หมออันดับ 1 อาชีพในฝัน – ยูทูปเบอร์ อาชีพมาแรงแห่งปี
กลุ่มบริษัทอเด็คโก้เผยผลสำรวจ “อาชีพในฝันของเด็กไทย” ครั้งที่ 11 ปี 2563 ที่สำรวจในกลุ่มตัวอย่างเด็กไทยอายุ 7-14 ปี จำนวน 4,050 คน จากทั่วทุกภูมิภาค พบว่าอาชีพในฝันเด็กของเด็กไทยในปีนี้ “หมอ” นำลิ่วมาอันดับหนึ่ง ด้านอันดับสองยังคงเป็นอาชีพ “ครู” ไม่ต่างจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าส่วนใหญ่เด็กที่เลือกอาชีพหมอเป็นเด็กที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่เด็กที่เลือกครูส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อาศัยในจังหวัดอื่น ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ส่วนอาชีพมาแรงประจำปีนี้ ได้แก่ อาชีพ “ยูทูปเบอร์” ที่ไต่อันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่สาม แซงอาชีพ “นักกีฬา” และ “ทหาร” โดยเด็กไทยมองว่าอาชีพยูทูปเบอร์เป็นอาชีพที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ สบาย รายได้สูง มีอิสระ มีชื่อเสียง และคิดว่าตัวเองมีทักษะและความสามารถในการทำอาชีพนี้ได้ หลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากยูทูปเบอร์และนักแคสเกมที่ตนชื่นชอบ
เด็กไทยชอบดู YouTube “เก๋ไก๋สไลเดอร์” ขึ้นแท่นไอดอลขวัญใจเด็กไทย
จากผลสำรวจพบว่าเด็กไทยกว่า 93% ใช้ยูทูป นำหน้าสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ ส่วนสื่อที่เด็กนิยมใช้รองลงมาคือเฟซบุ๊ก ไลน์ และติ๊กตอก โดยยูทูปเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพในฝันและไอดอลที่ชื่นชอบ โดยกว่า 48% ของเด็กที่ตอบแบบสอบถาม เลือกยูทูปเบอร์เป็นไอดอลในดวงใจ ทำให้ปีนี้มียูทูปเบอร์เข้ามาติดโผจำนวนมากในปีนี้ไอดอลที่เด็กไทยเทใจให้มากที่สุด ได้แก่ “เก๋ไก๋สไลเดอร์” ยูทูปเบอร์สาววัย 23 ปีที่มียอดผู้ติดตามมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 11 ล้านคน โดยเด็กๆ ให้เหตุผลว่าพี่เก๋ มีความน่ารัก สดใส ตลก พูดเพราะ ทำคลิปสนุกๆ และมีประโยชน์ ด้านอันดับ 2 ได้แก่ “BLACKPINK” เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีมาแรงแห่งปี เจ้าของเพลงฮิต “Kill This Love” โดยสมาชิกในวงที่เป็นที่ชื่นชอบของน้องๆ มากที่สุด ได้แก่ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล อันดับ 3 ได้แก่ แป้ง “Zbing Z.” ยูทูปเบอร์และนักแคสเกมที่ติดโพลล์มา 3 ปีซ้อนติดต่อกัน อันดับ 4 ศิลปินเกาหลีวง “BTS” และอันดับ 5 “CGGG” นักแคสเกม Free Fire ชื่อดัง
สำหรับอันดับช่องยูทูปที่เด็กไทยให้ความนิยมมากที่สุด ได้แก่ “เก๋ไก๋สไลเดอร์” รองลงมาคือช่อง “Zbing Z.” “CGGG” และ “UDIE” ช่องแคสเกม ที่ได้อันดับ 2 3 และ 4 ตามลำดับ ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ “บี้เดอะสกา”
เด็กไทยยุคดิจิทัลเน้นหาความรู้ในอินเทอร์เน็ต - สมาร์ทโฟน นำลิ่วของขวัญที่เด็กไทยอยากได้
เมื่อสอบถามถึงวิธีหาความรู้นอกห้องเรียน เด็กไทยกว่า 50% ตอบว่า “อินเทอร์เน็ต” ไม่ว่าจะเป็นการหาความรู้ผ่านการเสิร์ชกูเกิ้ล การเข้าเว็บไซต์ต่างๆ หรือดูยูทูป ทั้งผ่านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เพื่อค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ขณะที่อีก 25% เลือกค้นคว้าผ่านการ “อ่านหนังสือและการเข้าห้องสมุด”
สำหรับของขวัญวันเด็กที่เด็กไทยอยากได้มากที่สุดในปีนี้คือ “สมาร์ทโฟน” โดยคิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รองลงมาคือ “คอมพิวเตอร์” “ตุ๊กตา” “เงิน” และ “หนังสือ” ตามลำดับ ซึ่งของขวัญเหล่านี้ก็สอดคล้องกับงานอดิเรกที่เด็กไทยชอบทำคือ เล่นเกม เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นกับเพื่อน อ่านหนังสือ อ่านการ์ตูน ดูภาพยนตร์ และไปเที่ยว
ส่องเทรนด์อาชีพ เด็ก GEN Z – Gen Alpha
คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย เผยว่า “ผลสำรวจอาชีพในฝันของอเด็คโก้ที่เราทำจะสำรวจในกลุ่ม เด็กอายุ 7-14 ปี ซึ่งก็แบ่งได้เป็นสองเจนเนอเรชัน คือ GEN Z และ Gen Alpha ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมากับเทคโนโลยี คุ้นชินกับการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต มาตั้งแต่เด็ก จึงไม่น่าแปลกใจว่าภาพรวมของคำตอบในปีนี้จะเห็นความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น อาชีพยูทูปเบอร์ที่มาแรงขึ้นมาเป็นอันดับสามและมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี หรือการที่เด็กเกือบครึ่งโพลล์เลือกยูทูปเบอร์เป็นไอดอลในดวงใจ รวมถึงพฤติกรรมของเด็กในยุคนี้ที่ชอบเล่นเกม สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ค้นหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ต ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น Digital native ของเด็กไทยในปัจจุบัน”
“การที่พวกเขาเกิดมาพร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร Mark McCrindle นักประชากรศาสตร์และนักวิจัยทางสังคม มีการพยากรณ์ว่า Gen Alpha หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี จะเป็นเจเนอเรชันที่ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด และเป็น Gen ที่ฉลาดที่สุด และใช้เทคโนโลยีเก่งที่สุด เมื่อเทียบกับ Gen อื่นๆ ตอนมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ขณะที่ Gen Z หรือผู้ที่ปัจจุบันมีอายุตั้งแต่ 26 ปีลงไป งานวิจัยจากต่างประเทศรายงานว่า Gen Z ก็จะก้าวเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กร โดยจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 27 ของแรงงานทั้งหมดภายในอีก 5 ปีข้างหน้า Gen Z มีแนวโน้มที่จะเลือกอาชีพที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมโลก ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสนใจการเป็นผู้ประกอบการและทำอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นมุมมองการเลือกอาชีพที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน”
“เด็กในรุ่นนี้จะโตมากับอนาคตของโลกการทำงานที่เปลี่ยนไป หลายอาชีพจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ แต่ก็จะมีอีกหลายอาชีพเกิดขึ้นใหม่เช่นเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ร้อยละ 60 ของแรงงานจะทำงานในอาชีพที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะช่วยกันพัฒนาศักยภาพเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการใช้ชีวิตและทักษะทางสังคม ซึ่งเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนได้ รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะเรียนรู้และต่อยอดองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ เพราะในอนาคตความรู้ใหม่ๆ จะมีความสำคัญมากกว่าใบปริญญา”
“การเรียนรู้ตลอดชีวิตและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง จะกลายเป็นคำขวัญสำคัญของเด็กยุคใหม่ที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างมั่นคงในโลกที่มีการ Disruption ตลอดเวลา”