ในเดือนตุลาคม 2566 อเด็คโก้ ประเทศไทย ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานในประเทศไทยในหัวข้อเกี่ยวกับเงินเดือน ความพึงพอใจต่องาน และเทรนด์การทำงานต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนภาพรวมตลาดแรงงานในประเทศไทยในปัจจุบันผ่านมุมมองของคนทำงาน เพื่อให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะตัวแทนขององค์กรหรือผู้สมัครงานสามารถนำ insight เหล่านี้ไว้ใช้อ้างอิงในการปรับกลยุทธ์การจ้างงานและการหางานได้อย่างเหมาะสม
โดยข้อมูลที่นำมาเผยแพร่ครั้งนี้เป็นผลสรุปจากผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นคนทำงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น 2,456 คน และมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
ภาพรวมสถานการณ์ในตลาดแรงงาน
-
การเติบโตของธุรกิจ
เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า (2565) ในปี 2566 องค์กรใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้ออกประกาศ lay off พนักงานมากนัก การรับรู้นี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนทำงานในไทยส่วนใหญ่ (67%) รู้สึกมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้นและมองธุรกิจขององค์กรที่ตัวเองสังกัดในแง่ดี โดยมองว่าในปีหน้าองค์กรจะเติบโตขึ้นปานกลางถึงมาก โดยเฉพาะคนทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 2,500 คน ที่กว่า 80% มองว่าองค์กรจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอนในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าองค์กรกำลังเติบโตปานกลาง มีผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่มองว่าองค์กรจะเติบโตอย่างมาก และมีผู้บริหารอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่มองว่าองค์กรจะเติบโตอย่างจำกัด
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของคนทำงานในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่ามีคนทำงานในสอง อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต และการประชาสัมพันธ์และสื่อ ที่รู้สึกมั่นคงน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (42-43%) ของคนในสองอุตสาหกรรมนี้มองว่าธุรกิจที่ตัวเองสังกัดกำลังเติบโตอย่างจำกัดหรือกำลังลดขนาดองค์กร ในขณะที่ อุตสาหกรรมไอที อสังหาริมทรัพย์ และบริการเฉพาะด้านและการให้คำปรึกษา เป็นสามอุตสหกรรมที่รู้สึกมั่นใจในการเติบโตขององค์กรมากที่สุด
-
วัฒนธรรมองค์กร
เป็นแนวโน้มที่ดีว่าในปีที่ผ่านมามีคนทำงาน 2 ใน 3 รู้สึกพึงพอกับวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง โดยมีคน 51% ให้คะแนนในระดับดีหรือเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วย และมีคน 15% ให้คะแนนในระดับดีเยี่ยมหรือเป็นองค์กรในดวงใจ
" ปี 2566-2567 คนไทยส่วนใหญ่มององค์กรของตัวเองในแง่ดี "
เงินเดือนและสวัสดิการ
-
การปรับเงินเดือนที่คาดหวังเมื่อย้ายงาน
เมื่อมีการย้ายงาน คนเกือบ 60% ต้องการได้เงินเดือนมากขึ้นไม่น้อยกว่า 20% นอกจากนี้ยังพบว่า คนทำงานที่มีแนวโน้มย้ายงานบ่อย (ทำงานในตำแหน่งเดิมไม่เกิน 2 ปี) เป็นกลุ่มที่ต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการย้ายงานมากกว่ากลุ่มอื่น หมายความว่า มีคนกลุ่มนี้กว่า 30% ที่ต้องการได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 30% ขึ้นไป
ผลสำรวจยังพบอีกว่า ความต้องการขึ้นเงินเดือนเมื่อย้ายงานไม่ได้แตกต่างกันในพนักงานแต่ละระดับ หมายความว่า ในขณะที่เด็กจบใหม่คาดหวังเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ผู้บริหารก็ยังคาดหวังเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้ต่างกันนักแม้ว่าจะมีฐานเงินเดือนที่มากกว่าก็ตาม
-
การปรับเงินเดือนที่คาดหวังจากองค์กรปัจจุบัน
เมื่อถามถึงการขึ้นเงินเดือนที่นายจ้างมอบให้ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า คนส่วนใหญ่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 2-5% รองลงมาคือ 5-10% ในทางตรงข้าม มีคนเพียง 6% เท่านั้นที่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 20% ขึ้นไป
ในขณะเดียวกันเมื่อถามการปรับเงินเดือนที่คาดหวังในปีที่จะถึง พบว่า คนทำงานเกือบ 40% คาดหวังว่าจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 5-10% หรือเรียกว่ามากกว่าที่เคยได้ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกที่ว่าองค์กรกำลังเติบโต
" คนทำงานคาดหวังว่าจะได้เงินเดือนขึ้นแบบก้าวกระโดดจากการย้ายงาน
มากกว่าจากการปรับขึ้นเงินเดือนจากองค์กรปัจจุบัน "
-
ความถี่ในการปรับเงินเดือน
ผลสำรวจพบว่า องค์กรในไทยกว่า 75% พิจารณาการปรับเงินเดือนให้พนักงานปีละ 1 ครั้ง สิ่งที่น่าสนใจคือองค์กรขนาดกลางที่มีพนักงาน 50-500 คน มีแนวโน้มจะพิจารณาการปรับเงินเดือนมากกว่าปีละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากความคล่องตัวสูงในการปรับกลยุทธ์ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของธุรกิจขนาดกลาง
-
สวัสดิการที่คนทำงานได้รับ
สถิติพบว่า ประกันสุขภาพอาจเรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สุดขององค์กรในไทย เนื่องจากมีคนทำงาน 84% ที่ได้รับประกันสุขภาพจากองค์กร สวัสดิการที่องค์กรนิยมให้รองลงมาได้แก่ การมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น (53%) ค่าเดินทาง (43%) และการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ (41%)
-
ความพึงพอใจต่อเงินเดือนและสวัสดิการ
เป็นที่น่ายินดีว่า คนทำงาน 3 ใน 4 รู้สึกว่าตัวเองได้เงินและสวัสดิการตามมาตรฐานหรือสูงกว่ามาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับคนในตำแหน่งใกล้เคียงกันในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีอุตสาหกรรมสามประเภทที่มีสัดส่วนคนทำงานที่รู้สึกไม่พอใจเงินเดือนและสวัสดิการของตัวเองมากกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์และสื่อ ไอที และหน่วยงานรัฐ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจทำให้อุตสาหกรรมที่กล่าวมามีอัตราการลาออกสูงขึ้นในช่วงปีที่จะถึง และมีโอกาสที่คนเลือกจะย้ายไปทำงานในอุตสาหกรรมอื่นแทน
การลาออก
-
สัดส่วนคนทำงานที่กำลังมองหางานใหม่
90% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า พวกเขาพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ที่จะเข้ามาใน 12 เดือนข้างหน้า โดยแบ่งเป็น 54% ที่พร้อมเปิดรับโอกาสใหม่แต่ไม่ได้มองหางานจริงจัง และ 36% ที่กำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจัง ผลสำรวจยังพบว่า สัดส่วนคนที่กำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจังกระจายอยู่ในพนักงานทุกระดับตั้งแต่เด็กจบใหม่จนถึงผู้บริหารในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาตามอุตสาหกรรมแล้ว จะพบว่ามีบางอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนคนที่กำลังมองหางานใหม่เยอะกว่าค่าเฉลี่ย (36%) ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต (41%) ไอที (39%) และการประชาสัมพันธ์และสื่อ (38%) ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจในเงินเดือนและสวัสดิการที่ตัวเองได้รับ หรือความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ ตามที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า
-
ช่องทางในการหางาน
เว็บไซต์รับสมัครงานออนไลน์ เป็นช่องทางยอดนิยมอันดับ 1 ที่ผู้สมัครในไทยนิยมใช้ในการหางาน ตามมาด้วย การสมัครผ่านบริษัทจัดหางาน และ LinkedIn
-
ปัจจัยที่ผู้สมัครใช้พิจารณาองค์กรใหม่เมื่อย้ายงาน
ปัจจัยอันดับหนึ่งที่ผู้สมัครใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาองค์กรใหม่ที่จะร่วมงานด้วยไม่ใช่สิ่งที่เกินกว่าที่เราคาด นั่นคือ เงินเดือนและสวัสดิการ โดยมีคนมากถึง 94% ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รองลงมาได้แก่ work-life balance โอกาสในการได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และวัฒนธรรมองค์กร
" แม้ว่าการให้เงินเดือนที่สูงกว่าตลาดจะเป็นวิธีดึงดูดทาเลนต์ที่ง่าย
แต่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป
เพราะยังมีผู้สมัครถึง 34% ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเป็นอันดับ 1 "
-
กลยุทธ์ในการรักษาพนักงาน
ส่วนในฝั่งขององค์กร พบว่ากลยุทธ์ที่องค์กรมักใช้ในการรักษาพนักงานไม่ให้พนักงานลาออก อันดับหนึ่งคือการให้พนักงานมีเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน ตามมาด้วย การมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น และการช่วยพัฒนาทักษะให้พนักงาน
" องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, social, and corporate governance)
และ CSR (Corporate social responsibility) อาจได้เปรียบในการดึงดูดและรักษาพนักงาน
โดยพบว่าคนทำงานถึง 91% มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรควรมี "
ทักษะและความก้าวหน้า
-
ความพึงพอใจต่อระบบ L&D
ผลสำรวจพบว่ามีองค์กรไทยครึ่งต่อครึ่งที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดีในแง่ของการช่วยพนักงานพัฒนาทักษะ โดยพบว่า มีพนักงานครึ่งหนึ่งให้คะแนนระบบ L&D ขององค์กรในระดับดี-ดีมาก ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งให้คะแนนปานกลาง-แย่ นอกจากนี้ยังพบว่า พนักงานที่อยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป) ให้คะแนนระบบ L&D ดี-ดีมาก ในสัดส่วนที่มากกว่าพนักงานที่อยู่ในองค์กรขนาดกลางหรือขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใด พบว่าคะแนนความพึงพอใจของพนักงานแต่ละระดับค่อนข้างใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีว่าองค์กรในไทยไม่ได้ละเลยการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการ
เมื่อพิจารณาแยกตามอุตสาหกรรม พบมีสองอุตสาหกรรมที่อาจต้องหันมาให้ความสำคัญกับระบบ L&D ให้มากขึ้นโดยเร็ว ได้แก่ ประชาสัมพันธ์และสื่อ และอุตสหกรรมการผลิต เนื่องจากมีพนักงานเกินครึ่งให้คะแนนในระดับปานกลาง-แย่
-
ทักษะที่พนักงานต้องการพัฒนา
ในยุคที่ความรู้ด้านดิจิทัลเป็นทักษะสำคัญสำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ คนทำงานที่เก่งในเรื่องดิจิทัลจึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้ ทักษะด้านดิจิทัล กลายเป็นทักษะอันดับหนึ่งที่คนทำงานต้องการพัฒนาเพื่อเพิ่มโอกาสก้าวหน้าในอาชีพมากที่สุด ตามมาด้วยทักษะอันดับสองที่มีความต้องการพัฒนาสูงไม่แพ้กัน นั่นคือ การบริหารคนและความเป็นผู้นำ โดยมีคนทำงานกว่า 60% ที่ต้องการพัฒนาทักษะเหล่านี้
สิ่งที่องค์กรมองหาในตัวผู้สมัคร
เมื่อถามนายจ้าง HR และ hiring manager ถึงสิ่งที่มองหาในตัวผู้สมัคร พบว่ามีคุณสมบัติห้าอันดับที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ ทักษะที่เกี่ยวข้อง ประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร และทักษะการสื่อสาร ตามลำดับ โดยเราจะพบว่า พื้นฐานทางการศึกษา ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ในการคัดเลือกผู้สมัคร
นอกจากนี้ พบว่า ทัศนคติแบบมืออาชีพ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้สมัครมักขาดมากที่สุด รองลงมาได้แก่ Soft skills ต่าง ๆ ประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมนั้น ๆ Hard skills และประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ
การเข้ามามีบทบาทของ AI ต่อการทำงาน
-
ภาพรวมการใช้ GenAI ในประเทศไทย
AI เป็นหนึ่งในเทรนด์การทำงานที่สำคัญในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ Generative AI (GenAI) เช่น ChatGPT ซึ่งมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเองพบว่ามีคนทำงานที่ใช้ GenAI ประมาณครึ่งหนึ่งของคนทำงานทั้งหมด (45%) และส่วนใหญ่ (74%) มีมุมมองต่อ AI ในแง่ดี มีเพียงส่วนน้อย (24%) เท่านั้นที่รู้สึกกังวลว่าจะถูก AI แย่งงาน
เมื่อดูในรายละเอียดของคน 55% ที่ใช้ GenAI ช่วยในการทำงาน พบว่าฟังก์ชันของ GenAI ที่คนใช้มากที่สุด ได้แก่ แปลภาษา (47%) หาไอเดียใหม่ ๆ (43%) สร้างคอนเทนต์ (42%) ค้นคว้าวิจัย (32%) และช่วยวิเคราะห์ข้อมูล (30%) เป็นต้น
ส่วนอีก 45% ที่ไม่เคยใช้ GenAI ให้เหตุผลว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ (66%) ไม่เป็นไปตามนโยบายของบริษัท (25%) ไม่รู้ว่าต้องใช้อย่างไร (20%) กังวลเรื่องความปลอดภัย (19%) และเหตุผลอื่น ๆ (5%)
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบอัตราการใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่า หน่วยงานรัฐ (62%) ไอที (59%) และ โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (52%) เป็นสามอุตสาหกรรมที่ใช้งาน GenAI มากที่สุด
-
ความกังวลต่อการมีงานทำ
เมื่อดูในรายละเอียดของคน 24% ที่รู้สึกกังวลว่าอาจโดน AI แย่งงานใน 5 ปีข้างหน้า พบว่ากลุ่มที่มีความกังวลมากที่สุด ได้แก่ พนักงานพาร์ทไทม์ คนที่กำลังว่างงาน และผู้บริหาร
เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมผู้บริหารถึงรู้สึกกังวลต่อ AI มากกว่าพนักงานทั่วไป เราคาดว่าความกังวลในผู้บริหารอาจเกิดจากสาเหตุหลัก คือ กลัวว่าจะตาม AI ไม่ทัน ซึ่งส่งผลให้ถูกแทนที่ด้วยผู้บริหารคนอื่นที่มีความรู้ด้าน AI มากกว่า หรือความกังวลว่าความสามารถที่โดดเด่นของ AI ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และวางแผนธุรกิจ จะทำให้ผู้บริหารมีบทบาทลดลง
นอกจากนี้ เมื่อดูแยกตามอุสาหกรรมแล้ว พบว่าความกังวลของคนในแต่ละอุตสาหกรรมไม่มีความแตกต่างกันมากนัก มีเพียงคนที่ทำงานใน หน่วยงานรัฐ และอสังหาริมทรัพย์ ที่รู้สึกกังวลต่อ AI น้อยเป็นพิเศษ
" ไม่ว่าจะเป็นคนในอุตสาหกรรมที่คุ้นเคยกับการใช้ GenAI หรือไม่ได้ใช้ GenAI มากนัก
ความรู้สึกกังวลต่อการโดน AI แย่งงานก็ไม่ได้แตกต่างกัน "
คุณสามารถดาวน์โหลด Adecco Thailand Salary Guide 2024 เพื่อดูผลสำรวจฉบับเต็มได้แล้ววันนี้ คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด