ผลสำรวจความพร้อมของผู้บริหารและองค์กรทั่วโลกต่อเทรนด์ AI

พฤษภาคม 17, 2567 ความรู้เชิงลึกด้านทรัพยากรบุคคล
ผลสำรวจความพร้อมของผู้บริหารและองค์กรทั่วโลกต่อเทรนด์ AI

การเกิดขึ้นของ AI ทำให้โลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันกลับ เราคงคิดไม่ถึงว่าในวันหนึ่งงานเดิม ๆ ที่เราเคยทำซ้ำ ๆ ทุกวันโดยใช้เวลาหลายชั่วโมง จะกลับกลายเป็นงานง่าย ๆ ที่ทำเสร็จได้ภายในไม่กี่นาที เรียกได้ว่า AI ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สร้างประโยชน์ให้กับคนทำงานอย่างขาดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดของ The Adecco Group ในช่วง Q4 ของปี 2023 ในชื่อ 'Leading Through the Great Disruption’ ได้พบว่า ยังมีผู้บริหารจำนวนมากที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และยังไม่พร้อมจะให้ AI เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานขององค์กร ซึ่งอาจทำให้องค์กรเสียโอกาสต่าง ๆ อย่างน่าเสียดาย

ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกผลสำรวจความคิดเห็นของผุ้บริหารระดับสูง (C-Suite) 2,000 คน จาก 9 ประเทศทั่วโลก ต่อเทรนด์ AI พร้อมข้อแนะนำสำหรับผู้บริหารและ HR Leader ในการเตรียมองค์กรของคุณให้พร้อมสำหรับอนาคต

AI - โอกาสที่ซ่อนในความท้าทาย แต่ไม่ใช่ผู้บริหารทุกคนจะมองเห็น


มีผู้บริหาร 61% ที่เชื่อว่า AI คือสิ่งที่จะมาพลิกสถานการณ์ในอุตสาหกรรมของตัวเอง แต่มีธุรกิจเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่ได้ผ่านกระบวนการทำ digital transformation เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ 67% ของผู้บริหารยังเชื่อว่า การเกิดขึ้นของ AI และ Generative AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตัวเองอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งความเชื่อนี้อาจทำให้เกิดการขาดความกระตือรือร้นในการนำ AI มาใช้ในองค์กร เพราะในความเป็นจริงแล้ว AI เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บริหารเพียง 33% เท่านั้นที่รับรู้เช่นนี้

ผลสำรวจยังพบว่า เมื่อแยกดูความเชื่อมั่นของผู้บริหารในแต่ละสายงานต่อประโยคที่ว่า “AI คือตัวพลิกสถานการณ์ขององค์กรพบว่า CFO (Chief Financial Officer) และ CEO (Chief Executive Officer) เป็นสองตำแหน่งที่เห็นด้วยกับประโยคนี้น้อยที่สุด ในขณะที่ COO (Chief Operating Officer) เห็นด้วยกับประโยคนี้มากที่สุด

ความเชื่อมั่นของผู้บริหารในแต่ละสายงานต่อ AI


ผู้บริหารยังไม่พร้อมทำงานร่วมกับ
AI


ความพร้อมของผู้บริหารเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อผลสำรวจพบว่ามีผู้บริหารไม่ถึงครึ่ง
(43%) ที่มั่นใจว่าตัวเองและทีมผู้บริหารมีทักษะและความรู้ด้าน AI อย่างเพียงพอ กล่าวคือ มีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและโอกาสที่มาพร้อมกับ AI ไม่มากเท่าใดนัก

สอดคล้องกับผลที่ตามมา ที่พบว่าผู้บริหารที่ยังไม่เข้าใจเทรนด์ AI มีแนวโน้มที่จะไม่จัดทำคู่มือการใช้งาน AI อย่างเหมาะสมให้กับพนักงาน และไม่จัดหา training ให้กับพนักงานอย่างที่ควรจะเป็น

เพื่อแก้ปัญหานี้ HR Leader ควรเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอ leadership development program ที่โฟกัสทักษะการจัดการความเปลี่ยนแปลง ทักษะด้าน AI และคอยช่วยอัปเดตข่าวการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงานอยู่เสมอ

Framework ที่น่าเชื่อถือคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ


การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย (digital trust) เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การนำ AI มาใช้ในองค์กรประสบความสำเร็จ วิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นคือการมีนโยบายที่น่าเชื่อถือจากผู้บริหาร ผสมกับ framework ที่เน้นสร้างความคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือ AI ให้กับพนักงาน ภายใต้การใช้งานอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบ

ผลสำรวจพบความเชื่อมโยงว่า องค์กรที่มี AI framework ชัดเจน มักมีแนวโน้มที่ผู้บริหารในองค์กรนั้น ๆ จะมีทักษะและความรู้ด้าน AI สูงกว่า พนักงานได้รับ training ที่ดีกว่า และพนักงานมีทัศนคติเชิงบวกต่อ AI มากกว่า เช่น รู้สึกว่า AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง

เปรียบเทียบองค์กรที่มีและไม่มี AI framework


การ
ซื้อ ทาเลนต์จากภายนอกอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน


การเข้ามาของ AI ทำให้การแย่งชิงตัวทาเลนต์ในตลาดแรงงานมีความดุเดือดมากขึ้น คนที่มีทักษะด้าน AI และดิจิทัลกลายเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ โดยเห็นได้จากแทบทุกประกาศรับสมัครงานที่มักต้องการคนที่มีทักษะเกี่ยวกับดิจิทัลอย่างน้อยหนึ่งทักษะ

จากความต้องการนี้ ทำให้ผู้บริหาร 66% วางแผนว่า จะใช้การสรรหาทาเลนต์จากภายนอกที่มีทักษะ AI อย่างดีอยู่แล้วมาเติมเต็มตำแหน่งว่าง มากกว่าการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานที่มีอยู่เดิม และมีผู้บริหาร 72% เชื่อว่า องค์กรจะต้องเพิ่มงบในการดึงดูดทาเลนต์ในตำแหน่งด้าน AI มากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่เน้น ซื้อ มากกว่า สร้าง เช่นนี้ อาจทำให้เกิดปัญหา ความเหลื่อมล้ำของทักษะ และยังส่งผลต่อ ความเหลื่อมล้ำของเงินเดือน ที่สูงมากขึ้น กล่าวคือ องค์กรอาจเลือกใช้วิธีเพิ่มงบประมาณในการดึงดูดคนกลุ่มหนึ่ง และลดงบสำหรับดึงดูดคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะดันเพดานเงินเดือนของคนที่มีทักษะด้าน AI ให้สูงขึ้นไปอีก

แม้ AI จะมีประโยชน์ แต่ ทักษะมนุษย์ ยังสำคัญกว่า


ผู้บริหาร 57% เชื่อว่าทักษะมนุษย์ยังคงมีคุณค่ามากกว่าเครื่องมือ AI โดยมองว่าการเข้ามาของ AI ไม่ได้ทำให้ทักษะของมนุษย์เสื่อมความสำคัญลงเลย โดยเฉพาะ ความคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดเชิงนวัตกรรม สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารที่เห็นด้วยกับความคิดนี้อย่างมาก คือผู้บริหารในสายเทคโนโลยี

ด้วยเหตุผลนี้ ตัวผู้บริหารเองจึงมีความต้องการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence: EQ)  

ส่วนประโยชน์ของ AI ในมุมมองของเหล่าผู้บริหาร คือการเป็นตัวช่วยปลดล็อกความสามารถของมนุษย์ ด้วยการลดเวลาทำงานซ้ำ ๆ ทำให้มีเวลาโฟกัสกับงานที่มีความยากมากขึ้น และช่วยฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ประเภทอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับทักษะมนุษย์


โดยสรุปแล้ว การนำ AI มาปรับใช้ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มต้นจาก mindset ของผู้บริหารที่มองว่า AI เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเพิ่มอำนาจในการแข่งขันให้กับองค์กร และไม่ได้เป็นการลดคุณค่าของพนักงานแต่อย่างใด แล้วสร้างเป็น framework ที่สนับสนุนให้เกิดการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้ง upskill ให้ตัวผู้บริหารเองและพนักงานทุกคน เพื่อให้องค์กรเกิดความทันสมัย ยั่งยืน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอนาคต


---

ดาวน์โหลด White paper: Leading Through the Great Distruption เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้แล้ววันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

download White Paper Leading Through the Great Distruption