Work From Home กับปัญหาเรื่องความไว้วางใจ: วิจัยพบหัวหน้า 29% ไม่ไว้ใจลูกน้อง

กุมภาพันธ์ 17, 2564 คำแนะนำด้านอาชีพ
Work From Home กับปัญหาเรื่องความไว้วางใจ: วิจัยพบหัวหน้า 29% ไม่ไว้ใจลูกน้อง


เมื่อพูดถึง trust หรือ ความเชื่อใจ ความไว้วางใจกันในทีม ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ ลูกน้องต้องเชื่อใจหัวหน้าและหัวหน้าเองก็ต้องวางใจลูกน้อง การทำงานเป็นทีมจึงจะราบรื่นและได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะหากระแวง คลางแคลงใจ หรือสงสัยกันแล้ว แน่นอนว่าย่อมสร้างปัญหาและรอยร้าวในการทำงานร่วมกัน ยิ่งในสภาวะที่หลายองค์กรต่างปรับการทำงานมาเป็นรูปแบบ work from home ด้วยแล้ว ทีมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันต่ำก็อาจเห็นปัญหาชัดขึ้น เพราะการไม่เจอหน้ากัน สื่อสารกันน้อย ก็อาจทำให้หวาดระแวงสงสัยไปต่างๆ นานา หัวหน้ากลัวลูกน้องอู้ ลูกน้องกลัวหัวหน้าว่า ทำงานด้วยความกังวลและกดดัน จนทำให้ work from home กลายเป็นฝันร้ายของใครหลายๆ คน  

 

หัวหน้า 29% ไม่ไว้วางใจให้ลูกน้อง Work From Home 

บทความจาก Harvard Business Review กล่าวว่าสาเหตุที่หลายองค์กรมีปัญหาในการทำงานแบบ work from home มาจากปัญหาเรื่องความไว้วางใจระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง โดยพบว่ามีหัวหน้าจำนวนไม่น้อยที่กังวลว่าลูกน้องจะทำงานไม่เต็มที่จากผลสำรวจพบว่า แม้ว่า 41% ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานในระดับผู้จัดการจะเชื่อว่าการทำงานแบบ work from home มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศ แต่อีก 38% ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อการทำงานแบบ work from home ยิ่งไปกว่านั้น 29% ได้ระบุว่าพวกเขาไม่ไว้วางใจในการทำงานแบบ work from home ของลูกน้องเลย ซึ่งการขาดความไว้วางใจนี้ยังเป็นที่มาของปัญหาในการทำงานอื่นๆ ตามมาอีกด้วย 

 

หัวหน้า 40% ไม่มั่นใจในการบริหารงานแบบ Remote Working 

อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจจากผลสำรวจนี้คือ 40% ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานในระดับ supervisor ยอมรับว่าพวกเขายังไม่มั่นใจทักษะในการบริหารทีมงานแบบ remote working เนื่องจากหัวหน้าหลายๆ คนก็ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อน แต่เป็นโควิดที่บังคับให้ทุกคนต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมหรือฝึกอบรมการบริหารทีมแบบ remote working ที่เป็นกิจลักษณะ หลายคนจึงรู้สึกว่าการทำงาน work from home ค่อนข้างติดขัด และต้องทำงานแบบลองผิดลองถูกไปก่อน 

 

 

 

ผลเสียของการบริหารแบบ Micro Management 

เมื่อต้องทำงานในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย บวกกับความไม่ไว้วางใจลูกน้องเป็นทุนเดิม ในช่วง work from home นี้เราจึงเห็นหัวหน้าบางคนเลือกใช้การบริหารงานแบบ micro management ที่หัวหน้าเข้ามาคอยควบคุมและตรวจสอบการทำงานของลูกน้องในรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการติดตามงานที่ถี่ขึ้นกว่าปกติ ให้ลูกน้องคอยทำรายงานเกินความจำเป็น การพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในทุกงาน คอยคุมรายละเอียดงานทุกขั้นตอนเพราะกลัวลูกน้องทำงานผิดพลาด ซึ่งแม้จะทำด้วยเจตนาที่หวังให้งานออกมาดีแต่วิธีนี้อาจส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะลูกน้องจะรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังถูกจับผิด ไม่มีอิสระในการทำงาน ต้องแก้งานจุกจิก ขาดสมาธิ เพราะต้องคอยตอบคำถามหัวหน้าตลอดเวลาทั้งทางแชทและโทรศัพท์ ส่งผลให้งานเสร็จล่าช้าและต้องทำงานล่วงเวลาบ่อยครั้งซึ่งส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรงนอกจากนี้การที่พนักงานต้องทำงานอยู่ในโหมด always on ตลอดเวลา ยังส่งผลให้พนักงานเครียดและหมดไฟในการทำงานได้เร็วขึ้นอีกด้วย โดยจากการสำรวจพบว่า 49% ของพนักงานที่ work from home มีความวิตกกังวลขณะทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่มีลูกแล้วจะมีความเครียดมากที่สุดเนื่องจากได้รับแรงกดดันทั้งจากที่ทำงานและครอบครัว สอดคล้องกับงานวิจัย Type and the always-on culture ที่พบว่าพนักงาน 73 % ที่ทำงานภายใต้วัฒนธรรมแบบ always-on culture ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิต โดย 28% รู้สึกว่าตัวเองต้องคอยพะวงเรื่องงานตลอดเวลา 26% พบว่างานส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและชีวิตส่วนตัว และอีก 20% พบว่าตัวเองเครียด สุขภาพจิตแย่ลง อารมณ์เสียง่าย ความคิดสร้างสรรค์ลดลง 

 

 

 

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขและทางแก้ก็ไม่ได้มีเพียงการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเท่านั้น องค์กรและผู้บริหารควรให้ความใส่ใจในการปรับจูนหาวิธีการทำงานที่เหมาะสมในการสร้างความไว้วางใจในทีมให้เกิดขึ้น ซึ่งในบทความถัดไปเราจะมาพูดถึงแนวทางสำหรับหัวหน้าในการบริหารงานเมื่อต้องทำงานแบบ Work From Home อย่างไรให้ได้งานและได้ใจลูกน้อง 5 Tips บริหารทีมแบบ Remote Working สำหรับหัวหน้างาน กันค่ะ 

 

อ้างอิง 

Harvard Business Review: Remote Managers Are Having Trust Issues 

Adecco Thailand: Always-on culture ภัยเงียบของคนทำงาน