ผลสำรวจล่าสุดของ Adecco ล่าสุดในรายงาน Resetting Normal ที่สำรวจพนักงานออฟฟิศในประเทศ 25 ประเทศ พบว่าในภาพรวมคนทำงานอยากผสมผสานกับการทำงานที่ออฟฟิศควบคู่กับการทำงานแบบ work from home เนื่องจากการทำงานแบบ work from home ทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพและทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต มีอิสระในการทำงานสามารถบริหารจัดการเวลาได้เอง โดยที่ไม่ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นอกจากนี้ 63% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจยังระบุว่าตนเองมีทักษะดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามผลสำรวจพบว่าการต้องอยู่กับโควิดมา 18 เดือนและปรับมาทำงาน work from home อย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลานานส่งผลให้พนักงานในหลายประเทศต้องทำงานล่วงเวลาบ่อยขึ้นและมีพนักงานจำนวนมากราว 1 ใน 4 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจต้องเจอกับภาวะความเครียดและหมดไฟ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก work from home มากที่สุดคือกลุ่มพนักงานที่มีลูกแล้วที่ต้องเหนื่อยเป็นสองเท่าจากการทำงานและการดูแลลูกโดยไม่มีเส้นแบ่งเวลาที่ชัดเจน
ส่องสถานการณ์รอบโลก แต่ละประเทศคิดอย่างไรกับการ work from home ในช่วงโควิด
#สหราชอาณาจักร
- สหราชอาณาจักรเป็นชาติที่คนอยาก work from home มากกว่ากลับไปทำงานที่ออฟฟิศ โดยมีจำนวนมากเป็นอันดับสองรองจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสามารถในการปรับรูปแบบมาทำงานแบบ work from home โดยชาวบริติช 71% มีสถานที่และอุปกรณ์พร้อมรองรับ
- 52% ของชาวบริติชกังวลใจที่จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศมากกว่าคนที่ตื่นเต้นอยากกลับไปเจอเพื่อนร่วมงานซึ่งมีอยู่ 48%
- ชาวบริติชมองว่าการที่ work from home แล้วต้องทำงานล่วงเวลาบ้างเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เพราะทำให้งานสำเร็จ และมีตัวเลขยืนยันว่าประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศที่สำรวจ
- ชาวบริติช 37% ยอมรับว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตและเข้าสู่ภาวะหมดไฟ
- 51% ของกลุ่มที่มีตำแหน่งระดับผู้จัดการขึ้นไปไม่แฮปปี้กับการทำงานแบบ work from home อีกทั้งกว่า 60% ยังพบความยากลำบากในการรับมือกับภาวะหมดไฟและปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร
#ญี่ปุ่น
- จากผลสำรวจญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนอยาก work from home สูงที่สุด คิดเป็น 64% มีชาวญี่ปุ่นเพียง 40% ที่อยากกลับไปเจอเพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในทุกประเทศที่สำรวจ
- ญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่องการปรับตัวมาทำงานแบบ work from home โดยมีเพียง 54% มีสถานที่และอุปกรณ์เอื้ออำนวยสำหรับการ work from home ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดในประเทศที่มีการสำรวจ
- แม้จะ work from home ญี่ปุ่นยังก็ยังเป็นชาติที่ทำงานหนักที่สุด โดย 86% ของชาวญี่ปุ่นต้องทำงานเกินกว่าสัปดาห์ละ 40 ชม. ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดที่มีการสำรวจ แต่ถึงงานจะหนักก็มีเพียง 20% ที่รู้สึกไม่ไหวและหมดไฟ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในการสำรวจ
- ผู้บริหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจกับการ work from home โดยมีเพียง 27% ที่พอใจซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดจากการสำรวจ พวกเขาพบความยากลำบากในการบริหารวัฒนธรรมองค์กร และการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขณะที่ฝั่งพนักงานจำนวนมากราว 39% ระบุว่าพวกไม่ได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าและผู้บริหารในการทำงานแบบ work from home
- ถึงแม้ว่างานจะหนักและมีปัญหากับการปรับตัวมาทำงานในรูปแบบ work from home แต่ชาวญี่ปุ่น 72% ก็ยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนงานใหม่
#สหรัฐอเมริกา
- สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปรับตัวสู่การทำงานแบบ work from home ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 84% ของผู้ที่ทำแบบสำรวจมีสถานที่และอุปกรณ์พร้อมสำหรับการ work from home และ 58% มีความสุขมากขึ้นกับการทำงานในรูปแบบนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- ชาวอเมริกัน 58% อยากกลับมาเจอเพื่อนร่วมงาน แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากถึง 49% ที่ยังมีความกังวลในการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ
- 71% ของผู้บริหารมีความพึงพอใจกับการทำงาน ผู้จัดการกว่า 64% เชื่อว่าพวกเขาสามารถส้รางวัฒนธรรมในการทำงานที่ดีและทำให้ชีวิตการทำงานมี work-life balance
- ประสิทธิภาพในการทำงานก็สูงขึ้น แม้ว่า 2 ใน 3 จะต้องทำงานล่วงเวลา แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ขัดข้องเพราะคิดว่ามีความจำเป็นที่จะทำให้งานสำเร็จ
- สำหรับภาวะหมดไฟและปัญหาสุขภาพจิต ชาวอเมริกันก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ โดย 37% ยอมรับว่ากำลังประสบปัญหานี้
พนักงานต้องการทำงานจากที่บ้านมากกว่า 50% ของเวลางานทั้งหมด
การที่สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นในหลายประเทศจากการปูพรมฉีดวัคซีนและมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ได้ผล เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในโซนยุโรปตะวันตก ทำให้พนักงานระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่มีความกังวลใจว่าจะถูกเรียกตัวกลับไปทำงานที่ออฟฟิศตามเดิมและเสียประโยชน์ที่พวกเขาเคยได้จากการทำงานที่ออฟฟิศไป
ข้อมูลจากผลสำรวจ Resetting Normal พบว่าพนักงานมากถึง 76% ต้องการให้องค์กรสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่นต่อไป พวกเขาต้องการผสมผสานการทำงานที่ออฟฟิศและที่บ้านโดยแบ่งเวลาการทำงานที่ออฟฟิศ 47% ทำงานที่บ้าน 53% อย่างไรก็ตามพวกเขาคาดว่าองค์กรคงไม่อนุญาตและคาดหวังให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 61% ของเวลางาน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในผลสำรวจที่พบว่ากลุ่มผู้บริหารเป็นกลุ่มที่อยากเจอหน้าพนักงานและเพื่อนร่วมงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น
ชั่วโมงทำงาน VS ภาวะหมดไฟ
ผลสำรวจ Resetting Normal พบว่าผู้คนทำงานหนักขึ้นในช่วงโควิดโดยมี 63% ที่ต้องทำงานเกิน 40 ชม. ต่อสัปดาห์ เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งการทำงานหนักเกินไปหรืออยู่ในองค์กรที่วัฒนธรรมการทำงานแบบ always-on culture ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout) โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำที่มีอายุน้อยที่ต้องแบกรับหน้าที่ขับเคลื่อนให้องค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคตโดยกว่าครึ่งเริ่มรู้สึกล้าและหมดแรงใจที่จะทำงาน
ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้พนักงานราว 4 ใน 10 เข้าสู่ภาวะหมดไฟ โดยพนักงานส่วนใหญ่ราว 74% คาดหวังให้องค์กรหันมาดูแลสุขภาพจิตพนักงานให้มากขึ้น ขณะที่ผู้บริหารและผู้จัดการจำนวนไม่น้อยก็ยังติดปัญหาในการหาวิธีแก้ปัญหางานล้นมือและปัญหาหมดไฟให้กับลูกน้อง โดยมีพนักงานระดับปฏิบัติการเพียง 43% ที่พึงพอใจการทำงานของหัวหน้า และมีเพียง 36% ที่เห็นว่าหัวหน้าของตนวัดผลการทำงานแบบ result based จริงๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานลดลงถึง 12% ในช่วงเวลาแค่ปีเดียวซึ่งเป็นภัยเงียบที่องค์กรต้องเฝ้าระวังเพราะอาจนำไปสู่การลาออกจำนวนมากของพนักงาน
ยิ่งอยู่ห่างกันยิ่งต้องดูแลใจกัน
การขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญจากหัวหน้า และก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาทั้งความเครียด การขาดแรงจูงใจในการทำงาน หรือความเข้าใจผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่สื่อสารกัน ดังนั้นในการบริหารงานแบบ remote working หัวหน้ายังคงต้องคอยกระชับความสัมพันธ์ ให้ความไว้วางใจ และดูแลจิตใจลูกน้องให้ทั่วถึงเหมือนตอนมาทำงานที่ออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นการไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ คอยสอบถามเรื่องงานว่าติดขัดตรงไหน การชื่นชมและให้กำลังใจ การให้ฟีดแบคในการทำงาน การชวนคุยเรื่องทั่วไป หรือการไม่ทำให้ลูกน้องเครียดและกดดันมากเกินไป ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่หัวหน้าไม่ควรมองข้ามเพราะล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของลูกน้องโดยตรง
ในส่วนขององค์กรเองก็ต้องเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยเหลือพนักงานที่เป็นหัวหน้าในการปรับตัวสู่การทำงานรูปแบบใหม่ด้วยการพัฒนาภาวะผู้นำและเสริมทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะการ coaching และให้คำปรึกษา ทักษะการบริหารงานแบบสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างวัฒนธรรมในการทำงาน เป็นต้น เพื่อช่วยให้การทำงานจากคนละสถานที่มีประสิทธิภาพและมีความสุขมากยิ่งขึ้น
รูปแบบการทำงานในอนาคตที่จะเกิดขึ้น
การทำงานในอนาคตจะมีลักษณะ Hybrid Working ที่ผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศกับการทำงานที่บ้าน โรคระบาดที่ยาวนานทำให้คนเคยชินกับการทำงานแบบ work from home และทำให้พวกเขาไม่อยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็มีคนบางกลุ่มที่ยังอยากกลับมาทำงานในออฟฟิศอยู่ องค์กรแต่ละองค์กรจะต้องหาจุดสมดุลขององค์กรว่าสัดส่วนการทำงานที่ออฟฟิศและบ้านที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีเทรนด์การทำงานในอนาคตรูปแบบการทำงานที่ออฟฟิศที่เข้างาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็น 5 วันต่อสัปดาห์จะน้อยลงเรื่อยๆ จนทำให้องค์กรที่ยังยึดติดการทำงานในรูปแบบเดิมไม่สามารถดึงดูดผู้สมัครเข้ามาร่วมงานได้
การ work from home และความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดตลอด 18 เดือนที่ผ่านมาทำให้ความคิดของคนทำงานเปลี่ยนไปและมีการคาดการณ์ว่าจะนำไปสู่ mass resignation หรือการลาออกของพนักงานจำนวนมากในอนาคตเพื่อหางานใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่า พวกเขาจะต้องการทำงานในบริษัทที่อนุญาตให้พวกเขาไม่ต้องไปทำงานที่ออฟฟิศเพราะการทำงานในช่วงโควิดที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน พวกเขาจะย้ายออกจากองค์กรที่ทำให้รู้สึกหมดไฟซึ่งมีสาเหตุมาจากภาระงานที่ล้นมือ ปัญหาในการทำงานกับหัวหน้า และการขาดการสนับสนุนจากองค์กรให้พัฒนาทักษะและก้าวหน้าในอาชีพ คนทำงานจะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะมากขึ้นเพื่อให้เขายังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่อไป
ในอดีตเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม nice to have คือ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ แต่ในปัจจุบันและอนาคตต่อจากนี้จะกลายเป็นไฟท์บังคับสำหรับองค์กร องค์กรจึงควรให้สิทธิ์พนักงาน work from home แม้สถานการณ์โควิดจะดีขึ้นและเร่งปรับปรุงการทำงานในรูปแบบ hybrid working ให้มีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับ people management มากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร โดยเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาในผลสำรวจทั้งการบริหารงานของหัวหน้างาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การวัดผล การมอบอิสระในการทำงาน การดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน และการสนับสนุนพนักงานในด้านต่างๆ เพื่อรีเซ็ตรูปแบบการทำงานใหม่ให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
ดาวน์โหลด ผลสำรวจ Resetting Normal และข้อแนะนำสำหรับองค์กร
เกี่ยวกับ Adecco
Adecco เป็น Recruitment Agency ที่ให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลและบริการด้าน recruitment แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งบริการสรรหาพนักงานประจำและบริการสรรหาพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว รวมถึงบริการ executive search สรรหาผู้บริหารให้องค์กร
- ลูกค้าองค์กรที่สนใจสามารถติดต่อรับคำปรึกษาจาก recruitment consultant ของเรา ที่ webmaster@adecco.co.th หรือติดต่อ Adecco สาขาใกล้คุณ โดยทางเราเราจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุด