ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปรับกฎการแต่งกายมาทำงานให้โอบรับความแตกต่างและหลากหลาย? มารู้จักแนวคิดการแต่งกายแบบ Gender Neutrality ที่องค์กรสามารถพิจารณาปรับใช้เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศในองค์กรได้
Gender Neutrality คือแนวคิดที่ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างเพศ โดยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย ภาษา หรือ บทบาททางสังคมอื่นๆ จะมีความเป็นกลางทางเพศโดยไม่มีการแบ่งแยกตามเพศสรีระ (sex) หรือเพศสภาพ (gender) แนวคิดนี้ก็มีการนำมาปรับใช้กับกฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายเช่นเดียวกัน คือ gender neutral dress code และ gender neutral uniform เพื่อเคารพสิทธิการแต่งกายของแต่ละบุคคลและลดการแบ่งแยกระหว่างเพศ
- gender neutral dress code: การไม่กำหนดกฏระเบียบข้อแต่งกายตามเพศ แต่เป็นการออกกฎระเบียบข้อแต่งกายสำหรับพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม เช่น การออกกฎให้ใส่สูทเมื่อพบลูกค้า การห้ามใส่ขาสั้นหรือรองเท้าแตะมาทำงาน การห้ามพนักงานบนเครื่องบินใส่แว่นด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย เป็นต้น จะสังเกตว่ากฎเหล่านี้จะมีขึ้นเพื่อกำหนดระดับความสุภาพและเป็นทางการของการแต่งกายและเหตุผลด้านความปลอดภัยเท่านั้นโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ
- gender neutral uniform: การมีเครื่องแบบที่เป็นกลางสามารถใส่ได้ทุกเพศ โดยองค์กรอาจออกแบบเครื่องแบบเดียวที่สามารถใส่ได้ทุกเพศ หรือใช้วิธียกเลิกการระบุเพศให้เครื่องแบบแทน โดยอาจให้เครื่องแบบมีทั้งกระโปรงและกางเกงเหมือนเดิมแต่อนุญาตให้ผู้ชายสามารถเลือกใส่กระโปรงและผู้หญิงสามารถเลือกสวมกางเกงได้ตามรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละคน
รู้หรือไม่ พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2558 ได้คุ้มครองสิทธิ์พนักงานในการแต่งกายตามเพศสภาพได้ หากไม่ขัดกับความปลอดภัย หลักศาสนา หรือความมั่นคงของประเทศ มาตรา ๑๗ การกําหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติ ของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทํามิได้ การดําเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพ ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ |
การปรับระเบียบข้อแต่งกายให้โอบรับความหลากหลายและสนับสนุนให้พนักงานทุกเพศได้มีสิทธิ์ในการแต่งกายอย่างเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่องค์กรควรสนับสนุนเพื่อให้สอดคล้องกับพรบ.ความเท่าเทียมทางเพศและความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในสังคม
ปัจจุบันองค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศก็เริ่มมาให้ความสำคัญในการปรับกฎการแต่งกายให้สอดคล้องกับนโยบาย diversity ของแต่ละองค์กรและกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น เพราะการเปิดโอกาสให้พนักงานได้แต่งกายตามอัตลักษณ์ของตนไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการปฏิบัติงานแต่อย่างใด ในทางกลับกันยังมีผลดีในการทำให้พนักงานมั่นใจในบุคลิกภาพและไม่รู้สึกอึดอัดในการแต่งกายตามกฏระเบียบ และไม่ถูกเหมารวมว่าต้องมีบทบาททางเพศตามเครื่องแต่งกาย ซึ่งจะช่วยสร้างความสบายใจในการทำงาน รวมถึงเสริมสร้าง employee engagement และ employer branding ให้กับองค์กรได้อีกด้วย