เปิดโผ 3 สายอาชีพสุดรุ่ง ยาวไปถึงปี 2025!

พฤศจิกายน 09, 2561 ความรู้เชิงลึกด้านทรัพยากรบุคคล
เปิดโผ 3 สายอาชีพสุดรุ่ง ยาวไปถึงปี 2025!

การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต ตลอดจน สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และส่งผลให้สายอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 ร้อยละ 60 ของแรงงานจะทำงานในอาชีพที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน

อเด็คโก้ประเทศไทยได้นำข้อมูลวิจัยจาก Citi Research ที่พยากรณ์สายอาชีพแห่งอนาคต มาเปรียบเทียบกับแนวโน้มตลาดแรงงานในประเทศไทย และสรุปเป็น 3 สายอาชีพสุดรุ่งในปี 2025 ได้แก่

  1. สายเทคโนโลยีและดิจิทัล (IT & Digital)
  2. สายวิศวกรรมและหุ่นยนต์ (Engineering & Robotics)
  3. สายสุขภาพและสาธารณสุข (Healthcare / Personal Care)



 

สายเทคโนโลยีและดิจิทัล (IT & Digital)

เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าอะไรก็เป็นดิจิทัล ซื้อของก็ออนไลน์ ธนาคารก็ออนไลน์ แม้แต่สกุลเงินยังอยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Cryptocurrency) หลายธุรกิจและบริการมีการนำ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้กันมากขึ้น แน่นอนว่าสายอาชีพด้านเทคโนโลยี ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต บิ๊ก ดาต้า และ AI ย่อมเป็นที่ต้องการของแรงงานตลาดและมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น อาชีพโปรแกรมเมอร์  (Programmer) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) นักวางระบบความปลอดภัย (Cyber Security Expert) ผู้เชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูล (Database Specialist) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Systems Analyst) และอาชีพนักการตลาดดิจิทัลและ E-commerce (Digital & E-commerce Marketer) เป็นต้น

 

สายวิศวกรรมและหุ่นยนต์ (Engineering & Robotics)

วิวัฒนาการของเทคโนโลยียังส่งผลต่อความเจริญของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่มีแนวโน้มการใช้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตมากขึ้น เพื่อพิ่มผลิตผล ทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานและสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้อาชีพวิศวกร เติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสาขา วิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering) วิศวกรรมพลังงานและไฟฟ้า (Energy & Electrical Engineering) และ วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์ (AI & Robotics Engineering) ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนยุคใหม่ และสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่สนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรในโรงงาน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า-รถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

 

สายสุขภาพและสาธารณสุข (Healthcare / Personal Care)

สังคมโลกในปัจจุบันหลายประเทศได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้เผยว่า ในปี 2100 จะมีประชากรโลกกว่า 30% ที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่แม้ว่าตัวเลขอายุไขเฉลี่ย (Life expectancy) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยจากโรคที่จำเป็นต้องเข้าถึงบริการทางการแพทย์จำนวนมากเช่นกัน ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งอาชีพหมอและพยาบาล รวมถึงอาชีพใหม่ ๆ อย่าง นักชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics Technician) นักรังสีวิทยาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine Technician) ช่างซ่อมเครื่องมือแพทย์ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ และครูฝึกส่วนตัว (Personal Trainer) ก็จะเป็นอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

อ้างอิง

https://www.oxfordmartin.ox.ac.uk/publications/view/2092