดกับคนนี้อีกอย่าง การที่ลูกน้องรู้ว่าหัวหน้าเป็นคนจริงใจก็จะทำให้พวกเขารู้สึกไว้วางใจในหัวหน้าได้ง่ายขึ้น 

2 ให้เกียรติ (Respect) 

หัวหน้าควรจะให้เกียรติลูกน้องทุกคนไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งใด ปฏิบัติกับทุกคนด้วยความเท่าเทียม ไม่ว่าคนนั้นจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับทีมมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ในฐานะสมาชิกของทีม หัวหน้าก็ควรให้เกียรติและใส่ใจทุกคนไม่ต่างกัน  

3 โปร่งใส (Create Transparency) 

หัวหน้าไม่ควรทำเรื่องที่ไม่โปร่งใส ปิดบังความจริง หรือ มี hidden agenda กับลูกน้อง แต่ควรทำอะไรเปิดเผย จริงใจ และทำงานด้วยความสุจริต เพราะการทำอะไรที่มีลับลมคมนัยจะทำให้เกิดความสงสัยและคลางแคลงใจกันภายในทีมซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้าง trust ให้เกิดขึ้น 

4 ผิดให้เป็น (Right Wrongs) 

หัวหน้าที่จะได้รับความไว้วางใจจากลูกน้อง คือหัวหน้าที่สามารถแยกถูกผิดได้ชัดเจน เมื่อตัวเองทำผิดก็กล้าที่จะยอมรับผิด ขอโทษ และแก้ไข แต่หัวหน้าที่จะไม่ได้ใจจากลูกน้องเลยคือหัวหน้าที่ผิดไม่เป็น ปิดบังความผิดตัวเอง โทษลูกน้อง หาข้อแก้ตัวทำให้ความผิดกลายเป็นเรื่องชอบธรรม 

5.  ให้เครดิตลูกน้อง (Show Loyalty) 

เมื่องานประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี หัวหน้าจะต้องรู้จักชื่นชมและให้เครดิตคนในทีมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจด้วย โดยพูดแทนลูกน้องและกล่าวชมให้ทุกคนรับทราบทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ใช่เพียงชมต่อหน้าแล้วเอาเครดิตลับหลังเพียงคนเดียว 

6ทำผลงานให้สำเร็จ (Deliver Result) 

หากหัวหน้าทำงานไม่สำเร็จ ก็ยากที่ลูกน้องจะเชื่อใจในความสามารถของหัวหน้า ดังนั้นสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ก็ต้องทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย รับผิดชอบต่องานที่ทำ และพึงระวังการขายฝันหรือตั้งเป้าหมายที่ใหญ่หรือไกลเกินไปจนทำไม่ได้ตามเป้า 

7 พัฒนาตัวเอง (Get Better) 

การทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้วจะช่วยให้หัวหน้าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และพัฒนาเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นและการติชมจากหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานทีมอื่นๆ ก็จะช่วยทำให้คุณสามารถพัฒนาความสามารถได้อย่างรวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น 

8เผชิญหน้ากับความจริง (Confront Reality)

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น หัวหน้าควรพิจารณาสาเหตุและเผชิญหน้ากับความจริง แม้ว่าอาจจะเป็นประเด็นที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง และเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด แต่ต้องระวังกระทบความสัมพันธ์ด้วย โดยให้พุ่งเป้าไปที่เนื้องานหรือปัญหาและหลีกเลี่ยงการพุ่งเป้าไปที่คน 

9ชัดเจนเรื่องความคาดหวัง (Clarify Expectations)

ในความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง ต่างฝ่ายต่างก็คาดหวังซึ่งกันละกัน ดังนั้นจึงควรมีการเปิดใจคุยกันเรื่องความคาดหวังให้ชัดเจน หัวหน้าจะต้องเปิดเผย มีความชัดเจน สามารถอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ และทำให้มั่นใจว่าทุกคนในทีมจะเข้าใจตรงกัน เพราะหากต่างฝ่ายต่างเข้าใจผิดก็จะมีปัญหาเรื่องความไว้วางใจและส่งผลต่อการทำงานในทีมได้ 

10รับผิดชอบ (Practice Accountability) 

ไม่ว่างานจะออกมาดีหรือแย่ หัวหน้าควรเป็นคนที่อออกมารับผิดชอบเป็นคนแรก โดย ไม่ปัดความรับผิดชอบให้ใคร หรือโทษว่าเป็นความผิดของใครเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น  ตำแหน่งผู้นำมาพร้อมกับหน้าที่มากมาย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของการกระทำหรือการตัดสินใจที่เกิดขึ้นทั้งร้ายและดี   

11เปิดใจฟังลูกน้อง (Listen First) 

คำพูดของหัวหน้ามีผลต่อลูกน้องมาก ดังนั้นก่อนที่จะพูดอะไรจึงควรฟังก่อนพูดและคิดให้ดี เมื่อลูกน้องพูดอะไร นอกจากใช้หูของคุณในการฟังแล้ว คุณอาจต้องใช้ตาและใจในการฟังด้วย ลองเปิดใจรับฟัง สังเกต และพิจารณาถึงเหตุผลในการกระทำของลูกน้อง แล้วลองพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้นอีกสักนิด อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป เพราะเราอาจไม่ได้รู้ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง  

12รักษาคำพูด (Keep Commitments) 

การรักษาคำพูดและรักษาสัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อะไรที่เคยพูดหรือสัญญาไว้กับลูกน้องต้องทำให้ได้ แต่หากทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหาทางอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจ ดังนั้นอย่าพยายามสัญญาอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อคุณผิดสัญญาหรือผิดคำพูดบ่อยๆ ก็จะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าคุณเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ 

13ให้ความไว้วางใจลูกน้องเพิ่มขึ้น (Extend Trust) 

หากลูกน้องคนไหนสามารถทำผลงานได้ดี และคุณรู้สึกว่าไว้วางใจได้ ก็ให้ขยายขอบเขตความไว้วางใจในการทำงานมากขึ้น ให้อิสระในการทำงานกับเขาเพิ่มขึ้น ปล่อยให้เขาได้ทำงานและตัดสินใจเอง สำหรับคนที่คุณยังไม่ค่อยไว้วางใจนักก็พิจารณาให้เขาเป็นครั้งๆ เป็นงานๆ ไป การทำแบบนี้จะช่วยทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าคุณไว้วางใจในตัวเขา และช่วยให้ trust ในทีมค่อยๆ เพิ่มขึ้น ส่วนสิ่งที่หัวหน้าควรหลีกเลี่ยงคือการ micro managing เกินความจำเป็น และการกระจายหน้าที่ความรับผิดชอบให้โดยไม่ให้อำนาจในการตัดสินใจกับลูกน้อง ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน