คนรุ่นใหม่เตรียมบุกตลาดงาน!
ในปี 2023 นี้นอกจากเราจะต้องจับตาดูเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อการทำงานแล้ว เรายังต้องจับตาดู ‘Gen Z (เจนซี)’ กลุ่มคนที่เกิดและเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานหลาย ๆ อย่าง และกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของเหล่า HR และองค์กร
หากเราให้นิยามว่าคน Gen Z คือคนที่เกิดระหว่าง ค.ศ. 1996 – 2010 หรือคนที่มีอายุ 13-27 ปี นั่นหมายความว่าคน Gen Z เกือบครึ่งรุ่น (40%) จะอยู่ในตลาดแรงงานในปีนี้ และจะคิดเป็น 1 ใน 4 ของตลาดแรงงานไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า เรียกได้ว่าในช่วงปีที่จะถึงนี้จะเป็นยุคแห่งการตบเท้าเข้าสู่โลกแห่งการทำงานของ new generation อย่างแท้จริง
ความสำคัญในวันนี้จึงอยู่ที่ว่า ในเมื่อการปรับตัวเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หากต้องการให้องค์กรยังเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น HR และผู้นำองค์กรจึงควรมองว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ไม่ใช่ ‘ปัญหา’ แต่คือกลุ่มคนที่พา ‘โอกาส’ ใหม่ ๆ เข้ามาสู่องค์กร ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในองค์กรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดไอเดียสดใหม่ที่ส่งผลดีต่อธุรกิจ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างพนักงานต่างรุ่น ซึ่งช่วยพัฒนาพนักงานที่อยู่มาก่อนแล้ว รวมถึงการเป็นตัวกระตุ้นให้องค์กรได้ปรับตัวเป็น digital transformation อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในองค์กรมากขึ้น
การปรับองค์กรได้อย่างเหมาะสมสามารถเริ่มได้ง่าย ๆ จากการทำความเข้าใจตัวตน วิธีคิด และความต้องการของคนรุ่นนี้ หากองค์กรใดสามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้ ก็รับรองได้เลยว่าองค์กรนั้นจะได้รับความคุ้มค่าในระยะยาวอย่างแน่นอน
ลักษณะนิสัยของคน Gen Z
Gen Z มีลักษณะที่โดดเด่น 6 อย่าง ได้แก่
1.High creativity เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงและมีพลังในการลงมือทำ
2.Impactful เป็นคนที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้าง impact ให้องค์กรและสังคม
3.Tech savvy เป็นคนเก่งด้านเทคโนโลยีและปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพราะเกิดและเติบโตมาพร้อมกับโลกแห่งดิจิทัล
4.Mobility เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน เก่งในการทำงานกับคนหลากหลาย
5.Entrepreneurship เป็นคนที่มีวิธีคิดแบบเจ้าของธุรกิจคือชอบมองหาโอกาส กล้าเสี่ยง อยากประสบความสำเร็จเร็ว ๆ และใฝ่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
6.Self-development เป็นคนชอบเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่กล่าวมานี้เป็นการมอง Gen Z โดยภาพรวม สุดท้ายแล้ว Gen Z ก็ยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรุ่นที่แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูงที่สุด (อ้างอิงจาก The New York Times) ฉะนั้นแล้ว HR จึงควรทำความรู้จัก Gen Z ในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นระหว่างสัมภาษณ์งานหรือตอนที่รับพวกเขาเข้ามาทำงานแล้ว
องค์กรแบบไหนที่โดนใจ Gen Z
Gen Z แต่ละคนให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตไม่เท่ากัน ฉะนั้นเราจะพูดถึงความต้องการที่น่าจะเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ ซึ่งความต้องการของพวกเขาก็มีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างจากคนรุ่นอื่น
1.มีผลตอบแทนที่ดี
จากปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เรื่องค่าตอบแทนเป็นสิ่งที่คน Gen Z หลายคนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
ผลสำรวจในต่างประเทศของ Deloitte พบว่า Gen Z เกือบ 1 ใน 3 กังวลเรื่องค่าครองชีพที่สุดในบรรดาเรื่องทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผลสำรวจที่สหรัฐอเมริกาก็พบว่า กำลังซื้อของคนรุ่นนี้น้อยกว่า Baby boomer ในช่วงอายุเท่ากันถึง 86% เงินเดือนและสวัสดิการที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกงานของ Gen Z
2.มีความยืดหยุ่น
เป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กับผลตอบแทนที่ดี เพราะแม้ว่าผลตอบแทนจะดีมากแค่ไหน แต่หากองค์กรไม่มีความยืดหยุ่นเลย ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดคนในวัยนี้
โดยความยืดหยุ่นในทีนี้ต้องหมายถึงทั้งสถานที่และเวลา การทำงานแบบ remote working ในปีนี้ควรเป็นการทำงานที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่แค่ ‘บ้าน’ อาจจะเป็นร้านกาแฟ ริมทะเล หรือบนภูเขา ส่วนเรื่องเวลาการทำงาน ก็ควรมีตารางเข้าออกงานที่กำหนดเองได้ ไม่จำกัดแค่เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็น ขอแค่ยังสื่อสารกับทีมและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ถือว่าโอเคแล้ว
หากองค์กรของคุณอยากลองชูเรื่องนี้เป็นจุดขายแบบไม่ซ้ำใครในประเทศไทย อาจลองนำเทรนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ที่นิยมใช้กันในต่างประเทศมาลองปรับใช้ อาจจะทำให้องค์กรของคุณเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอันดับต้น ๆ เลยก็ได้!
3.มีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และความก้าวหน้า
คนรุ่นนี้มักจะถามตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากงานที่ทำ พวกเขามองว่างานที่ดีคืองานที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ซึ่งความไม่อยากหยุดพัฒนาตัวเองนี้อาจเกิดจากความกดดันที่ต้องแข่งขันกับคนรุ่นเดียวกัน และความต้องการเตรียมตัวให้พร้อมต่อตำแหน่งงานที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่งานหรือองค์กรไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ พวกเขาก็จะเริ่มพิจารณาหางานใหม่
ในด้านการพัฒนาทักษะ HR สามารถชูจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ช่วงสัมภาษณ์ สื่อสารให้เข้าใจนโยบายการฝึกอบรมขององค์กรเป็นอย่างไร พอรับเข้ามาทำงานแล้ว ก็ให้ทำแบบสอบถามความต้องการพัฒนาทักษะ และจัดฝึกอบรมตามความต้องการของพนักงานแต่ละคน
ในด้านความก้าวหน้าในงาน HR และหัวหน้างานควรพูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่รับ Gen Z เข้ามาทำงาน และหาโอกาสพูดคุยเรื่อง career path เป็นระยะ เพราะสามารถช่วยลดปัญหา quiet quitting ได้ และอย่าลืมว่าสำหรับคนรุ่นนี้ที่กำลังค้นหาตัวเอง บางครั้งโอกาสในการเติบโตอาจไม่ใช่แค่จากล่างขึ้นบน แต่ยังหมายถึงโอกาสขยับขยายไปทดลองทำงานในตำแหน่งงานอื่น ๆ อีกด้วย
4.มีวัฒนธรรมองค์กรที่ตรงกับความเชื่อ
Gen Z เป็นคนรุ่นแรกที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความต้องการให้องค์กรมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรที่ดี สามารถเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ผู้สมัครอยากเลือกคุณได้
โดยประเด็นที่คนรุ่นนี้สนใจเป็นพิเศษคือความเท่าเทียมและยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเรื่องเพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ หรืออื่น ๆ ดังนั้นในฐานะ HR และผู้นำองค์กร คุณสามารถสะท้อนความใส่ใจในประเด็นเหล่านี้ได้หลากหลายวิธี เช่น ในฝั่งการตลาด สามารถสื่อสารเรื่องนี้ผ่านภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการ ในฝั่งการสรรหาพนักงาน มีกระบวนการสรรหาที่ปราศจากอคติ ไม่ตัดโอกาสผู้สมัครที่เห็นต่างทางการเมือง ไม่ด่วนตัดสินความสามารถจากสถาบันการศึกษา ไม่ตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่กีดกันความพิการ และที่สำคัญคือสะท้อนออกมาผ่านนโยบาย เช่น มีนโยบายต่อต้านการเหยียดเพศ มีสวัสดิการที่ครอบคลุมคนทุกเพศ อนุญาตให้แต่งกายตามเพศวิถี ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของพนักงาน และปรับออฟฟิศให้เป็น inclusive design เป็นต้น
เทคนิคสำหรับการสรรหา Gen Z
1.ปรับ job description ให้เหมาะสมกับ entry-level
หนึ่งในปัญหาน่าปวดหัวของเหล่า first jobber ไม่ว่ารุ่นไหน ๆ คือพบว่า job description ของตำแหน่งที่น่าจะเหมาะกับเด็กจบใหม่กลับระบุคุณสมบัติบางอย่างที่ทำให้เด็กจบใหม่ไม่มีกล้าสมัคร เช่น ต้องการคนมีประสบการณ์ทำงาน 1-3 ปี
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ HR และหัวหน้างานควรกลับมานั่งทบทวน job description ของตำแหน่งงานในระดับ entry-level ทั้งหมดในองค์กร เพื่อตัดคุณสมบัติที่ไม่สอดคล้องกับเด็กจบใหม่หรือไม่ได้สำคัญออกไปก่อน ถ้าทำได้ นอกจากเด็กจบใหม่จะได้มีโอกาสสมัครงานเพิ่มขึ้นแล้ว องค์กรก็จะมีโอกาสได้เจอกับ candidate pool ที่กว้างขึ้น คุณอาจจะเจอทาเลนต์ซ่อนอยู่ในนั้นก็ได้ เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่ win-win กันทั้งสองฝ่าย
2.ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับ gig worker
เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า gig economy กันมาบ้างเพราะเป็นเทรนด์การทำงานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีนี้ โดย gig economy ก็คือระบบเศรษฐกิจที่รองรับการจ้างงานแบบชั่วคราว ซึ่งเราจะเรียกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้ว่า gig worker ซึ่งคุณส่วนใหญ่ในระบบนี้ก็คือคน Gen Z และ Gen Y นั่นเอง
ผลสำรวจโดย Adecco พบว่า การเพิ่มขึ้นของ gig worker ส่งผลต่อความกังวลของคนทำงานประจำ โดย 61% รู้สึกกังวัลว่า gig worker จะทำให้พวกเขาหางานยากขึ้น แต่หากมองในมุมขององค์กร นี่ก็คือโอกาสที่องค์กรจะได้มีทางเลือกในการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบางตำแหน่งงานที่ไม่ได้มีงานเยอะแบบต่อเนื่องแต่ก็ยังเป็นตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ การปรับตำแหน่งเหล่านั้นให้เป็นตำแหน่งสำหรับ gig worker จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะนอกจากจะสามารถลดลงค่าจ้างในช่วงที่ไม่มีงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวและคุณภาพงาน จากการเปลี่ยนไปจ้างทาเลนต์ที่หลากหลายในตลาดได้โดยไม่มีข้อผูกมัด
3.ปรับสวัสดิการให้สอดคล้องกับความต้องการของคน Gen Z
ถ้าการปรับปรุงเรื่องเรื่องค่าตอบแทน ความยืดหยุ่น ความก้าวหน้า และวัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ การปรับปรุงสวัสดิการก็คงเรียกได้ว่าเป็นส่วนเสริมที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจขึ้นไปอีก โดยให้องค์กรคำนึงถึงสวัสดิการที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของพนักงาน Gen Z ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนรู้ เช่น ทุนการศึกษาบางส่วน คอร์สเรียนออนไลน์ฟรี ด้านการเงิน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) ที่ปรึกษาด้านการออมและการลงทุน ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เช่น ประกันสุขภาพ สมาชิกฟิตเนส อาหารกลางวันฟรี สมาชิก movie streaming service เป็นต้น
4.สื่อสารกับ Gen Z ให้ถูกที่ ถูกทาง
Gen Z ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันไปกับโลกออนไลน์ บางคนใช้ social media ต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลที่อยากรู้แทน Google ดังนั้นเพื่อสื่อสารไปให้ถึง Gen Z ทำให้ Gen Z รู้จักองค์กรและอยากมาร่วมงาน องค์กรจึงต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในช่องทางการสื่อสารที่ถูกต้อง รวมทั้งใช้เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย น่าสนใจ และจริงใจ
โดยช่องทางที่ Gen Z นิยมใช้งานมากที่สุดจากผลสำรวจ ได้แก่ TikTok และ YouTube องค์กรอาจให้พนักงานทำคลิปรีวิวชีวิตการทำงานใน 1 วันของคนในแผนกต่าง ๆ เพื่อให้คนนอกมองเห็นภาพคร่าว ๆ ว่าบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรและวิธีการทำงานอย่างไร ถ้าภาพที่ออกมาตรงกับสิ่งที่พวกเขากำลังมองหา เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นความอยากร่วมงานกับองค์กรของคุณได้ไม่น้อย
อ้างอิง:
LinkedIn (1) (2) (3) / OEC News / กรุงเทพธุรกิจ / Deloitte / The Momentum / SD Pespectives / The Standard / Forbes / CGS
ดาวน์โหลด Salary Guide: